
ปัญหา “เด็กรหัส G”: ความไร้สัญชาติ การตกหล่นจากระบบการศึกษา และสายตาสั้นของผู้ใหญ่ในสภา


หลายคนที่ติดตามประเด็นเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ ปัญหาผู้ไร้สัญชาติ รวมถึงประเด็นด้านการศึกษา คงจะได้เห็นข่าวแล้ว ในกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (18 ตุลาคม 2566) ได้มีมติโหวตคว่ำญัตติที่ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย หรือ “เด็กรหัส G” ไปด้วยคะแนน 245 ต่อ 164 เสียง
.
เป็นที่น่าเสียดาย อย่างที่ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้อภิปรายปิดญัตติ ได้อภิปรายตอนหนึ่งว่า ทุกคนน่าจะเคยอ่านหนังสือ “เจ้าชายน้อย” มาก่อน ซึ่งในหนังสือเล่มนี้มีประโยคสำคัญที่สุด คือประโยคที่บอกว่า เวลาเราจะคิดหรือทำอะไรในเรื่องของเด็ก ท่านจะต้องใช้หัวใจในการมอง มากกว่าสายตาที่อาจจะสั้นหรือยาวไม่เท่ากัน
.
เมื่อพูดถึงประเด็นเด็กไร้สัญชาติที่ขาดโอกาสทางการศึกษา หลายคนอาจจะมองว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ปัญหา และหลายคนอาจจะตั้งคำถามด้วยซ้ำว่าจะไปให้การศึกษากับเด็กกลุ่มนี้ทำไม ในเมื่อไม่ใช่ “คนไทย”
.
หากจะตอบคำถาม เราคงต้องย้อนไปยังคำอภิปรายของณัฐวุฒิ ที่ว่าท่านจะใช้ “หัวใจ” หรือ “สายตา” ในการมองปัญหานี้
.
หรือหากจะมองด้วยสายตาจริง ๆ เราก็ยังสามารถมองด้วยสายตาที่เห็นการณ์ไกล อย่างที่ เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ได้นำเสนอไว้ด้วย
.
.
[ ควรโอบรับ แทนที่จะกีดกัน ]
.
เลาฟั้งฉายภาพให้เห็นว่าปัจจุบัน ในสถานการณ์ที่ประเทศเพื่อนบ้านยังมีสงครามและปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้คนส่วนหนึ่งจำเป็นต้องเข้ามาแสวงหาโอกาสในสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศไทยเอง ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราต้องการแรงงานข้ามชาติจำนวนมากมาเติมเต็มในระบบเศรษฐกิจ
.
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สังคมไทยควรเปิดใจโอบรับคนกลุ่มนี้ และมองพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย
.
ซึ่งหนึ่งในหนทางที่จะทำสิ่งนั้นได้ คือการให้การศึกษาแก่ลูกหลานของพวกเขาที่เกิดบนแผ่นดินไทย รู้จักแต่เพียงชุมชนและสภาพแวดล้อมในหมู่บ้านของพวกเขาในประเทศไทย และส่วนมากน่าจะยังต้องทำงานและเติบโตขึ้นมาบนแผ่นดินไทยต่อไปในอนาคต
.
จะดีกว่าหรือไม่ แทนที่จะกีดกันพวกเขาออกจากระบบการศึกษาด้วยความไร้สัญชาติ ที่สุดท้ายอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมในทางใดทางหนึ่ง ทำไมจึงไม่ทำให้ลูกหลานของพวกเขาได้ซึมซับ ไม่ว่าจะเป็นภาษา วัฒนธรรม และปรับตัวอยู่ร่วมในสังคมของประเทศไทยได้อย่างมีศักดิ์ศรี
.
ในอนาคต พวกเขาที่มีประเทศไทยเป็นบ้านเกิดเมืองนอน จะเป็นคนทำงานที่มีฝีมือมากขึ้น เป็นผู้บริโภค และเป็นผู้เสียภาษีที่ย้อนกลับมาเป็นประโยชน์แก่ประเทศ เหมือนอย่างที่พวกเราหลายคนที่มีบรรพบุรุษมาจากที่อื่นไกล ลงหลักปักฐานที่นี่ มีลูกหลานที่เติบโตกลายเป็นพลเมืองของประเทศไทย
.
.
[ ควรมองให้ยาวไกล แทนที่จะมองสั้นและมองแคบ ]
.
ทว่าดูเหมือนสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ มองปัญหานี้ด้วย “สายตา” ที่ “สั้น” เกินไป
.
โดยการลงมติไม่เห็นชอบ และส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ กมธ.การศึกษา พิจารณาในกรอบ 90 วันแทน แม้ สส.หลายคนจากทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านจะอภิปรายด้วยหัวใจและความเห็นใจต่อเด็กไร้สัญชาติ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ใช้การลงมติด้วยสายตาอยู่ดี
.
ที่ว่าสายตาสั้นนั้น ไม่ได้หมายถึงสั้นด้วยมุมมองที่มีอคติทางชาติพันธุ์ แต่สั้นด้วยเหตุว่าผู้แทนจำนวนมากในวันนี้ กำลังแสดงออกว่ามองปัญหาเด็กรหัส G ด้วยมุมมองที่แคบเกินไป ให้เหลือแต่เพียงประเด็นการศึกษา (หรืออาจจะมีวาระซ่อนเร้นใดก็ไม่อาจทราบได้)
.
ย้อนกลับไปที่การอภิปรายปิดญัตติวันนี้โดยณัฐวุฒิ เขาได้ใช้โอกาสสุดท้ายในการพยายามโน้มน้าวเพื่อนสมาชิกให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาที่ กมธ.การศึกษา จะสามารถตอบโจทย์โดยลำพังได้
.
ณัฐวุฒิชี้ให้เห็นประการแรก ว่าประเทศไทยกำลังจะทำเรื่องที่ถูกตั้งคำถามจากนานาอารยะประเทศอย่างรุนแรงในที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติในปลายปีนี้ ถึงกรณีความพยายามส่งตัวเด็กไร้สัญชาติ 126 คนกลับไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วย
.
จากตัวเลขเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 ประเทศไทยมีเด็กกลุ่มที่ไร้ทะเบียนราษฎรหรือสัญชาติไทยอยู่ในโรงเรียนกว่า 3 แสนคน มีการยืนยันได้ว่ามีตัวตนแค่ 1.1 แสนคน ส่วนอีกเกือบ 2 แสนคนไม่มีแม้กระทั่งการลงรหัส G ด้วยซ้ำ
.
ที่สำคัญ ประเด็นดังกล่าวยังเกี่ยวเนื่องกับการนำไปสู่รายการสถานะบุคคล หรือการลงเลข 13 หลัก ซึ่งปัจจุบันมีการลงรายการได้แค่ 8.9 หมื่นคน จากผู้ยื่นความจำนงกว่า 1.1 แสนคน ตกหล่นและอยู่ระหว่างการสอบประวัติอีกกว่า 4 หมื่นคน ซึ่งประเด็นทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับกระทรวงศึกษาธิการแล้ว และไม่อยู่ในขอบเขตที่กรรมาธิการคณะใดคณะหนึ่งจะทำการศึกษาได้
.
ไม่ว่าจะมองด้วยสายตาหรือหัวใจ เรากำลังพลาดโอกาสสำคัญในการแก้ไขปัญหาให้เด็กไร้สัญชาตินับแสนคน ที่ครอบคลุมพัวพันหลายมิติ ด้วยการโยนเรื่องนี้ให้ไปจำกัดอยู่แค่ประเด็นการศึกษา โดยไม่ตอบโจทย์อื่น ๆ ที่รายล้อมอยู่อย่างน่าเสียดาย
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments