Digiqole ad

ปัญหา “รถเมล์ห่วย” แก้ไขได้ หากรัฐให้ความใส่ใจไม่น้อยไปกว่ารถไฟฟ้า

 ปัญหา “รถเมล์ห่วย” แก้ไขได้ หากรัฐให้ความใส่ใจไม่น้อยไปกว่ารถไฟฟ้า
Social sharing

Digiqole ad
ช่วงนี้มีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับรถเมล์ในกรุงเทพฯ บ่อย ไม่ว่าจะเป็นการขับรถเร็วหวาดเสียว การวิ่งเลนขวา ไม่จอดป้ายรับผู้โดยสาร รถขาดระยะนานเป็นชั่วโมง พนักงานขับรถประท้วงหยุดวิ่ง รวมถึงมีอุบัติเหตุใหญ่ที่ปรากฏผ่านสื่อมวลชนหลายครั้ง ซึ่งความเห็นของผู้โดยสารก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “รถเมล์ห่วย”
.
สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ – Surachet Pravinvongvuth สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อปัญหานี้ว่า ปัจจุบันหน่วยงานรัฐที่จัดการดูแลรถเมล์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลคือกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นผู้พิจารณาเส้นทางและให้สิทธิ์ในการเดินรถแก่ผู้ให้บริการ โดยในใบอนุญาตประกอบการนั้นมีการกำหนดเส้นทาง มาตรฐานรถที่จะนำมาให้บริการ จำนวนรถที่ต้องมี รวมถึงเที่ยววิ่งขั้นต่ำที่ผู้ให้บริการต้องทำการเดินรถ แต่ไม่มีการอุดหนุนทางการเงิน ทำให้ผู้ประกอบการลำบากมาก
.
โดยปัจจุบันในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเหลือผู้ให้บริการรถเมล์เพียง 2 เจ้าใหญ่ คือองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า กรมการขนส่งทางบกยังไม่สามารถควบคุมคุณภาพของรถ การให้บริการ และจำนวนเที่ยววิ่งขั้นต่ำให้ตรงตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตได้
.
นี่คือปัญหาที่ปรากฏสู่สายตาของผู้โดยสารที่ปลายทาง แต่เบื้องลึกเบื้องหลังของปัญหาอาจมีมากกว่านั้น
.
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พฤติกรรมการเดินทางของคนคือเดินทางจากจุดต้นทาง (เช่น บ้าน หรือคอนโด) ไปยังจุดปลายทาง (เช่น ที่ทำงาน โรงเรียน หรือศูนย์การค้า) ไม่ใช่เพียงแค่จากสถานีรถไฟฟ้าหนึ่งไปยังอีกสถานีหนึ่ง เพราะเวลาเราพูดถึง “ระบบขนส่งสาธารณะ” หลัก ๆ ในความดูแลของรัฐก็คือ “รถไฟฟ้า” และ “รถเมล์” และแน่นอนว่าในบริบทของกรุงเทพฯ ก็ยังมีระบบรองอื่น ๆ ด้วย เช่น รถตู้ รถสองแถว มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เรือเมล์ เป็นต้น
.
แต่ที่ผ่านมารัฐราชการของไทยให้ความสำคัญแต่การอุดหนุน “รถไฟฟ้า” ในกรุงเทพฯ (สายละประมาณ 100,000 ล้านบาท) โดยละเลย “รถเมล์” (คันละประมาณ 5 ล้านบาท) ซึ่งฐานผู้ใช้มีรายได้น้อยกว่าผู้ใช้รถไฟฟ้ามาก ยกตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง รัฐอุดหนุนเฉลี่ย 147 บาท/คน/เที่ยว และตอนนี้รัฐบาลก็พยายามที่จะอุดหนุนเพิ่มขึ้นไปอีกด้วยนโยบาย 20 บาทตลอดสาย ที่จะทำกับรถไฟฟ้าทุกสาย
.
แล้วรถเมล์ล่ะ จะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมเหรอ?
.
“หลายคนอาจคิดเช่นนั้น เพราะเห็นตัวเลขการขาดทุนของ ขสมก. หรือเห็นการหยุดงานของพนักงานบริษัทรถเมล์รายใหญ่
.
แต่ผมไม่อยากให้คิดเช่นนั้น เพราะด้วยบริบทของผังเมืองกรุงเทพฯ ไม่มีทางที่จะสร้างรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมไปในทุกที่ได้ โดยนโยบายของพรรคก้าวไกลมองว่า ต้องมีการปรับเส้นทางการเดินรถเมล์ให้เข้ามาเสริมกับรถไฟฟ้า วิ่งสั้นลงแต่ถี่ขึ้น ทำงานร่วมกันเป็นเส้นเลือดฝอยที่ฟีดคนเข้ามาเส้นเลือดใหญ่ ผ่านโครงสร้างการทำงานของระบบค่าโดยสารร่วม 8-45 บาท ปรับโลกคู่ขนานที่ชนชั้นกลางระดับบนขึ้นรถไฟฟ้า-ผู้มีรายได้น้อยขึ้นรถเมล์ มาเป็นโลกเดียวกันที่ระบบรถไฟฟ้าทำงานร่วมกันกับรถเมล์อย่างไร้รอยต่อ บนโครงสร้างราคาที่สมเหตุสมผล”
.
ในภาพรวม ระบบขนส่งสาธารณะขาดทุนอยู่แล้ว รัฐจำเป็นต้องอุดหนุน แต่รัฐไทยอุดหนุนรถไฟฟ้าเกินไปมาก ๆ เมื่อเทียบกับรถเมล์ ธุรกิจรถเมล์ไม่ได้มีกำไรอย่างที่หลายคนคิด รัฐควรต้องอุดหนุนมากขึ้น เพื่อให้คนเดินทางได้โดยไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาซื้อรถ
.
หากรถเมล์ได้รับการอุดหนุนมากขึ้น ปัญหาการบริหารจัดการรถเมล์ก็จะคลายตัวไปมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการหาพนักงานขับรถเพื่อให้บริการที่ดี ปัญหาการควงกะที่ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าและไม่ปลอดภัยต่อผู้โดยสาร ปัญหารถเมล์ห่วย คุณภาพแย่ รถน้อย รอนาน จะหายไป และแน่นอนว่า เมื่อกิจการรถเมล์ได้รับการอุดหนุนที่เพียงพอ ผู้ประกอบการที่อยากเข้ามาในธุรกิจนี้ก็จะมีมากขึ้น การแข่งขันอย่างสร้างสรรค์ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเป็นธรรมก็จะเกิดขึ้นได้ อันเป็นผลดีต่อประชาชนแน่นอน
.
🟠 อ่านรายละเอียดของนโยบาย #คมนาคมเพื่อทุกคน ตอน “ค่าโดยสารร่วม 8-45 บาท ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติมได้ที่ facebook.com/100043955182100/posts/820098172798681
.
🟠 นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังได้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.การขนส่งทางบก เข้าสู่สภาฯ แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายอำนาจและงบประมาณให้ท้องถิ่นในการบริหารจัดการและอุดหนุนระบบขนส่งสาธารณะให้คุณภาพดี ราคาถูก และเข้าถึงง่าย
.
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post