
ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะ ‘หนี้ครัวเรือน’ หรือหนี้ที่ประชาชนจำนวนมากแบกรับกันอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย ปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน


หากเราเดินผ่านคน 3 คนบนถนน เราอาจพบว่า 1 ใน 3 คนนั้นเป็นหนี้อยู่ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2565 ระบุว่า สัดส่วนของคนไทยที่มีหนี้ คือ 37% หรือ 1 ใน 3 ของคนไทย โดยเกินครึ่งของกลุ่มคนที่มีหนี้ มีหนี้สินเกิน 100,000 บาท และในกลุ่มคนที่มีหนี้ 1 ใน 5 หรือ 5.8 ล้านคน มี ‘หนี้เสีย’ หรือหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วันไปแล้ว
ในขณะนี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย สูงถึง 90% หรือประมาณ 16 ล้านล้านบาท ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนว่าพี่น้องประชาชนกำลังประสบกับความลำบาก ไม่มีรายได้ที่เพียงพอในการใช้จ่าย จึงต้องสร้างหนี้เพื่อมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือไม่มีรายได้เพียงพอในการชำระหนี้ที่มีอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น หนี้ที่ประชาชนต้องแบกรับอยู่ก็ทำให้กำลังซื้อของพี่น้องประชาชนลดลง ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยเพื่อก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไม่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เติบโต
เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging market) คล้ายกับประเทศไทย ตัวเลขสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ของไทยสูงกว่าประเทศอื่นมาก เช่น มาเลเซียอยู่ที่ 73.1% จีน 61.6% และสิงคโปร์ 58.3% (ข้อมูลในปี 2564)
หากเจาะลึกไปมากขึ้น พี่น้องประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นกลุ่มที่น่ากังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สิน เพราะสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของพวกเขาสูงถึง 34% ซึ่งแปลว่าเมื่อหาเงินมาได้ 100 บาท ก็ต้องนำไปจ่ายหนี้ถึง 34 บาท จำนวนเงินที่ต้องไปจ่ายหนี้สูงเช่นนี้ทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ยาก เพราะเมื่อได้รับเงินมาก็ต้องนำไปจ่ายหนี้ แทบไม่เหลือเงินที่จะนำไปใช้ลงทุนประกอบอาชีพต่อไป
‘หนี้ครัวเรือน’ เป็นปัญหาที่พี่น้องประชาชนกำลังประสบอยู่และเป็นความท้าทายสำคัญของประเทศ รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินนโยบายเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการเร่งด่วน การสร้างรายได้เข้าประเทศ การสร้างโอกาสในสังคม และการสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เพื่อปลดล็อกศักยภาพให้พี่น้องสามารถหารายได้อย่างมีศักดิ์ศรีและฝ่าวิกฤตหนี้ครัวเรือนไปพร้อมกัน

Facebook Comments