
ประจบเอาใจ..เพื่อ

มีคำถามเกิดขึ้นมาไม่น้อย กรณีภาพผู้ที่มีบทบาทหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชน ที่ผ่านการเลือกตั้งเข้ามา มีการโชว์เหรียญห้อยคอ เป็นประหนึ่งความภาคภูมิใจเหลือเกินนั้น สะท้อนอะไรได้บ้าง
มองในแง่ของการเติบโตมาบนเส้นทางวิชาชีพสื่อสารมวลชน มองในแง่ของคนที่ทำข่าว ก็ต้องตอบว่า ไม่อยากจะเชื่อว่าเรื่องเช่นนี้จะเกิดขึ้นจริงๆ
เพราะกรณีเหรียญห้อยคอตามความเชื่อ โดยเฉพาะในโลกตะวันออกที่คนจำนวนไม่น้อยยังมีความเชื่อสูงในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การดลบันดาล และการปัดเป่าให้พ้นทุกข์พ้นเคราะห์
ปกติแล้วสิ่งที่จะนำมาห้อยคอมักจะเป็นพระเครื่อง เครื่องลางของขลัง เหรียญเคารพบูชา ซึ่งกรณีเหรียญหรือล็อกเก็ตเคารพบูชา มีไม่น้อยที่ใช้รูปของบิดามารดามาห้อยคอเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
แต่กรณีที่เอารูปบุคคลที่ไม่ใช่ญาติโกโหติกาใดๆเลย และก็ไม่ใช่เหรียญพระเกจิอาจารย์มาทำเป็นเหรียญใส่ห้อยคอ ยอมรับว่าหาคำอธิบายที่สมเหตุผลได้ยากจริงๆ
ยิ่งมีการระบุว่า ห้อยคอเพราะนับถือ และคิดว่าปกป้องคุ้มครองตัวเองได้ สมควรที่จะมาห้อยคอ เพราะเป็นองค์เดียวที่ห้อยได้ และรู้สึกอุ่นใจ
ประโยคแบบนี้ไม่แปลกที่จะทำให้เสียงสะท้อนออกมาในทำนองว่า เป็นการมุ่งเอาใจด้วยเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเหตุอื่น
แต่หากว่านับถือเชื่อมั่นศรัทธากันขนาดนั้น ก็น่าแปลกใจว่าทำไมจึงไม่สามารถจำได้แม้แต่กระทั่งนามสกุลที่ถูกต้องของคนที่บอกว่านับถือมากนักหนา
นับถือแต่เขียนชื่อสกุลผิด ก็เลยกลายเป็นเรื่องโป๊ะแตก
ยิ่งการพยายามยกย่องว่าเป็น “หลวงพ่อป้อม ณ วัดป่ารอยต่อฯ” หลายคนบอกว่าปกติแล้วลักษณะนี้น่าจะใช้เพื่อเป็นการเสียดสีทางการเมืองกันเสียมากกว่า ที่จะมาใช้เพื่อเป็นการแสดงความเคารพบูชา เพราะต้องไม่ลืมว่าบุคคลในเหรียญไม่ใช่พระ ไม่ใช่หลวงพ่อ
จากนี้ก็ต้องรอดูความศักดิ์สิทธิ์จากความเชื่อที่สูงถึงขนาดนำมาทำเป็นเหรียบห้อยคออย่างเอิกเกริกเช่นนี้ เพราะมีหลายกรณีเสียด้วยที่อยู่ระหว่างรอดูผลว่าจะรอดหรือจะร่วง
แถมหลังจากโชว์เหรียญ ปรากฏว่า รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็สนใจที่จะตรวจสอบว่าทั้งล็อกเกตและสร้อยคอทองคำนั้น เจ้าตัวเคยได้ยื่นเอาไว้ในรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.หรือไม่ หรือว่าเพิ่งจะได้มาภายหลังจากที่ยื่นกับ ป.ป.ช. ไปแล้ว
บนความไม่เข้าใจวิธีคิด แต่เมื่อเห็นข่าว วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ที่เดินเข้าไปคุยกับ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ว่า “อะไร ที่ยอมได้ก็ยอม น้องเอ้ย โดนคดีมาไม่คุ้ม”
และให้ดู สุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้อีสาน เป็นตัวอย่าง เพราะผ่านมาแล้ว
ก็น่าจะเป็นคำตอบได้ดีถึงความเชื่อมั่นในเรื่องการปัดเป่าคดี
ภูวนารถ ณ สงขลา