Digiqole ad

“บาร์บี้” จักรวาลสีชมพู ตุ๊กตาไอคอนแห่งมหาชน (อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 391 วันที่ 4-10 ส.ค.66)          

 “บาร์บี้” จักรวาลสีชมพู ตุ๊กตาไอคอนแห่งมหาชน (อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 391 วันที่ 4-10 ส.ค.66)           
Social sharing
Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 391 วันที่ 4-10 สิงหาคม 2566 

หน้า 1-3

          “บาร์บี้” จักรวาลสีชมพู  ตุ๊กตาไอคอนแห่งมหาชน

            จากตุ๊กตาสาวสวยน่ารักและทรงอิทธิพลระดับโลกที่มามานานกว่า 60 ปี และมียอดขายจากปีที่แล้วมากถึง 1,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (51,495 ล้านบาท) สู่รูปแบบแอนิเมชันมาหลายต่อหลายตอนและเวอร์ชั่น ล่าสุดได้สร้างความกระหึ่มให้กับวงการบันเทิงอีกครั้ง เมื่อ “บาร์บี้” (Barbie) ได้ถือกำเนิดบนโลกภาพยนตร์ ฉบับไลฟ์แอ็กชัน (คนแสดง) เป็นครั้งแรกในโลก (20 ก.ค.66 ฉายในประเทศไทย และ 21 ก.ค.66 ฉายในสหรัฐอเมริกา)โดยเป็นไวรัลตั้งแต่ยังไม่ฉายในโรงภาพยนตร์

ที่มาบาร์บี้เวอร์ชั่นคนแสดง

            “บาร์บี้” เป็นภาพยนตร์แนวสุขนาฏกรรมจินตนิมิตสัญชาติอเมริกัน กำกับการแสดงโดย เกรตา เกอร์วิก ผู้ร่วมเขียนบทกับ โนอาห์ เบาม์แบก อิงจากตุ๊กตาแฟชั่นบาร์บี้โดยแมทเทล ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์บาร์บี้ฉบับคนแสดงเรื่องแรกหลังจากที่มีการทำหนังแผ่นภาพยนตร์คอมพิวเตอร์แอนิเมชันและโทรทัศน์ผ่านสัญญาณต่อเนื่องหลายเรื่อง ภาพยนตร์เรื่องนี้นำแสดงโดย มาร์โก ร็อบบี และ ไรอัน กอสลิง ในบทบาร์บี้และเคน พร้อมด้วยนักแสดงสมทบจำนวนมาก

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการประกาศตัวในเดือนกันยายน พ.ศ.2552 โดยยูนิเวอร์แซลพิกเชอส์ โดยมีลอเรนซ์ มาร์ก อำนวยการสร้าง แต่การพัฒนาเริ่มขึ้นในเดือนเมษาย พ.ศ.2557 เมื่อโซนี่พิคเจอร์สได้รับลิขสิทธิ์ หลังจากการเปลี่ยนผู้เขียนบทและผู้กำกับหลายครั้งและการคัดเลือกนักแสดงหญิงสองคนที่แตกต่างกันเพื่อรับบทนำ โซนี่สูญเสียลิขสิทธิ์และต่อมาก็โอนลิขสิทธิ์ให้กับวอร์เนอร์บราเธอส์พิกเชอส์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 โดยมีร็อบบีอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อแสดง ร็อบบีได้รับการคัดเลือกใน พ.ศ.2562 และรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้าง (ภายใต้ชื่อบริษัทลักกีแชปเอนเตอร์เทนเมนต์) โดยได้รับเครดิตในการผลิตร่วมกับเฮย์เดย์ฟิล์มสและแมทเทลฟิล์มส เกอร์วิกได้รับการยืนยันให้เป็นผู้กำกับและผู้เขียนบทร่วมกับเบาม์แบกใน พ.ศ.2564 กอสลิงและทีมนักแสดงที่เหลือมีการประกาศในช่วงต้น พ.ศ.2565  การถ่ายทำส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่วอร์เนอร์บราเธอส์สตูดิโอส์, ลีฟส์เดน ในประเทศอังกฤษตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2565  ภาพยนตร์เรื่องนี้ลงทุนด้วยงบประมาณ 128-145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4,394.24- 4,977.85 ล้านบาท (ที่มา : วิกิพีเดีย)

ตุ๊กตาที่สร้างความคาดหวังผิด

“วาดฝัน” นักรีวิวภาพยนตร์ใน workpointtoday.com ได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า ในเวลาหลายปีที่ผ่านมาบาร์บี้ถูกมองว่าเป็นตุ๊กตาที่สร้างความคาดหวังผิด ๆ เกี่ยวกับร่างกายที่มีสัดส่วนเกินจริงให้กับเด็กผู้หญิง แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำบาร์บี้กลับมาเป็นไอคอน เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นไปของโลก เป็นภาพสะท้อนของผู้หญิงอีกครั้ง ผ่านทางการแตะประเด็นสังคมได้อย่างคมคายมีรสชาติ เข้าใจง่ายแทบไม่ต้องตีความ เด่นชัดเหมือนสีชมพูที่เธอใส่อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น

            เฟมินิสซึ่ม (feminism) –  ด้วยการสร้างโลกบาร์บี้ที่ผู้หญิงเป็นเป็นอะไรก็ได้ เป็นประธานาธิบดี เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลครองโลกจนจะเรียกว่า มาตาธิปไตย (matriarchy) ก็คงไม่ผิด แต่ในขณะเดียวกันการที่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในโลกจริง เป็นเพียงโลกสมมุติเท่านั้นก็ตอกย้ำว่าระบอบนี้อาจเป็นได้แค่เพียงฝันเท่านั้นเช่นกัน

ความหลากหลาย (diversity) – โอบรับความแตกต่าง ไม่ว่าจะทางรูปร่างหน้าตา เพศ หรือเชื้อชาติ ผ่านทางบาร์บี้ที่มีหน้าตาหลากหลายแต่สุดท้ายก็เป็นบาร์บี้เหมือนกัน

             การกีดกันทางสังคม (marginalisation) – โลกของบาร์บี้ชัดเจนว่าการปกครองนั้นเป็นเรื่องของผู้หญิง และผู้ชายนั้นเป็นเพียงไม้ประดับไว้อยู่ตามชายหาด ซึ่งสะท้อนการกีดกันและบทบาทของผู้หญิงในโลกปิตาธิปไตยอารมณ์เดียวกับที่ของผู้หญิงคืออยู่ในครัวในมุมกลับ

             ความเป็น ‘ชายแท้’ (masculinity) – มีทั้งการเสียดสีเรื่องนี้ผ่านทางการสร้างตัวละครเคนทั้งหลายที่สร้างมาตามายาคติ และ stereotype ของความเป็นชาย ทั้งกระหายอำนาจ ชอบโชว์เหนือ หรือหาเรื่องทะเลาะ แต่ก็มาแตะเรื่องการที่ผู้ชายเองก็เป็นเหยื่อของกรอบความคิดว่าเพศไหนควรเป็นอย่างไรเช่นกัน เพราะในภายหลังที่เคนได้เล่นสนุกกับระบอบปิตาธิปไตยอย่างเต็มที่แล้ว เขาก็โดนกรอบของความเป็นชายกดทับเอง

             ทุนนิยม (capitalism) – แม้ว่าจะเป็นภาพยนตร์ที่สร้างโดยบริษัท Mattel ‘Barbie’ ก็ไม่อ่อนข้อต่อการเสียดสีทุนนิยมในทุกจังหวะ ที่ชัดที่สุดคือผ่านตัวละครพนักงานบริษัทที่คอยพูดว่าบริษัทจะได้กำไรกับการตัดสินใจแบบใด

             อัตถิภาวนิยม (exsitentialism) – ประเด็นนี้เห็นชัดมาตั้งแต่ตัวอย่างของเรื่องและการที่ conflict หลักมาจากการที่บาร์บี้เริ่มคิดถึงเรื่องความตาย หรือที่จุดพีคเมื่อเธอตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของเธอท่ามกลางบาร์บี้

ส่วนใน www.beartai.com ระบุว่า ตัวหนังก็ไม่ลืมที่จะพูดถึงผลพวงและความเจ็บปวดจาก Toxic Masculinity หรือภาวะความเป็นชายเป็นพิษ ที่เกิดขึ้นกับเคนและอีกหลาย ๆ เคนได้อย่างแหลมคมและตรงไปตรงมาเช่นกัน ก่อนที่เคนจะตระหนักถึงเจตจำนงเสรีของตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาชื่อเสียงของบาร์บี้อีกต่อไป ซึ่งก็เหมือนเป็นตัวสะท้อนว่า ไม่ว่าจะผู้ชาย หรือผู้หญิง หรือเพศใด ๆ ก็สามารถตระหนักถึงตัวตน และ Empower ของตัวเอง โดยไม่ต้องให้ใครมาคอยมาแปะป้ายในโลกจริงได้เช่นกัน

            บาร์บี้สุดฟีเวอร์ในเมืองไทย

            สำหรับกระแสภาพยนตร์เรื่อง “บาร์บี้” (Barbie)ในเมืองไทยแล้วนับว่ามาแรงมาก เพียงแค่เข้าฉาย 11 วันแรก    (20-30 ก.ค.66) บ็อกซ์ออฟฟิศประเทศไทย (Thailand Box Office) แจ้งว่า สามารถทำรายได้สูงถึง 44.1 ล้านบาท เป็นอันดับ 2 รองจาก “ออพเพนไฮเมอร์” (Oppenheimer) ที่มียอดทำรายได้ 59.8 ล้านบาท และรายได้รวมจากทั่วโลกอัพเดตถึงวันที่ 29 ก.ค.66 เป็นจำนวนเงินประมาณ 528.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 18,146.83 ล้านบาท

ทั้งนี้กรุงเทพธุรกิจได้สำรวจความเห็นของผู้ชมและสาเหตุที่ทำให้ ภาพยนตร์เรื่อง “บาร์บี้” กลายเป็นที่พูดถึงและทำรายได้ในไทยมีดังนี้

            1.มีความคุ้นเคยกับบาร์บี้ : คนไทยส่วนใหญ่จะไม่ได้เล่นตุ๊กตาบาร์บี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่บาร์บี้ไม่ได้มีแค่ของเล่นเท่านั้น วัยรุ่นไทยหลาย ๆ คนเติบโตมากับภาพยนตร์แอนิเมชันบาร์บี้ที่เริ่มออกฉายมาตั้งแต่ปี 2001 จนถึงปัจจุบันทำออกมาแล้วถึง 42 ภาค ซึ่งแต่ละภาคมีเนื้อหาที่สนุกสนาน ช่วยเติมเต็มจินตนาการของเด็กได้เป็นอย่างดี พร้อมสอดแทรกแนวคิดการมองเห็นคุณค่าในตนเองเอาไว้เสมอ

           2.หน้าหนังที่ดึงดูด : เทรลเลอร์ (ตัวอย่าง) ของภาพยนตร์บาร์บี้กระตุ้นความอยากดูให้แก่ผู้ชมด้วย “บาร์บี้แลนด์” เมืองของบาร์บี้ที่เต็มไปด้วยสีพาสเทล และโดดเด่นด้วยสีชมพูสดใสซึ่งเป็นสีประจำตัวของบาร์บี้ มาพร้อมกับองค์ประกอบศิลป์ที่ละเอียดและสวยงามทุกกระเบียดนิ้ว ไม่ว่าจะข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า ตลอดจนบ้านเมืองที่จำลองมาจากของเล่น ทำให้ผู้ชมหลุดเข้าไปอยู่ในโลกของตุ๊กตาจริง ๆ

            3.ประเด็นทางสังคม : เนื้อเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าถึงการผจญภัยของบาร์บี้ระหว่างโลกแฟนตาซีและโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งดูเผิน ๆ แล้วอาจจะคิดว่าเป็นหนังเด็ก แต่ความเป็นจริงแล้วบาร์บี้สอดแทรกประเด็นทางสังคมเอาไว้มากกว่านั้น ในฐานะนักแสดงนำและโปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ มาร์โก ร็อบบี้ ให้สัมภาษณ์ว่า บาร์บี้ เป็นหนังเฟมินิสต์ แสดงให้เห็นสังคมที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ ส่วนผู้ชายเป็นเพียงแค่ตัวประกอบ หรือเครื่องประดับเท่านั้น ตรงกันข้ามโลกแห่งความเป็นจริง ที่ยังคงอยู่ในรูปแบบของปิตาธิปไตย เห็นได้จากโปสเตอร์ของภาพยนตร์ที่มีข้อความว่า “She’s everthing, He’s just Ken” (เธอคือทุกอย่าง เขาเป็นแค่เคน)

           4.ผู้กำกับฯมากความสามารถ : เกรตา เกอร์วิค (Greta Gerwig) เป็นผู้กำกับฯหญิงมากความสามารถที่มีผลงานระดับมาสเตอร์พีซอย่าง “Lady Bird” (2017) ภาพยนตร์แนวก้าวข้ามวัย (Coming of Age) และ “Little Women” (2019) ที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมอมตะของโลกในชื่อเดียวกัน ภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องได้รับคำวิจารณ์ในทางบวกเป็นอย่างมากและสามารถพาเกอร์วิค เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้

            5.โปรโมตสุดอลังการ : แม้ว่าบาร์บี้จะเป็นที่รู้จัก มีนักแสดงและผู้กำกับที่เรียกคนดูได้อยู่แล้ว แต่ Warner Bros. Pictures สตูดิโอผู้สร้าง ยอมทุ่มงบประมาณถึง 150 ล้านดอลลาร์ในการโปรโมตบาร์บี้ ซึ่งมากกว่าทุนสร้างหนังเรื่องนี้ที่ 145 ล้านดอลลาร์ด้วยซ้ำ โดยแคมเปญการตลาดหลัก ๆ ของบาร์บี้ประกอบไปด้วย  1.เว็บไซต์เอไอที่ให้ผู้ใช้สามารถนำภาพของตัวเองไปทำเป็นโปสเตอร์สีสันสดใสสไตล์บาร์บี้ 2.เปิดบ้านพักสีชมพูสดให้เช่าผ่าน AirBnB ในชื่อว่า “Barbie’s Malibu DreamHouse” 3.ติดโฆษณาบนระบบขนส่งมวลชนในหลายประเทศทั่วโลก เช่น บนเครื่องบิน, รถประจำทางในอังกฤษ (London Bus) 4.ออกสินค้าพิเศษมากมาย

            สำหรับในประเทศไทยนั้น มีมุมให้ถ่ายภาพตามโรงภาพยนตร์ ซึ่งมีทั้งกล่องบาร์บี้ขนาดเท่าคน และรถยนต์บาร์บี้ให้ได้สวมวิญญาณเป็นบาร์บี้หรือเคน ทำให้เกิดกระแสแต่งตัวสีชมพูเพื่อไปดูบาร์บี้ พร้อมมีโปรโมชันตั๋วราคาถูกและของแถมพิเศษ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ที่โรงภาพยนตร์

            ห้างร้านขานรับกระแสชมพูสะพรั่ง

นับถึงวันที่ 4 ส.ค.66 เป็นเวลา 16 วัน แล้ว กระแสของภาพยนตร์บาร์บี้ยังแรงไม่แผ่ว บรรดาธุรกิจห้างและร้านค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ที่ได้รับลิขสิทธิ์ผลิตสินค้าบาร์บี้โดยตรง หรือร้านที่ไม่ได้ลิขสิทธิ์พร้อมใจกันโชว์สินค้าธีมบาร์บี้และโทนสีชมพูหวานแหววไปทั่ว

จากข้อมูลของประชาชาติธุรกิจ ระบุว่า  ร้านที่มีสินค้าลิขสิทธิ์บาร์บี้ อาทิ Zara ซึ่งมีคอลเลคชั่น Zara x Barbie ที่ประกอบด้วย เสื้อยืด กางเกง ชุดนอน ชุดออกงาน บอดี้สูท รองเท้า และเครื่องประดับ ราคาเริ่มต้น 990 บาท พร้อมดิสเพลรูปกล่องบาร์บี้ให้ลูกค้าถ่ายรูปที่สาขาสยามพารากอน

ส่วนแบรนด์ Crocs มีรองเท้าคอลเลคชั่นพิเศษ Crocs x Barbie รุ่น classic clog วางจำหน่ายที่หน้าร้านทั้งร้าน Crocs และ JD Sport เช่นเดียวกับเว็บไซต์ JDSPORTS.CO.TH

ด้านกระเป๋าแบรนด์ดังอย่าง KIPLING มีคอลเลคชั่น BARBIE X KIPLING เช่นกัน โดยมีจุดเด่นอย่าง ป้ายโลโก้ Barbie ผลิตจากซิลิโคนขึ้นรูป หรือ ซับในกระเป๋าผ้า พิมพ์ลายตุ๊กตาบาร์บี้ สลับกับลายโลโก้ พร้อมกับ พวงกุญแจตุ๊กตาบาร์บี้ และที่ห้อยตุ๊กตาลิง

ขณะที่ SABINA ส่งชุดชั้นในคอลเลคชั่น “บาร์บี้” (Barbie) ออกมาแบบครบชุดครอบคลุมทั้งชุดชั้นใน บอดี้สูท ชุดลำลอง ชุดชั้นในเด็ก เสื้อกล้ามเด็ก กางเกงกันโป๊ กางเกงขาสั้น หวังตอบโจทย์ลูกค้าทุกช่วงวัยที่หลงรัก “บาร์บี้” แบบไม่จำกัดอายุ

สำหรับ Pomelo มีคอลเลคชั่น Malibu Princess ที่มาพร้อมสินค้าสีชมพูหวานแหวว และตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. ยังจัดโปรโมชั่น แจก กระเป๋า Barbie x Pomelo เมื่อโชว์ตั๋วหนังของคุณที่หน้าร้าน Pomelo. สาขา Siam Center, Central World, ICON Siam, Terminal 21 และ Emquartier (เฉพาะลูกค้า 60 คนแรกของสาขา)

ร้านของเล่น สมอลล์เวิลด์ นั้นนอกจากของเล่นแบรนด์บาร์บี้ แล้วยังมีของเล่นอื่นที่เป็นรุ่นพิเศษสำหรับแฟนบาร์บี้ อย่าง UNO Barbie The Movie Card Game การ์ดเกม อูโน่ รุ่นบาร์บี้มูฟวี่ รวมถึงจัดโปรโมชั่นให้ส่วนลด 25% สำหรับสินค้าในหมวดบาร์บี้ทุกประเภท ตั้งแต่ 20 กรกฎาคม 66 – 31 สิงหาคม 66 อีกด้วย

นอกจากนี้ร้านแฟชั่นที่ไม่มีสินค้าลิขสิทธิ์บาร์บี้โดยตรงต่างพยายามรับกระแสนี้ด้วยการนำสินค้าในธีมสีชมพู ม่วงและแดงออกมาจัดแสดงหน้าร้าน ทั้งในส่วนพลาซ่าและดีพาร์ทเมนต์สโตร์

ดารา-นางงามไทยแห่แปลงโฉมบาร์บี้

ทางด้านดารานักแสดงและนางงามชาวไทยก็อินเทนด์แห่แปลงโฉมเป็นบาร์บี้ชนิดที่จัดเต็ม จัดหนัก จัดแน่นไม่ยอมกัน อาทิ แอน-สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ }คิมเบอร์ลี่ แอน โวลเทมัสเกรซ-กาญจน์เกล้า ด้วยเศียรเกล้าพิ้งกี้-สาวิกา ไชยเดชโฟร์-ศกลรัตน์ วรอุไร,ขวัญ-อุษามณี ไวทยานนท์ ส่วนทีมนางงาม นำโดย “เอ้-ชุติมา นัยนา”นางสาวไทย ปี 2530 ,แนท-อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2558, และ น้ำตาล-ชลิตา ส่วนเสน่ห์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2559 ยังรวมถึงศิลปินสาวชาวไทยที่โด่งดังระดับโลกอย่าง ลิซ่า Blackpink-ลลิษา มโนบาล ซึ่งได้โพสต์ภาพใส่เสื้อสีชมพูหวานสดใส พร้อมสติกเกอร์บาร์บี้

            “สุมณี” บาร์บี้เมืองไทยกลับมาฮอตอีกครั้ง

            หากเอ่ยถึงเจ้าของฉายา “บาร์บี้เมืองไทย” หลายคน โดยเฉพาะในวงการไฮโซจะต้องนึกผู้หญิงที่ชะลอความสวยเอาไว้คือ “คุณสุมณี คุณะเกษม” แม้วันนี้จะอายุถึง 86 ปีแล้ว ยังคงสนุกกับการเล่น TikTok จนเป็นที่ฮือฮา เพราะได้เห็นมุมแปลก ๆ ที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน อาทิ ตอนขณะที่ไม่ได้สวมวิกผม แล้วเมื่อเธอปรากฏตัวในงานสังคมความเป็นบาร์บี้เมืองไทยยังคงอยู่ ยิ่งกระแสภาพยนตร์บาร์บี้มาแรง เธอก็ถูกพูดถึงอยู่เช่นกัน

คุณสุมณี เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเคล็ดลับความสวยไว้ว่า เป็นคนชอบแต่งตัว รักความสวยความงามอยู่แล้ว วิธีที่ใช้ในการดูแลสุขภาพผิวพรรณที่ทำเป็นประจำคือ การเต้นรำ เพราะการออกกำลังกายจะทำให้ผิวขับเหงื่อออกมาและมีผิวพรรณที่สดใส เกลี้ยงเกลา นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องการทานอาหารที่จะไม่ทานน้ำมันปาล์มกับผงชูรสเลย เพราะมีไขมันสูงและทำให้เป็นสิวง่าย ส่วนการเลือกใช้ครีมบำรุงผิว จะใช้แต่ผลิตภัณฑ์ที่สกัดมาจากธรรมชาติเท่านั้นเลย” (ที่มา : Sanook)

ศิลปะเปลี่ยนบาร์บี้สู่สัญลักษณ์จิตวิญญาณ

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.66 เพจ The Gallery ได้โพสต์ข้อความว่า ตุ๊กตาบาร์บี้ เป็นที่รู้จักในฐานะตุ๊กตาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก และยังเป็นสัญลักษณ์ของการบริโภค มาตรฐานความงาม และแบบแผนทางเพศอีกด้วย แต่จะเป็นอย่างไรถ้าตุ๊กตาบาร์บี้สามารถเป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณ ความหลากหลาย คือสิ่งที่สองศิลปินจากอาร์เจนตินา Marianela Perelli และ Pool Paolini นำเสนอด้วยโปรเจ็กต์ศิลปะ Barbie: The Plastic Religion

ศิลปินกล่าวว่า ความตั้งใจของพวกเขาไม่ใช่เพื่อดูหมิ่นความเชื่อของใคร แต่เพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลาย และความร่ำรวยของจิตวิญญาณมนุษย์ รวมถึงท้าทายแบบแผน หรืออคติที่มักล้อมรอบศาสนา และวัฒนธรรม โดยใช้ตุ๊กตาบาร์บี้เป็นสื่อเพราะเธอนั้นเป็นไอคอนสากลของวัฒนธรรมป๊อป ที่สามารถปรับให้เข้ากับบทบาท หรือสถานการณ์ใดก็ได้

โครงการนี้ได้รับปฏิกิริยาที่หลากหลาย บางคนยกย่องว่าเป็นวิธีที่สร้างสรรค์ และเป็นต้นฉบับในการแสดงศิลปะ และจิตวิญญาณ บางคนประณามว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุภาพ และดูหมิ่นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ แต่หนึ่งในคำตอบที่น่าแปลกใจที่สุดมาจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ที่ทรงรับของขวัญจากศิลปิน คือ ตุ๊กตาบาร์บี้ที่แต่งตัวเป็นพระแม่มารี นักบุญองค์อุปถัมภ์ของอาร์เจนตินา ศิลปิน

            “Barbie: The Plastic Religion” เป็นโปรเจ็กต์ศิลปะที่เชื้อเชิญให้เราตั้งคำถามกับสมมติฐานและอคติของเราเกี่ยวกับศาสนา และวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังแสดงให้เราเห็นว่าตุ๊กตาบาร์บี้สามารถเป็นได้มากกว่าตุ๊กตา แต่เป็นเครื่องมือในการแสดงออก การสำรวจด้านในของเรา

ข้อคิดจากบาร์บี้

บทสรุปส่งท้ายขอนำข้อคิดกินใจจากเอนิเมชันบาร์บี้ตอนต่าง ๆ มาฝาก เริ่มจาก Barbie in the nutcracker – ถ้าเธอมีความกล้าที่จะพยายาม ทุกสิ่งก็เกิดขึ้นได้ Barbie Rapunzel – เมื่อใดที่เธอมีจินตนาการในแง่ดี จินตนาการของเธอจะสามารถสร้างโลกได้ Barbie in swan lake – เมื่อใดที่เราพยายามทำในสิ่งที่ไม่กล้า เราจะพบว่า เรากล้ากว่าที่เราคิด Barbie as the princess and the pauper – เมื่อใดที่เราฝันจะเป็นอิสระ อิสระจะอยู่ไม่ไกลจากตัวเรา Barbie fairytopia – อะไรที่ทำให้เธอแตกต่างนั่นคือสิ่งที่พิเศษBarbie magic pegasus – ทุกสิ่งจะไม่มีหวังก็ต่อเมื่อเรายอมแพ้ Barbie fairytopia mermaidia – จงเชื่อมั่นในตัวตนที่แท้จริงของคุณ Barbie in the 12 Dancing Princesses – ไม่ว่าเด็กหรือผู่ใหญ่ ทุกคนสร้างความแตกต่างในแบบของตนได้ Barbie fairytopia magic of the rainbow – เมื่อร่วมมือกันเราจะแข็งแกร่งBarbie as the island princess – อาจจะมีปาฏิหาริย์ที่รอพวกเราอยู่ และอาจจะใกล้กว่าที่พวกเรารู้ เมื่อพวกเรามีความรักมันจะเป็นแนวทางให้เราก้าวไป Barbie Mariposa and her butterfly fairy friends – เราไม่จำเป็นต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นเพื่อความโดดเด่น เพียงแค่เป็นตัวของตัวเองก็พอ Barbie and the daimon castle – มิตรภาพมีค่ามากกว่าสิ่งอื่นใด Barbie in a christmas carol – กาลเวลามักทำให้เราเรียนรู้สิ่งต่างๆได้มากกว่าที่คิด

Barbie Thumbelina – บางครั้งสิ่งเล็กๆก็สร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ได้ Barbie and the three musketeers – เมื่อใดที่เราร่วมฝันเดียวกันฝันของเราจะเป็นจริง Barbie in a mermaid tale – เธอไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น แต่เธอมีความโดดเด่นในแบบของเธอ Barbie a fashion fairytale – สิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นได้เมื่อเรามั่นใจในตัวเอง Barbie a fairy secret – การอภัยให้กันคือพลังที่ยิ่งใหญ่ Barbie princess charm school – มีเจ้าหญิงอยู่ในตัวเด็กผู้หญิงทุกคน Barbie a Perfect Christmas – ไม่ว่าเธอจะมีปัญหาอะไร ยังมีคนรอบข้างคอยช่วยเหลือเธอเสมอ Barbie in a mermaid tale 2 – ทุกสิ่งเป็นไปได้เมื่อเธอเป็นตัวของตัวเองBarbie as the princess and the popstar – สิ่งที่ดีที่สุดคือการเป็นตัวของตัวเอง Barbie in a pink shoes – หากเต้นจากหัวใจความฝันใดก็เป็นจริง Barbie Mariposa and fairy princess – สุดขอบฟ้าไปถึงได้ด้วยมิตรภาพของเพื่อนแท้ Barbie and her sister in a pony tale – เมื่อเธอรักสิ่งใด จงปล่อยให้มันเป็นอิสระ และ Barbie the pearl princess – ไม่มีอะไรที่วิเศษไปกว่าตัวของเธอเอง

    เรื่องย่อภาพยนตร์ Barbie 2023

ณ บาร์บี้แลนด์ ดินแดนที่เหล่าบาร์บี้และเคนอาศัยร่วมกันอย่างสงบ บาร์บี้ หรือ บาร์บี้พิมพ์นิยม เป็นตุ๊กตาผู้หญิงที่สามารถทำอะไรก็ได้อย่างอิสระตามสังคมมาตาธิปไตยในฝัน ขณะที่เคนนั้นเป็นตุ๊กตาผู้ชายที่มีหน้าที่อยู่เป็นคู่คอยสนับสนุนบาร์บี้อีกที บาร์บี้พิมพ์นิยมเป็นสาวสังคมที่ใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างแสนสนุกและมีความสุข โดยมีเคน ผู้เปรียบเสมือนแฟนหนุ่มของเธอคอยดูแล เธอใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับผองเพื่อนบาร์บี้ของเธอ จัดงานปาร์ตี้ ออกแบบท่าเต้น รวมถึงคอยดูแลเคนเวลาไม่พอใจเวลาบาร์บี้ต้นแบบทำท่าสนใจเคน เพราะหน้าที่ของเขาคือการเป็นคนกู้ภัยที่ชายหาด และนอนอยู่ที่อู่รถนอกบ้านบาร์บี้ต้นแบบ แต่แล้วในคืนปาร์ตี้แสนสนุก บาร์บี้พิมพ์นิยมกลับพูดถึงเรื่องความตายขึ้นมา ทำให้บาร์บี้และเคนอื่น ๆ พากันตื่นตระหนก ซึ่งเธอก็พยายามไม่คิดเกี่ยวกับมัน

วันต่อมา บาร์บี้พิมพ์นิยมสัมผัสได้ถึงเหตุการณ์ประหลาด น้ำที่เคยอุ่นกลับเย็น พลังที่ทำให้เธอเนรมิตอะไรก็ได้หายไป ที่สำคัญคือเท้าของเธอแบนแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เหล่าบาร์บี้กล่าวว่าบาร์บี้พิมพ์นิยมนั้นกำลังมีปัญหาและต้องรีบไปพบกับบาร์บี้เพี้ยน ผู้ที่รู้วิธีแก้ปัญหาของเธอ ที่ซึ่งบาร์บี้เพี้ยนได้บอกว่าเธอต้องไปโลกจริง มิติที่ผู้สร้างบาร์บี้นั้นอาศัยอยู่ที่เธอได้เปิดประตูมิติไว้ เธอจะต้องตามหาเด็กผู้หญิงที่เคยเล่นกับเธอในวัยเด็ก บาร์บี้พิมพ์นิยมตัดสินใจเดินทางโดยมีเคนติดสอยห้อยตามมาด้วย เมื่อมาถึงโลกจริง ที่ ลอส แองเจลิส ชายหาดเวนิซ พวกเขาพบว่าผู้คนนั้นมองพวกเขาด้วยสายตาแปลก ๆ บาร์บี้พิมพ์นิยมต่อยผู้ชายที่มาลวนลามเธอ ก่อนที่พวกเขาจะโดนจับและปล่อยตัวออกมาเพราะเป็นการป้องกันตัว ทั้งสองก่อเรื่องวุ่นวายไปทั่ว จนทำให้ประธานบริหารบริษัทแมทเทล ประกาศตามล่าเอาพวกเขากลับบาร์บี้แลนด์ก่อนที่ความเป็นจริงกับจินตนาการจะเกิดเป็นหายนะ ระหว่างนั้นเคนกับบาร์บี้พิมพ์นิยมแยกทางกัน บาร์บี้พิมพ์นิยมร้องไห้ออกมาครั้งแรกหลังรำลึกถึงเด็กที่เคยเล่นกับเธอและได้พบหญิงชราคนหนึ่งในโรงเรียนผู้ที่เธอเอ่ยปากชมอย่างจริงใจ เคนได้เรียนรู้และอ่านหนังสือเกี่ยวกับชายเป็นใหญ่ที่ทำให้เขาหลงใหลและชอบมัน เชื่อว่าเขาสามารถครองโลกได้เขาสามารถเป็นได้มากกว่าแค่เคนของบาร์บี้

บาร์บี้ต้นแบบพบซาซ่าที่โรงเรียนมัธยมใกล้ๆ โดยเคนแยกไปอีกที่หนึ่ง เธอถูกซาช่าและเพื่อนๆ ล้อเลียนอย่างหนัก ก่อนจะรู้ว่าแม่ของเธอ กลอเรีย ซึ่งทำงานให้กับแมทเทลคือคนที่เป็นต้นเหตุทำให้เธอทุกข์ใจ กลอเรียเริ่มเล่นกับของเล่นตุ๊กตาบาร์บี้ของซาช่าในขณะที่ประสบกับวิกฤตวัยกลางคน และส่งต่อความกังวลของเธอไปยังตุ๊กตาบาร์บี้ต้นแบบโดยไม่ได้ตั้งใจ เธอพลัดพรากจากเคน โดนคนของบริษัทแมทเทล บริษัทที่ผลิตบาร์บี้ พาตัวมาที่บริษัท ที่ซึ่งเธอได้พบกับประธานบริหารและเหล่าพนักงานที่พากันล้อเลียนเธอเพราะเธอไม่เคยได้สัมผัสวัตถุจริง ๆ จากวัตถุมาก่อน เพราะบาร์บี้แลนด์ไม่มีวัตถุจริง ๆ ทั้งหมดเป็นสิ่งสังเคราะห์ และตั้งใจจะเอาเธอใส่กล่องที่เตรียมไว้ส่งกลับบาร์บี้แลนด์ บาร์บี้หนีออกมาได้ด้วยความช่วยเหลือของกลอเรีย แม่ของซาช่าที่รู้เรื่องบาร์บี้จากการแอบฟังห้องผู้บริหารจนพาซาช่าขับรถหนีออกมา บาร์บี้และกลอเรียได้ผูกมิตรกันระหว่างหลบหนี บารบี้ตัดสินใจพาสองแม่ลูกเดินทางไปที่บาร์บี้แลนด์เพื่อแก้ไขสถานการณ์

เคนเดินทางกลับบาร์บี้แลนด์โดยไม่มีบาร์บี้ และเริ่มเปลี่ยนแปลงดินแดนของบาร์บี้ด้วยความช่วยเหลือของเคนอันธพาล ผู้ที่เคยรังแกเขาก่อนหน้านี้ และเหล่าเคนคนอื่น ๆ โดยมีเหล่าผู้บริหารแมทเทลที่สะกดรอยตามพวกเธอมาที่มิติด้วย กลอเรีย บาร์บี้พิมพ์นิยม และซาช่าได้พบว่าบาร์บี้แลนด์ได้กลายเป็นเคนแลนด์ อาณาจักรที่เหล่าเคนนั้นเปลี่ยนระแวกเพื่อนบ้านเป็นสังคมแบบปิตาธิปไตยที่ผู้จริงเป็นเพียงวัตถุทางเพศและรับใช้พวกเขาราวกับถูกล้างสมอง กลอเรียตัดสินใจไม่อยากข้องเกี่ยวแต่อัลลันกลับเตือนว่าเคนพยายามจะปิดทางเข้าออกระหว่างสองโลก และซาช่าที่เปลี่ยนมุมมองความคิดเรื่องบาร์บี้พูดปลุกใจเํธอ พวกเขาเดินทางมาที่บ้านของบาร์บี้เพี้ยนที่ซึ่งบาร์บี้พิมพ์นิยมหมดอาลัยตายยากร้องไห้ว่าเธอไม่มีดีอะไรเลย เธอเกิดมาเพื่ออะไรกันแน่ แต่กลอเรียได้พูดปลุกใจเธอ เธอร่วมมือกับกลอเรีย บาร์บี้เพี้ยน และบาร์บี้ที่ถูกทอดทิ้งเพื่อวางแผนทวงคืนบาร์บี้แลนด์จากเหล่าเคนร่วมกับเพื่อน ๆ โดยการค่อย ๆ ปลดแอกบาร์บี้จากการถูกล้างสมองด้วยความช่วยเหลือของกลอเรีย และปั่นหัวให้เคนแตกคอกันเอง

เคนและเคนอันธพาลเกิดความไม่พอใจกัน เป็นสงครามระหว่างสองฝ่ายที่ชายหาด ด้วยความช่วยเหลือจากเหล่าบาร์บี้ที่ร่วมมือร่วมใจกัน พวกเขาจัดตั้งรัฐธรรมนูญใหม่ให้บาร์บี้แลนด์ หลังจากการสงบศึก เหล่าบาร์บี้กลับมาเผชิญหน้ากับพวกเคน เคนสารภาพผิด เพราะความน้อยเนื้อต่ำใจที่เป็นได้แค่ผู้ชายประดับที่ไร้ตัวตนไม่มีความหมายในสายตาบาร์บี้พิมพ์นิยม บาร์บี้พิมพ์นิยมยอมให้อภัย แต่เธอยอมรับว่าเธอไม่สามารถมีความรู้สึกรักแบบแฟนกับเคน เพราะเํธอไม่ได้รักเขา แต่เขาก็ยังสามารถเป็นเคนในแบบที่ต่างออกไปสำหรับตัวเขาเอง แต่ตอนนี้พวกเขามีสิทธิ์กำหนดชีวิตตัวเอง เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง ทั้งคู่เป็นเพื่อนกัน หลังจากความผิดพลาดที่เขาและเหล่าเคนได้ก่อไว้กับบาร์บี้แลนด์ เพื่อสนับสนุนทุกคนในดินแดนอย่างเท่าเทียม เคนตัดสินใจที่จะค้นหาตัวตนของตัวเองอย่างอิสระ

บาร์บี้พิมพ์นิยมตอนนี้เผชิญกับวิกฤตอีกครั้งเกี่ยวกับบทบาทในอนาคตของเธอในฐานะบาร์บี้ ได้พบกับประธานบริหารบริษัทแมทเทลที่ตามมาถึงบาร์บี้แลนด์อีกครั้ง ก่อนจะถูกขัดจังหวะโดยรูธ แฮนด์เลอร์ ผู้ประดิษฐ์บาร์บี้พิมพ์นิยมซึ่งอธิบายต้นกำเนิดของบาร์บี้ให้เธอฟัง เธอเป็นตุ๊กตาที่สร้างจาก ความคิดของลูกสาวของเธอ แรงบันดาลใจของเธอที่มีต่อผู้หญิงทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมาครอบคลุมถึงต้นกำเนิดหลักของเธอ บาร์บี้พิมพ์นิยมซาบซึ้งกับความจริงว่าเธอมีไว้ทำอะไร บาร์บี้ต้นแบบจึงขอร้องให้รูธเปลี่ยนเธอให้เป็นมนุษย์และกลับสู่โลกจริง

ในเวลาต่อมา ซาช่า กลอเรีย และสามีของเธอได้พา บาร์บี้พิมพ์นิยมที่ตอนนี้ชื่อว่า บาร์บาร่า แฮนด์เลอร์ ตามชื่อผู้สร้างของเธอได้เดินทางไปหาสูตินรีแพทย์ด้วยกันเพื่อนัดหมายครั้งแรกด้วยความตื่นเต้นในการรับรู้ถึงการเป็นผู้หญิงบนโลกใบนี้ (ที่มา : วิกิพีเดีย)

  • ชื่อเรื่อง : Barbie (บาร์บี้)
  • แนว : แฟนตาซี / คอมเมดี้
  • ความยาว : 1 ชม. 54 นาที
  • นักแสดงนำ : มาร์โก้ ร็อบบี้, ไรอัน กอสลิ่ง, อเมริกา เฟอร์เรรา, เคต แม็คคินนอน
  • กำกับโดย: เกรตา เกอร์วิก
  • วันเข้าฉาย: 20 กรกฎาคม 2566 

     

        ประวัติความเป็นมาตุ๊กตา Barbie

 แฮนเลอร์ ได้รับแรงบันดาลใจที่จะประดิษฐ์ตุ๊กตาบาร์บี้ หลังจากเธอสังเกตเห็นว่า บาร์บาร่า ลูกสาวของเธอชอบเล่นตุ๊กตากระดาษ และชอบให้ตุ๊กตาเหล่านั้นทำสิ่งต่างๆ เหมือนที่ผู้ใหญ่ทำ รูธจึงเริ่มความคิดที่จะสร้างตุ๊กตาสาวที่มีรูปร่างเป็นผู้ใหญ่ แต่ในตอนแรกคนรอบกายของเธอไม่เห็นด้วย

ภาพ: Thoughtco

ต่อมา เมื่อแฮนเลอร์มีโอกาสได้เดินทางไปท่องเที่ยวในยุโรปในปี 1956 เธอก็ไปสะดุดตากับตุ๊กตา “ไบล์ด ลิลลี” ของเยอรมนี (ตุ๊กตารูปหญิงสาววัยทำงานที่วางจำหน่ายครั้งแรกในเยอรมนีปี 1955 โดยเป้าหมายทางการตลาดในตอนแรกต้องการ เจาะกลุ่มผู้ใหญ่ แต่กลับได้รับความนิยมในหมู่เด็กๆ มากกว่า) ซึ่งวางขายอยู่ในร้าน ขายของของสวิตเซอร์แลนด์และได้ซื้อกลับบ้านมา 3 ตัว โดยที่ตัวหนึ่งให้ลูกสาว ส่วนที่เหลือนำมาเป็นต้นแบบในการผลิตตุ๊กตาบาร์บี้

 

 

จากนั้น แฮนเลอร์ก็ได้ดัดแปลงเปลี่ยนโฉมตุ๊กตาลิลลีใหม่หมด พร้อมกับตั้ง ชื่อให้ว่า “บาร์บี้” ตามชื่อของลูกสาวเธอ หรือในชื่อเต็มว่า บาร์บี้ มิลลิเซ็น โรเบิร์ท (Barbie Millicent Roberts) ด้วยความช่วยเหลือของแจ๊ค ไรอัน (Jack Ryan) และนำตุ๊กตาที่ตั้งชื่อว่า “Barbie” นำไปออกแสดงในงาน American International Toy Fair ที่มหานครนิวยอร์ก ในวันที่ 9 มีนาคม 2502 (ความจริงบาร์บี้เป็นสาวราศีสิงห์) ซึ่งถือเป็นวันเกิดอย่างเป็นทางการของบาร์บี้มาจนถึงปัจจุบัน

บริษัท แมทเทล อิงค์ คือ ผู้ได้รับสิทธิในการผลิตบาร์บี้ โดยบาร์บี้รุ่นแรกมาในชุดว่ายน้ำลายทางขาวดำแบบม้าลาย ผมสีบลอนด์ยาวตรงและมีผมหน้าม้า เป็นตัวแทนของแฟชั่นวัยรุ่น เสื้อผ้าทุกชุดออกแบบโดยดีไซเนอร์ของแมทเทล เมื่อวางตลาดในปีแรกมียอดขายสูงกว่า 350,000 ตัว ถึงวันนี้ประมาณการว่ามีบาร์บี้กว่า 1,000 ล้านตัวที่วางขายใน 150 ประเทศทั่วโลก

ภาพ : Barbie Thailand Fanpage

 

และแล้วเรื่องราวของบาร์บีก็ถูกแต่งขึ้นเพื่อส่งเสริมการขายสาวน้อยผู้นี้มีชื่อจริงว่าบาร์บี้ มิลลิเซ็นต์ โรเบิร์ตส์ เป็นบุตรสาวของ นางมาร์กาเรต โรเบิร์ตส์ (Mrs.Mageret Roberts) และ นายจอช โรเบิร์ตส์ (Mr.Josh Roberts) เกิดที่ “Willow, Wisconsin ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาแม็ทเทลก็ส่งครอบครัวและเพื่อนๆมาเพิ่มบทบาทไม่ให้บาร์บีต้องโดดเดี่ยว เริ่มต้นด้วย เคน (เค็น คาร์สัน) แฟนหนุ่ม และครอบครัวของเธออันได้แก่น้องสาว 3 คน ชื่อว่า สกิปเปอร์ สเตซี และเชลซี (ชื่อเดิมคือ เคลลี) พร้อมทั้งเพื่อนสนิทอย่างมิดจ์ในปี ค.ศ. 1963 นอกจากนั้นบาร์บียังได้เข้าเรียนในระดับไฮสคูลที่โรงเรียนวิลโลวส์ในเมืองวิลโลวส์ รัฐวิสคอนซิน บาร์บีเริ่มออกเดทกับเคนในปี 1961 ทั้งสองเป็นคู่รักที่สวีทกันมาตลอดกว่า 40 ปี แต่เมื่อเดือนที่ผ่านมาก่อนวาเลนไทน์แค่ 2 วัน โฆษกของบริษัทแม็ทเทลก็สร้างความตกตะลึงแก่แฟนบาร์บีทั่วโลก ด้วยการประกาศข่าวการแยกทางของ บาร์บี้ และ เคน บาร์บี้ สาวน้อยที่มีคนหลงรักไปทั่วโลก เพราะเรื่องราวของเธอที่มีมากว่า 61 ปี นั้นเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและเข้ากับแต่ละวัยได้ตลอด

 

แม้กระทั่งยุคที่สถานะของ “กิ๊ก” กำลังระบาด สาวบาร์บี้ก็แอบมีกิ๊กจนเลิกกับแฟนหนุ่ม “เคน” ไปเป็นที่เรียบร้อย หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตสาวโสดอย่างสนุกสนานตามเทรนด์แฟชั่นที่เข้ามาในแต่ละปี (ที่มา : วิกิพีเดีย)

ภาพ : ภาพ : Barbie Thailand Fanpage/อินเทอร์เน็ต

Facebook Comments

Related post