Digiqole ad

น้ำ (ตา) ท่วมจ่อ น้ำ(ไม่)พักน้ำแรงจากทุกข์สยามสู่ยุคดิจิทัล (สกู๊ปปกอีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 400 วันที่ 6-12  ต.ค.66)

 น้ำ (ตา) ท่วมจ่อ น้ำ(ไม่)พักน้ำแรงจากทุกข์สยามสู่ยุคดิจิทัล (สกู๊ปปกอีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 400 วันที่ 6-12  ต.ค.66)
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 400 วันที่ 6-12  ตุลาคม 2566

หน้า 1 (ปก)

น้ำ (ตา) ท่วมจ่อ

หน้า 2-3

น้ำ(ไม่)พักน้ำแรงจากทุกข์สยามสู่ยุคดิจิทัล

            ขึ้นชื่อว่า “ภัย” ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นทั้งนั้น ไม่ว่าจะกับตัวเองหรือบ้านเกิดเมืองนอน แต่ภ้ยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย และป้องกันค่อยข้างยากนั่นคือ “ภัยธรรมชาติ” เหมือนเช่น “อุทกภัย” ภัยจากน้ำท่วม ที่กำลังเกิดขึ้นที่เมืองไทยในขณะนี้ ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนไปยังพี่น้องประชาชนหลายสิบจังหวัด และน้ำยังจ่อจะท่วมและท่วมหนักเพิ่มขึ้นอีก โดยไม่มีวี่แววมาจะลดลง หากย้อนกลับไปในอดีต “น้ำท่วม” ได้สร้างความเสียหายให้กับสยามประเทศไม่น้อยเลยทีเดียว

น้ำท่วมหนักครั้งแรก ปี 2328

ข้อมูลจากเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม ระบุว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในเมืองไทยในสมัยอดีตไม่ปรากฏในพงศาวดารแบบชัดเจน ส. พลายน้อย เล่าว่า มีปรากฏในจดหมายเหตุแบบประปรายหลายครั้งด้วยกัน นับตั้งแต่ครั้งแรกที่พบหลักฐานคือเมื่อพ.ศ. 2328 ช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ไปจนถึงปี พ.ศ. 2485 เลยทีเดียว

สำหรับเหตุการณ์ “น้ำท่วมใหญ่” ครั้งแรก ซึ่งมีปรากฏอยู่ในบันทึกนั้น เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2328 อันเป็นปีมะเส็ง หลังจากสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เสร็จไม่นานนัก พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 บันทึกว่า

“ลุจุลศักราช 1147 ปีมะเส็ง สัปตศก การสร้างพระนครการสร้างพระนคร และ พระมหาปราสาทราชนิเวศน์สำเร็จดังพระราชประสงค์ จึงทรงพระราชดำริว่าเมื่อปีขาลจัตวาศก ได้ทำการพระราชพิธีปราบดาภิเษกแต่โดยสังเขป ยังไม่พร้อมมูลเต็มตามตำรา และบัดนี้ก็ได้ทรงสร้างพระนครและพระราชมนเทียรสถานขึ้นใหม่ ควรจะทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้เต็มตามแบบแผนโบราณราชประเพณี จะได้เป็นพระเกียรติยศและเป็นศรีสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง เป็นที่เจริญสุขแก่ไพร่ฟ้าประชาราษฎรทั่วไปในพระราชอาณาเขต จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ และเสนาพฤฒามาตย์กระวีชาติราชบัณฑิตยาจารย์ ชีพ่อพราหมณ์ปรึกษาพร้อมกันเห็นสมควรแล้ว จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

อย่างไรก็ตาม พระราชพงศาวดารไม่ได้บรรยายถึงเหตุการณ์น้ำท่วมแบบชัดเจนนัก สมบัติ พลายน้อย บรรยายว่า ในจดหมายเหตุที่ค้นพบเล่าอุทกภัยครั้งนั้น (พ.ศ. 2328) ทำให้ระดับน้ำที่สนามหลวงลึกถึง 8 ศอก 10 นิ้ว นักวิชาการและนักเขียนด้านประวัติศาสตร์สันนิษฐานสาเหตุที่น้ำลึกขนาดนั้นว่า อาจเป็นเพราะสนามหลวงในช่วงเวลานั้นยังเป็นที่ลุ่ม

ขณะที่สภาพของพระบรมมหาราชวังก็มีสภาพน้ำท่วมท้องพระโรง ระดับน้ำที่ท่วมพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานวัดได้ 4 ศอก 8 นิ้ว สภาพแบบนี้ย่อมทำให้เสด็จออกขุนนางไม่ได้แล้ว และย้ายไปว่าราชการบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทที่พื้นพระที่นั่งสูงกว่าระดับน้ำ

สมบัติ พลายน้อย บรรยายในหนังสือ “เล่าเรื่องบางกอก” ว่า “การประชุมขุนนางครั้งนั้นลำบากไม่น้อย เพราะบรรดาข้าราชการแลพระบรมวงศานุวงศ์ต้องลอยเรือเข้าเฝ้า จอดเรือเทียบถึงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเลยทีเดียว”

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ยังบันทึกว่า เดือน 12 ปีนั้นเอง น้ำมากลึกถึง 8 ศอก 10 นิ้ว และยังบรรยายว่า ภัยที่เกิดขึ้นเป็นผลให้ข้าวกล้าในท้องนาเสียหาย “บังเกิดทุพภิกขภัย ข้าวแพงถึงเกวียนละชั่ง ประชาราษฎรทั้งหลายได้ความขัดสนด้วยอาหารกันดารนัก จึงมีพระราชโองการให้กรมนาจำหน่ายข้าวเปลือกในฉางหลวงออกแจกจ่ายราษฎรเป็นอันมาก” ซึ่งเหตุการณ์ข้าวแพงนี้ดำเนินต่อไปจนถึงปีมะเมีย พ.ศ. 2329

           “น้ำท่วมใหญ่” ครั้งต่อมาเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2362 ปีเถาะ น้ำท่วมพระนคร ระดับน้ำที่ท่วมสนามหลวง น้ำลึก 6 ศอก 8 นิ้ว และยังท่วมพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานจนเสด็จออกว่าราชการไม่ได้อีกด้วย และย้ายไปว่าราชการที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สมบัติ พลายน้อย บรรยายว่า น้ำท่วมครั้งนี้ยังตามมาด้วยปัญหาข้าวแพงจนประชาชนอดอยากกันด้วย ขณะที่น้ำท่วมเมื่อ พ.ศ. 2485 เป็นอีกครั้งที่หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง สถิติส่วนหนึ่งจากระดับน้ำหน้ากองรังวัดที่ดินธนบุรี ระดับน้ำสูง 2.27 เมตร

            มหาอุทกภัย ปี 2554 จมบาดาลเกือบทั้งประเทศ

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ได้เผยถึงบันทึกน้ำท่วมหนักใน ปี 2554 ว่าพื้นที่ประสบอุทกภัยและมีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2554 จนเดือนพฤศจิกายน รวมทั้งสิ้น 65 จังหวัด ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิต 657 ราย สูญหาย 3 คน ราษฎรเดือดร้อน 4,039,459 ครัวเรือน 13,425,869 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 2,329 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 96,833 หลัง พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 11.20 ล้านไร่ ถนน 13,961 สาย ท่อระบายน้ำ 777 แห่ง ฝาย 982 แห่ง ทำนบ 142 แห่ง สะพาน/คอสะพาน 724 แห่ง บ่อปลา/บ่อกุ้ง/หอย 231,919 ไร่ ปศุสัตว์ 13.41 ล้านตัว

ปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดอุทกภัย ปัจจัยทางธรรมชาติ 1.ฝนที่มาเร็วกว่าปกติและปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2554 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 35%  พายุ ปี 2554 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากพายุที่เคลื่อนตัวมาจากทะเลจีนใต้ ทั้งหมด 5 ลูก ได้แก่ พายุโซนร้อนไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก โดยพื้นที่ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด 2.ปริมาณน้ำไหลลงอ่างสะสมของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีข้อจำกัดในการระบายเนื่องจากสภาพน้ำท่วมในพื้นที่ท้ายเขื่อน 3.น้ำทะเลหนุนบริเวณอ่าวไทย ช่วงปลายเดือนตุลาคม กลางเดือนพฤศจิกายน และปลายเดือนพฤศจิกายน ทำให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างล่าช้า

ส่วนปัจจัยทางกายภาพ ได้แก่ 1. พื้นที่ต้นน้ำ มีป่าไม้รวมทั้งคุณภาพป่าไม้ลดลง 2. โครงสร้างน้ำไม่มีความยืดหยุ่นในการรับมือกับสถานการณ์ฝนในปัจจุบัน 3. ระบบโครงสร้างป้องกันน้ำท่วมมีประสิทธิภาพลดลง จากการทรุดตัวของพื้นที่ ขาดการบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนไป 4. ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีศักยภาพการป้อนน้ำเข้าสู่ระบบสูบและอุโมงค์ระบายน้ำไม่สมดุลกับศักยภาพของระบบสูบและอุโมงค์ 5. สะพานหลายแห่งเป็นปัญหาต่อการระบาย จากขนาดตอม่อใหญ่ ช่องสะพานขวางทางน้ำ 6. สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น คลองเปรมประชากร และคลองลาดพร้าว

สุดท้ายคือปัจจัยทางด้านการบริหารจัดการน้ำ 1. พื้นที่หน่วงน้ำในภาคเหนือตอนล่างขาดการดูแลและถูกรุกล้ำ ทำให้ความจุหน่วงน้ำลดลง เช่น บึงบอระเพ็ด บึงสีไฟ 2. การผันน้ำออกทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปอย่างไม่เต็มศักยภาพสูงสุด 3. ปริมาณน้ำระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ไหลมายังเขื่อนพระรามหก ไม่ได้ผันเข้าสู่คลองระพีพัฒน์แยกใต้อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้น้ำส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่อำเภอพระนครศรีอยุธยา 4. คลองระพีพัฒน์ไม่สามารถผันน้ำเข้าทุ่งตะวันออกได้ และในทางกลับกัน เรือกสวนไร่นาในทุ่งตะวันออกกลับสูบน้ำเข้าสู่คลองระพีพัฒน์ 5. ปัญหาการบริหารการระบายผ่านแนวรอยต่อที่มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ 6. ประชาชนและองค์กรส่วนย่อย สร้างพนังและคันของตัวเอง ทำให้การระบายในภาพรวมไม่สามารถดำเนินการได้

            ปี 2566 น้ำท่วมยุคจิทัล

            มาถึงสถานการณ์น้ำท่วมหนักในปีนี้และขณะนี้ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้รับแจ้งจากกรมชลประทาน ว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมบริเวณภาคเหนือ ส่งผลให้น้ำในลำน้ำเพิ่มมากขึ้น และมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำปริมาณมาก ซึ่งไม่กี่วันที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้

กอปภ.ก. จึงได้ประสาน 10 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร ตลอดจนประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม

นอกจากนี้ ยังได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำและแนวป้องกันน้ำท่วมให้มีความแข็งแรง เพื่อป้องกันระดับน้ำล้นข้ามแนวคันกั้นน้ำ อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

            นายกฯ สั่งการแก้ปัญหาเชิงรุก

            นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยคณะรัฐมนตรีให้ความสนใจเรื่องสถานการณ์น้ำในขณะนี้เป็นลำดับแรก กำชับทุกหน่วยงานดูแลและช่วยเหลือประชาชน นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงน้ำในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยย้ำต้องป้องกันและทำงานเชิงรุก โดยเชื่อว่าหากการบริหารจัดการได้ดีจะช่วงสร้างความมั่นใจและจูงใจดึงดูดนักลงทุนได้

1.นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้นำเรื่องสถานการณ์อุทกภัยมาพิจารณาเป็นลำดับแรก โดยสั่งการให้รัฐมนตรีทุกท่าน รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในแต่ละพื้นที่ดูแลความเดือดร้อนของประชาชน มาตรการเยียวยาความเสียหายจากอุทกภัยพื้นที่การเพาะปลูก รวมถึงการผันน้ำระบายในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะต้องไปคุยกันต่อและไม่อยากให้ทำงานแบบวัวหายล้อมคอก โดยวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม จะเดินทางไปตรวจสถานการณ์น้ำที่อุบลราชธานี เนื่องจากดูจากแผนที่ของกรมชลประทานเมื่อวานนี้ก็มีความกังวล เพราะบางพื้นที่มีน้ำเกินความจุและเริ่มเอ่อล้น จึงขอให้ในพื้นที่ได้เตรียมแผนงานเอาไว้ เพราะในจังหวัดอุบลราชธานีปีที่แล้วก็ท่วมนาน ซึ่งวันนี้ ทั้งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี และนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ได้รายงานความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วมในที่ประชุม และรัฐบาลก็จะมีแผนงานบูรณาการทั้งในระยะกลางและระยะยาวที่จะทำให้ไม่ท่วมไม่แล้ง

 

2.นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในเรื่องสถานการณ์น้ำจะมีอยู่ 4 ส่วนที่กังวล คือ ส่วนแรกน้ำอุปโภคบริโภคซึ่งมีเพียงพอ ส่วนสองน้ำรักษาระบบนิเวศก็มีการจัดการอยู่ แต่น้ำในส่วนที่สาม คือน้ำเพื่อการเกษตร เพราะตอนนี้ท่วมอีก 6 เดือนแล้ง จึงต้องมีการบริหารการ และหากระบายน้ำมากเกินไปก็จะทำให้น้ำแล้ง จึงจำเป็นต้องใช้ช่วงที่ฝนตกนี้ระบายน้ำเพื่อกักเก็บไว้ในแหล่งที่เหมาะสม และส่วนที่สี่ คือการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมไฮเทค หรืออุตสาหกรรมใหม่ที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำมาก ซึ่งในปัจจุบันนี้เรายังเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานปริมาณน้ำใช้จึงยังมีเพียงพอ เราจึงต้องทำงานแบบป้องกันและทำงานเชิงรุก และเชื่อว่า ถ้าเราบริหารจัดการได้ดี จะเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทคสนใจมาลงทุน และช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมเราได้ ดังนั้นเรื่องการบริหารจัดการน้ำในภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นเรื่องที่ปล่อยปละละเลยไม่ได้

3.นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้หารือกับรองอธิบดีกรมชลประทาน และอธิบดีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับภาคเอกชน เช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ให้คำแนะนำว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องการน้ำที่ไหนเมื่อใดและอย่างไร ซึ่งหลังจากนี้ไปจะได้พูดคุยกันเรื่องใกล้ชิดและต่อเนื่องต่อไป

            เตรียมพร้อม 5 ด้าน รับมือและช่วยเหลือ

           นอกจากนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมรับฟังบรรยายสรุปสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ น. ณ ห้องประชุมศูนย์ปฎิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน โดยนายกรัฐมนตรี ได้ขอขอบคุณทุกเจ้าหน้าที่จากทุกหน่วยงานที่ร่วมกันทำงานกันอย่างอย่างหนักตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามสถานการณ์และดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ ซึ่งตนได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาตลอดและเป็นห่วงพี่น้องประชาชน และวันนี้ต้องมาดูด้วยตัวเองที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำแห่งนี้เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำแบบ Real-time รับฟังข้อติดขัดในการปฏิบัติงาน เพื่อช่วยให้ทุกหน่วยงานได้ทำงานอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพที่สุด ที่สำคัญคืออยากมาให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานทุกท่าน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้เชิญสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ กรมอุตุนิยมวิทยา และ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อไม่ให้รบกวนหน้างานที่ทุกฝ่ายกำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อประเมินสถานการณ์และร่วมกันแก้ไขปัญหาให้การทำงานคล่องตัวที่สุด เบื้องต้นเป็นห่วงสถานการณ์ในจังหวัดลำปาง แพร่ และอุบลราชธานี ถึงแม้สถานการณ์จะคลี่คลายแล้วแต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด และดูแลฟื้นฟู ซ่อมแซมบ้านเรือนของพี่น้องที่เสียหายอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดสุโขทัย ที่กำลังต้องรับมวลน้ำที่ไหลจากจังหวัดแพร่ซึ่งเริ่มไหลเข้าพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ตัวเมืองบางส่วนแล้ว นอกจากนี้ยังได้ย้ำเรื่องสำคัญ คือการวางแผนรับมือกับมวลน้ำที่จะเข้ามาอีกระลอก ซึ่งจะซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลงไปกว่าเดิม การประชุมวันนี้ขอให้ทุกท่านให้ความเห็นอย่างเต็มที่ หากมีปัญหาติดขัดอะไรขอให้พูดตรงๆ เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดและทันสถานการณ์

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. สถานการณ์น้ำ ให้กรมชลประทานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดจราจรน้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ลุ่มน้ำยม-น่าน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2. ให้หน่วยงาน ได้แก่ จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรมชลประทาน ตรวจสอบความมั่นคงของพนังกั้นน้ำ สะพาน และอาคารชลประทาน ให้มีความมั่นคง และพร้อมใช้งานตลอดช่วงฤดูน้ำหลาก 3. การช่วยเหลือ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเช่น เร่งซ่อมแชมที่ อยู่อาศัย กำจัดขยะที่ มากับน้ำ และตามที่ประชาชนร้องขอโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บูรณาการระดมสรรพกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทัพ หน่วยงานท้องถิ่น 4. พยากรณ์อากาศ ให้กรมอุตุนิยมวิทยาติดตามสภาพอากาศ และแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและแจ้งเตือนสภาพอากาศกับประชาชน เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด และ 5. การแจ้งเตือน ให้กรมชลประทานร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประชาสัมพันธ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนในพื้นที่ให้ทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

 

            สธ.จับตาโรคและภัยที่มากับน้ำท่วม

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 12 จังหวัด จัดบริการทางการแพทย์ดูแลประชาชนต่อเนื่อง โดยส่วนกลางพร้อมให้การสนับสนุน กำชับเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม รวมไปถึงอุบัติเหตุและสัตว์มีพิษ

นพ.ชลน่าน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.-1 ต.ค.66 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบสะสม 28 จังหวัด ส่วนใหญ่สถานการณ์เริ่มกลับสู่ปกติ ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 12 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ ตาก สุโขทัย กาฬสินธุ์ ยโสธร อุบลราชธานี และปราจีนบุรี ส่วนใหญ่ระดับน้ำลดลงแล้ว ยกเว้นเพชรบูรณ์ระดับน้ำยังทรงตัว ส่วนกาฬสินธุ์และอุบลราชธานี ระดับน้ำยังเพิ่มขึ้น โดยสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 11 แห่ง เป็นโรงพยาบาล 2 แห่ง สาธารณสุขอำเภอ 1 แห่ง และ รพ.สต. 8 แห่ง โดยสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ 10 แห่ง มีเพียง 1 แห่ง ที่ต้องปิดบริการ คือ รพ.สต.บ้านต้นธง อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง

นอกจากนี้ รมว.สธ.ยังได้กำชับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่อุทกภัยทุกแห่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประสานหน่วยงานการแพทย์ฉุกเฉินหรือมูลนิธิในการเข้าช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน พร้อมทั้งเฝ้าระวังและป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม 3 กลุ่ม ทั้งพื้นที่น้ำท่วมและหลังน้ำลด คือ

กลุ่มโรคติดเชื้อ ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า โรคผิวหนังจากเชื้อรา โรคตาแดงจากเชื้อไวรัส โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ และโรคไข้ฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส กลุ่มสัตว์ แมลงมีพิษกัดต่อย เช่น งู แมลง ปลิง เป็นต้น และ กลุ่มอุบัติเหตุอื่น ๆ ได้แก่ จมน้ำ ไฟฟ้าดูด วัตถุแหลมคม โดยเน้นให้ความรู้ประชาชนหลีกเลี่ยงการลุยน้ำย่ำโคลน หากจำเป็นให้สวมรองเท้าบูท ถึงบ้านแล้วให้อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด รับประทานอาหารสุกร้อน ล้างมือก่อนรับประทานอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร หากมีอาการเจ็บป่วยทางเดินหายใจให้สวมหน้ากากอนามัย ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน

ทั้งนี้หน่วยงานสาธารณสุขทุกพื้นที่ได้เตรียมจัดบริการทางการแพทย์ จัดตั้งโรงพยาบาลสนามเมื่อจำเป็น และสำรองยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ โดยยังคงให้การดูแลผู้ประสบอุทกภัยต่อเนื่อง เช่น ที่จังหวัดอุบลราชธานี ให้บริการตรวจรักษา 79 ราย พบเป็นโรคน้ำกัดเท้า 38 ราย ไข้หวัด 40 ราย และอุจจาระร่วง 1 ราย ประเมินสุขภาพจิต 99 ราย พบมีอาการเครียดเล็กน้อย 14 ราย ที่จังหวัดลำปาง ได้จัดทีมเฝ้าระวังสอบสวนควบคุมโรคในพื้นที่ระดับอำเภอ (CDCU) / ทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค (JIT) 5 ทีม และทีมเยียวยาจิตใจ MCATT 5 ทีม ออกเยี่ยมบ้าน 65 ครัวเรือน ประเมินสุขภาพจิต 22 ราย ยังไม่พบผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ขณะที่ส่วนกลางได้สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ให้กับจังหวัดอุดรธานีและอุบลราชธานี จังหวัดละ 1,500 ชุด รวม 3,000 ชุด และพร้อมให้การสนับสนุนทุกพื้นที่ทันทีเมื่อได้รับการประสาน

ปี 2572 เจอศึกหนักยิ่งกว่า ปี 2554

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต ให้ข้อมูลกับไทยรัฐออนไลน์เมื่อเร็ว ๆนี้ ว่า สาเหตุจาก “อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น 1.15 องศาฯ” แล้วคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะแตะ 1.5 องศาฯ ทำให้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับภัยแล้งในรอบ 10 ปี และเกิดน้ำท่วมใหญ่ช่วงปี 2572-2573 รุนแรง  “ปีแห่งการเข้าสู่ลานีญาปริมาณฝนจะดีดกลับรุนแรง” ตามแบบจำลองจะเห็นเลยว่า “มีโอกาสเกิดน้ำท่วมใหญ่เสียหายหนักกว่าปี 2554” โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ นครราชสีมา อุบลราชธานี เพราะด้วยปัจจุบันรัฐบาลยังไม่มีแผนในการรับน้ำท่วมเลยด้วยซ้ำ ยกเว้นการยกถนนที่เป็นวิธีไม่ใช่การแก้ปัญหาแต่จะยิ่งทำให้ระดับน้ำยกสูงขึ้นกว่าเดิม สังเกตจากปีที่แล้ว “ปริมาณฝนตกน้อยกว่าปี 2554” กลับเกิดน้ำท่วมหนักใน จ.อุบลราชธานี และ จ.พระนครศรีอยุธยา อย่างผิดปกติ

ดังนั้นทางรอดมีทางเดียวคือ “การปรับตัวให้อยู่กับน้ำ” ด้วยการออกแบบเมืองให้มีที่ให้น้ำอยู่อย่างเพียงพอ เริ่มจากมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง(Nature-based solutions) และมาตรการเชิงโครงสร้าง Green dike พิจารณาให้เหมาะสมกับภัยคุกคามรหัสแดงจากบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น

นี่คือฉากทัศน์ “สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในอนาคต” จากนี้อุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างไม่มีขีดจำกัด ความชื้นในดิน และปริมาณฝนลดลง การระเหยน้ำเพิ่มขึ้น ระดับน้ำทะเลสูง แล้วไม่มีประเทศใดจะหลุดรอดไปจากภัยคุกคามนี้เพียงแต่ประเทศมีภูมิคุ้มกันเท่านั้นที่จะสามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้

ภาพ : อินเทอร์เน็ต,ศิลปวัฒนธรรม,อมรินทร์ทีวี,เพจพรรคเพื่อไทย

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 400 วันที่ 6-12  ตุลาคม 2566

หน้า 1 (ปก)

น้ำ (ตา) ท่วมจ่อ

หน้า 2-3

น้ำ(ไม่)พักน้ำแรงจากทุกข์สยามสู่ยุคดิจิทัล

https://book.bangkok-today.com/books/hdog/

(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

 

 

 

 

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post