Digiqole ad

นายกรัฐมนตรีฯ ร่วมประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566

 นายกรัฐมนตรีฯ ร่วมประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566
Social sharing
Digiqole ad
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 คณะกรรมการฯ ผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เสนอแผนผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ด้วยการขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ One Family One Soft Power (OFOS) และ Thailand Creative Content Agency (THACCA) สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง สร้างรายได้อย่างน้อย 4 ล้านล้านต่อปี และชูไทยเป็นผู้นำด้านซอฟต์พาวเวอร์ของโลก
.
1. นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการหารือระหว่าง ส่วนราชการ ภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาการขับเคลื่อน Soft power ประเทศไทยอย่างบูรณาการ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริม Soft power ของไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นว่าเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ อีกทั้งการส่งเสริมความเชื่อมั่นในเวทีโลก ซึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ประกอบด้วยภาครัฐ เอกชน และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ประเทศไทย มีเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการ แผนงาน และมาตรการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบสูง ผ่านคอนเทนต์ 11 อุตสาหกรรม Soft power เป้าหมายของประเทศไทย โดยจะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง
.
2. นางสาวแพทองธาร ได้เสนอแผนผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยจะเร่งขับเคลื่อน 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ One Family One Soft Power (OFOS) และ Thailand Creative Content Agency (THACCA) ยกระดับทักษะคนไทย 20 ล้านคน เป็นแรงงานทักษะขั้นสูงและสร้างสรรค์ สร้างรายได้ 4 ล้านล้านบาท สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง สร้างเศรษฐกิจเติบโตยั่งยืนและประเทศไทยจะเป็นผู้นำด้านซอฟต์พาวเวอร์ของโลก
.
3. แนวคิดการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย นโยบาย OFOS และ THACCA แบ่งขั้นตอนการดำเนินการเป็น 3 ขั้น ได้แก่
.
ขั้นที่ 1 พัฒนาคนผ่านกระบวนการบ่มเพาะศักยภาพ เฟ้นคนมีความสามารถ 20 ล้านคนจาก 20 ล้านครัวเรือน ลงทะเบียนกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเพื่อบ่มเพาะผ่านศูนย์บ่มเพราะทักษะสร้างสรรค์ ทั้งการทำอาหาร ฝึกมวยไทยวาดภาพศิลปะ ร้องเพลงออกแบบแฟชั่นฝึกแข่ง e-sport และอื่น ๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
.
ขั้นที่ 2 การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สาขาต่าง ๆ ภายในประเทศ 11 สาขา ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบและแฟชั่น กำหนดให้เป็นหน้าที่ขององค์กร THACCA ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นในอนาคต ปรับแก้กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย สร้าง One Stop Service อำนวยความสะดวก พร้อมกับสนับสนุนเงินทุนวิจัยและพัฒนา รวมทั้งจะมีการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบหรือ TCDC ในทุกจังหวัด เพิ่มพื้นที่ Co-Working Space ส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ การพบปะกันเพื่อริเริ่มไอเดียสร้างสรรค์ และต่อยอดเป็นซอฟต์พาวเวอร์ตั้งแต่ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับประเทศ
.
ขั้นที่ 3 การนำอุตสาหกรรมชอฟต์พาวเวอร์รุกสู่เวทีโลก จะเดินหน้าผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศสู่ระดับสากลด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมมือกับภาคเอกชนนำซอฟต์พาวเวอร์ของไทยเผยแพร่สู่ตลาดโลกผ่านยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนด้วยการวิจัยข้อมูลเชิงพฤติกรรม กลยุทธ์การสื่อสาร และการร่วมจัดกิจกรรมในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งสามารถทำได้ทั้งที่เป็นกิจกรรมระดับโลกซึ่งจัดภายในประเทศ และการนำซอฟต์พาวเวอร์ศักยภาพสูงเข้าร่วมกิจกรรมระดับโลกในต่างประเทศ
.
4. นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า นับจากวันนี้ รัฐบาลได้เริ่มนับหนึ่งการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศแล้ว และได้กำหนดเป้าหมายระยะ 100 วัน 6 เดือน และ 1 ปี คือ
.
-ภายใน 100 วัน หรือ 11 มกราคม 2567 กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจะพร้อมให้ประชาชนลงทะเบียนแสดงความสนใจเข้ารับการบ่มเพาะ จะมีการปรับปรุงศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ พร้อมกับการปรับเปลี่ยนกฎหมายบางส่วนในระดับกฎกระทรวงหรือพระราชกฤษฎีกา ให้ส่งเสริมและสอดรับการดำเนินงานตามนโยบาย และจะร่วมจัด Winter Festival เทศกาลฤดูหนาวกับกรุงเทพมหานครอย่างยิ่งใหญ่ และ
.
-ภายใน 6 เดือน หรือภายในวันที่ 3 เมษายน 2567 จะเริ่มต้นกระบวนการบ่มเพาะศักยภาพคนผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ พร้อมเสนอร่างพระราชบัญญัติ THACCA เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จะมีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ทั้งประเทศให้เป็นเทศกาลระดับโลก หรือ World Water Festival และจัดงานซอฟต์พาวเวอร์ฟอรัมนานาชาติ เพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์ของคน ในวงการซอฟต์พาวเวอร์ทั้งระดับประเทศและระดับโลก
.
-ภายใน 1 ปี หรือวันที่ 3 ตุลาคม 2567 กระบวนการบ่มเพาะศักยภาพคน จะสามารถสร้างแรงงานทักษะสูงและแรงงานสร้างสรรค์ ได้จำนวนอย่างน้อย 1 ล้านคน และคาดว่าร่างพระราชบัญญัติ THACCA จะได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาต่อไป รวมไปถึงการส่งเสริมการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติและเทศกาลดนตรีนานาชาติ สนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในสาขาต่าง ๆ ไปร่วมงานในระดับโลก
.
5. นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า ในช่วงตุลาคมถึงธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้ อาทิ จีน มาเลเซีย และอินเดีย และตลาดระยะไกล อาทิ รัสเซีย คาซัคสถาน และกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งรัฐบาลได้มีการกระตุ้นการท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มประเทศเป้าหมายเฉพาะไว้แล้ว ขอให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เร่งเตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงกีฬาอย่างมวยไทย และเทศกาลภาพยนตร์ ดนตรี และอาหาร เป็นต้น
.
6. ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ในวันนี้ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนา ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะอนุกรรมการฯ 11 สาขา ได้แก่ สาขาแฟชั่น, สาขาหนังสือ , สาขาภาพยนตร์ ,สาขาเฟสติวัล, สาขาอาหาร , สาขากีฬา ,สาขาออกแบบ, สาขาท่องเที่ยว สาขาดนตรี, สาขาเกม และสาขาศิลปะ โดยกรรมการผู้รับผิดชอบอุตสาหกรรมด้านซอฟต์พาวเวอร์แต่ละด้านได้ร่วมเสนอแผนงานในด้านต่างๆ อาทิ
.
นายชุมพล แจ้งไพร กรรมการภาคเอกชนตัวแทนผู้ขับเคลื่อน Soft power สาขาอาหาร เสนอ 9 โครงการ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารไทยในระยะ 100 วัน – 1 ปี อาทิโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย เป็นการส่งเสริมอาหารไทยในชมชน ใช้อาหารเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว
.
นางสาวกมลนาถ องค์วรรณดี กรรมการภาคเอกชนตัวแทนผู้ขับเคลื่อน Soft Power สาขาแฟชั่น เสนอยกระดับแฟชั่น สู่ Lifestyle ใหม่ที่เน้นคุณค่า คุณภาพ และความคิดสร้างสรรค์ แผนระยะ 100 วันเสนอ ผลักดันแบรนด์ที่พร้อมสู่เวทีโลก,พัฒนาคน ความรู้ทรัพย์สินทางปัญญา แผนระยะ 6 เดือนสร้างกระแสแบรนด์ Local และเพิ่มช่องทางจําหน่าย และในระยะ 1 ปี จัด Expo & พาไปงานจัดแสดงนานาชาติ
.
นางชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการภาคเอกชน ตัวแทนผู้ขับเคลื่อน Soft power สาขาเฟสติวัล กล่าวว่า ในแผนการ 100 วันจะสร้างการรับรู้งาน festival ของไทยสู่สายตาชาวโลก ทั้งในระดับ Nation wild และ Signature event ระยะ 1 ปี ตั้งเป้าหมายให้ไทยติด 1 ใน 10 ประเทศสุดยอด festival โลก มีการจัดอีเวนท์และงาน festival 10,000 กิจกรรม 365 วัน โดยรัฐและเอกชน ทุกจังหวัดมีการจัด Signature event และ World event ไม่ต่ำกว่า 20 กิจกรรม ตั้งเป้าเพิ่มนักท่องเที่ยว 30 ล้านคน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1.5 ล้านล้านบาท เป็นต้น
.
สามารถรับชมบันทึกการถ่ายทอดสดการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=1WmsjlJuoRc
.
Facebook Comments

Related post