Digiqole ad

ทำความรู้จักร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ของพรรคก้าวไกล

 ทำความรู้จักร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ของพรรคก้าวไกล
Social sharing

Digiqole ad
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ที่เสนอโดยภาคประชาชน (นำโดย ศักดิ์ดา แสนมี่) ซึ่งในการประชุมครั้งก่อนหน้า (14 ธ.ค.) สส. ได้อภิปรายแสดงความเห็นเสร็จสิ้นแล้ว ควรมีการลงมติวาระ 1 หรือขั้นรับหลักการในวันที่ 20 ธ.ค.
.
แต่เมื่อจะลงมติ มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ในฐานะตัวแทนจากรัฐบาล ได้เสนอต่อสภาฯ ขอนำร่างกฎหมายกลับไปศึกษาก่อนไม่เกิน 60 วัน ตามข้อบังคับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 118
.
[ อ้างหลักการตรงกับร่างของรัฐบาล ]
.
ตัวแทนรัฐบาลให้เหตุผลว่า หลักการของร่างจากภาคประชาชน มีความสอดคล้องกับร่างของรัฐบาลที่กระทรวงวัฒนธรรมกำลังเตรียมนำเสนอ รวมถึงมีหลักการทำนองเดียวกันกับร่างอื่นๆ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เสนอโดยเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เสนอโดยภาคประชาชน (นำโดย สุริยันต์ ทองหนูเอียด)
.
นอกจากนี้ ร่างสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ ยังเป็นร่างเกี่ยวด้วยการเงิน ซึ่งอยู่ระหว่างรอนายกรัฐมนตรีให้คำรับรอง ดังนั้นเพื่อความรอบคอบในการพิจารณา ครม. จึงขอรับร่างของภาคประชาชนไปพิจารณา ก่อนส่งกลับให้สภาฯ ลงมติวาระ 1
.
[ ก้าวไกลขอคำยืนยัน รัฐบาลจะรับทุกร่าง ]
.
จากนั้น พรรคก้าวไกลโดย ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ ลุกขึ้นใช้สิทธิแสดงความเห็น ขอคำยืนยันจากรัฐบาลใน 3 ประเด็นสำคัญ
.
🔥(1) ครม. ตรวจหมดทุกร่าง เห็นว่ามีหลักการทำนองเดียวกัน และจะรับหลักการแน่ๆ ใช่หรือไม่?
.
สำหรับร่างของพรรคก้าวไกลและร่างของภาคประชาชนนั้น พบว่าเขียนคล้ายกัน แต่มีบางร่างที่ใช้คำว่า “อนุรักษ์และคุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธ์ุ” จึงต้องการทราบว่าตามที่รัฐบาลศึกษาเบื้องต้น ชัดเจนแล้วใช่หรือไม่ว่าทุกร่างมีหลักการในทำนองเดียวกัน
.
อีกทั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย พูดชัดเจนว่าจะรับหลักการร่างนี้ เพียงแค่เตรียมรายชื่อกรรมาธิการไม่ทัน แต่วันนี้ทุกฝ่าย ทั้งพรรคก้าวไกลและภาคประชาชน เตรียมมาแล้วและมีความพร้อม เลยไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นกันแน่ พรรคฟากรัฐบาลยังยืนยันจะรับหลักการแน่อยู่หรือไม่
.
🔥(2) ที่บอกว่าเป็นร่างการเงิน นายกฯ จะเซ็นแน่ๆ ใช่หรือไม่? ขอให้เป็นพันธสัญญาระหว่างรัฐมนตรีกับสภาฯ ว่า ครม. โดยนายกฯ จะลงนามทุกฉบับที่เหลือแน่ๆ
.
🔥(3) ร่างกลับมาที่สภาฯ ในระยะเวลาที่ไม่นานเกินไปได้หรือไม่? เช่น จากสัปดาห์ที่แล้วถึงวันนี้ ผ่านมา 7 วัน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะคงเหลือเวลาศึกษาร่างให้น้อยกว่า 60 วัน เพื่อความรวดเร็ว
.
ขณะที่มานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นพูดโดยสรุป ขอให้สภาฯ บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ ว่าเจตนาแรกของผู้เสนอร่างทั้งหมด ต้องการให้ทุกร่างเข้าพิจารณาพร้อมกัน และกรณีมีกฎหมายจากภาคประชาชนเข้ามา ไม่อยากให้เกิดบรรยากาศแบบนี้ ที่ร่างของประชาชนพร้อมแล้ว แต่ร่างของ ครม. กลับไม่พร้อม ทั้งที่ถ้าดูจากระยะเวลา ครม. ก็ควรทราบอยู่แล้วว่าร่างของภาคประชาชนได้บรรจุวาระในช่วงใด ครั้งนี้จึงสะท้อนถึงความล่าช้าที่เกิดจากฝ่ายบริหารเอง
.
แต่ในที่สุด ที่ประชุมสภาฯ มีมติให้ ครม. รับร่างสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ ของภาคประชาชน ไปพิจารณา ก่อนที่สภาฯ จะลงมติรับหลักการ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน
.
[ สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ยังถูกกดทับ ]
.
สำหรับร่างกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ฯ ของพรรคก้าวไกล ต้องการสร้างความตระหนักแก่ผู้ใช้อำนาจ สร้างกลไกเพื่อส่งเสริมสนับสนุน คุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์
.
ปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 60 กลุ่ม รวมประชากรกว่า 6 ล้านคน คิดเป็นเกือบร้อยละ 10 ของประชากรในประเทศ
.
แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติเรื่องสิทธิโอกาสความเสมอภาคเท่าเทียม แต่กลุ่มชาติพันธุ์ยังคงถูกเลือกปฏิบัติและเผชิญปัญหาจากนโยบายที่ไม่เป็นธรรม ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากอคติที่เป็นผลจากการประกอบสร้าง ผลิตซ้ำ และตอกย้ำอัตลักษณ์ที่เป็นลบของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่องยาวนาน จนเชื่อว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็น “คนอื่น” ที่แตกต่างจากคนไทย ถูกมองว่ามีพฤติกรรมบางอย่างเป็นภัยต่อสังคม เช่น เป็นคนที่อพยพเข้ามา เป็นภัยความมั่นคง เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทำลายป่า
.
เมื่อความคิดความเชื่อเหลานี้ฝังอยู่ในสำนึกของคน โดยเฉพาะผู้ใช้อำนาจรัฐ ความคิดจึงมีอิทธิพลต่อการบัญญัติกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการตีความกฎหมาย นำไปสู่การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของพี่น้องชาติพันธุ์ เช่น ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย กระทบต่อโอกาสการเข้าถึงการพัฒนาในด้านต่าง ๆ
.
🍊[ กฎหมายชาติพันธุ์ก้าวไกล เพื่อพี่น้องชาติพันธุ์ เท่าเทียมกับคนทุกคน ]🍊
.
ร่างกฎหมาย “ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง” ของพรรคก้าวไกล มีหัวใจสำคัญแบ่งเป็น 3 ส่วน
.
📌ส่วนที่หนึ่ง คือการบัญญัติรับรองสิทธิ ห้ามการเลือกปฏิบัติหรือกระทำการใดๆ ที่เป็นการสร้างความเกลียดชัง และอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น รับรองสิทธิทางวัฒนธรรมและการศึกษา สิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในการกำหนดตนเอง สิทธิในความเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
.
📌ส่วนที่สอง คือการจัดโครงสร้าง ตั้ง “คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งชาติ” ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและวิถีชีวิตชาติพันธุ์ เช่น
– กำหนดนโยบาย มาตรการ ระเบียบและแผนปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ในทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
– ประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
– แต่งตั้งคณะกรรมการฯ ในระดับจังหวัดเพื่อติดตามปัญหา
.
📌ส่วนที่สาม คือการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อนำไปสู่การออกระเบียบใหม่ แก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนเขตป่า ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่กระทบสิทธิวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
.
หลักการสำคัญคือ เมื่อประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแล้ว สมาชิกชุมชนจะมีสิทธิอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติตามระเบียบที่กำหนดขึ้นตามกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาชีพ ที่ไม่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสียหาย
.
โดยสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากร ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนให้แก่บุคคลภายนอกได้ แต่สามารถสืบทอดทางมรดกแก่ทายาทหรือสมาชิกของชุมชนได้
.
ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ของพรรคก้าวไกล มุ่งหวังให้สิทธิและโอกาสของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ได้เสมอภาคเท่าเทียมกับคนทุกคน เราจึงหวังว่านายกฯ จะเซ็นรับรองให้ทุกร่างได้เข้าสภาฯ โดยเร็วที่สุด และที่ประชุมสภาฯ โดยเฉพาะ สส. จากฟากรัฐบาล จะลงมติรับหลักการให้ทุกร่างได้ไปต่อในขั้นกรรมาธิการ
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post