Digiqole ad

ถ้าประเทศนี้มีกฎหมายแข่งขันการค้าฉบับก้าวไกล จะปิดช่องการควบรวมที่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ ส่วนผู้บริโภคต้องรับกรรม!

 ถ้าประเทศนี้มีกฎหมายแข่งขันการค้าฉบับก้าวไกล จะปิดช่องการควบรวมที่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ ส่วนผู้บริโภคต้องรับกรรม!
Social sharing

Digiqole ad
การแถลงข่าวโดยสำนักงาน กสทช. เมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.) เกี่ยวกับผลกระทบจากการควบรวม ‘TRUE-DTAC’ ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ระงมว่า รักษาการเลขาธิการสำนักงาน กสทช. ชี้แจงราวกับเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทดังกล่าวเสียเอง ไม่ว่าจะเป็น
.
(1) อัตราค่าบริการลดลงจริง 12% 🤨
– กสทช. กำหนดเงื่อนไขว่าหลังควบรวมกิจการ ทางบริษัทต้องลดอัตราค่าบริการโดยเฉลี่ยลง 12% ภายใน 90 วัน ทางสำนักงาน กสทช. บอกว่าตรวจสอบแล้ว ยืนยันบริษัททำตามเงื่อนไข ค่าบริการลดลงจริง ๆ
.
(2) ไม่มีการบังคับเปลี่ยนโปรแพงขึ้น 🤨
– สำนักงาน กสทช. แจ้งว่าไม่มีการบังคับผู้บริโภคให้เลือกแพ็กเกจที่แพงขึ้น หากต้องการใช้งานแพ็กเกจเดิมก็ยังสามารถเลือกได้อยู่
.
(3) แพ็กเกจเน็ตราคาถูกไม่ได้หายไป แค่ผู้บริโภคไม่ได้ถาม!?! 🤨
– สำนักงาน กสทช. บอกว่าจากการตรวจสอบ แพ็กเกจเน็ต 299 บาทยังอยู่ เพียงแต่เมื่อลูกค้าครบกำหนดการใช้แพ็กเกจเดิม ค่ายจะเสนอแพ็กเกจใหม่ให้เลือก ซึ่งที่ผ่านมาลูกค้าส่วนใหญ่เปลี่ยนไปใช้แพ็คเกจใหม่ ส่วนแพ็กเกจ 299 ที่บอกว่าไม่พบก็เพราะลูกค้าไม่ได้ถาม ค่ายจึงไม่ได้เสนอ
.
(4) คุณภาพสัญญาณไม่ลด 🤨
– ตามเงื่อนไข กสทช. ระบุว่า ต้องไม่ลดจำนวนระบบสื่อสัญญาณ (Cell Site) เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานบริการ แต่เมื่อทรูและดีแทคควบรวมกัน ก็มีการยุบบางเสาสัญญาณ โยก Cell Site จากเสาหนึ่งไปอีกเสาหนึ่ง ทำให้คุณภาพสัญญาณในบางพื้นที่ลดลง
– ทางสำนักงาน กสทช. แจ้งว่าได้ตำหนิบริษัทไปแล้วว่าควรบอกผู้บริโภคก่อนดำเนินการ และยืนยันความเร็วเน็ตในภาพรวมไม่ลดลง
.
แต่ไม่ว่าสำนักงาน กสทช. จะพยายามออกโรงอธิบายสังคมอย่างไร ก็ดูยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเสียงสะท้อนของประชาชนที่กระจายอยู่ทั่วทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งเรื่องราคาเน็ตที่แพงขึ้น คุณภาพสัญญาณที่ไม่ดีเหมือนเก่า และโปรราคาย่อมเยาหายไป
.
Sirikanya Tansakun – ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ในฐานะคนหนึ่งที่คัดค้านการควบรวม ‘TRUE-DTAC’ มาตั้งแต่ต้น ตั้งคำถามถึงการทำงานของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการติดตามผลกระทบต่อผู้บริโภคจากการควบรวม
.
โดยระบุว่า บอร์ด กสทช. มีมติอนุมัติมาตรการเฉพาะที่จะกำกับ ควบคุม และเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการควบรวมไปเมื่อ 1 ปีที่แล้ว (20 ต.ค. 2565) โดยการบังคับใช้เป็นหน้าที่ของ “สำนักงาน กสทช.” ซึ่งกำลังมีดราม่าการแต่งตั้งเลขาธิการคนใหม่ ที่ค้างเติ่งมาจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีเลขาฯ
.
คำถามคือ สำนักงาน กสทช. กำลังใส่เกียร์ว่างอย่างชัดเจนหรือไม่? ในการบังคับใช้มาตรการเฉพาะต่าง ๆ ที่จริง ๆ ต้องทำให้เสร็จตั้งแต่ก่อนควบรวม แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ทำ!
.
❓เช่น ให้ทรู-ดีแทค จัดให้มีหน่วยธุรกิจเพื่อให้บริการโครงข่ายแก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือ MVNO (Mobile Virtual Network Operator)
.
❓หรือมาตรการที่ต้องทำหลังควบรวมภายใน 30 วัน เช่น จ้างที่ปรึกษามาศึกษาโครงสร้างต้นทุนสำหรับคำนวณราคาตามต้นทุนเฉลี่ย (Average Cost Pricing) ก็ยังไม่ได้จ้าง
.
❓หรือการคุมค่าบริการให้ถูกลงไม่ต่ำกว่า 12% ถึงแม้สำนักงานฯ จะแจ้งว่าทรู-ดีแทคได้ลดค่าบริการลงแล้ว โดยค่าโทรลด 15% ส่วนค่าเน็ตลด 80% แต่กลับสร้างความฉงนสงสัยแก่ผู้บริโภคว่าไปลดตอนไหน ค้านสายตากรรมการเป็นอย่างมาก
.
❓หรือการควบคุมคุณภาพสัญญาณก็เป็นปัญหา ตามมาตรการบอกว่า ทรู-ดีแทคจะต้อง “คง” คุณภาพการให้บริการ แต่จากการสำรวจผู้บริโภคพบคำตอบว่า หลังควบรวมเกิดปัญหาสัญญาณห่วยเป็นอันดับหนึ่ง
.
สรุปง่าย ๆ ก็คือ หลังจากที่บอร์ดมีมติรับทราบการควบรวม และเห็นชอบมาตรการคุ้มครองเยียวยาผู้บริโภคมาแล้วเป็นปี แต่เรามีสำนักงาน กสทช. ที่ประชาชนกำลังสงสัยว่าใส่เกียร์ว่าง ไม่ยอมบังคับใช้มาตรการอย่างจริงอย่างที่ควรทำ มีประธานที่ถูกมองว่ารวบอำนาจไว้กับตัวเอง บอร์ดไร้อำนาจในการตรวจสอบ ปล่อยให้ผู้บริโภคต้องรับกรรม ‼️
.
หากย้อนไปไกลกว่านี้ การควบรวมที่เกิดขึ้นสะท้อนความล้มเหลวของกฎหมายและกลไกการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ที่ทำให้ประเทศไทยเหลือผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมเพียง 2 เจ้า และบริษัทใหม่กลายเป็นผู้ให้บริการเบอร์หนึ่ง มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% นั่นเท่ากับประชาชนมีทางเลือกน้อยลง
.
ดังนั้น เพื่ออุดช่องว่างไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ กสทช. ปฏิเสธอำนาจของตัวเองและละเลยการกำกับดูแลหลังควบรวม จนผู้บริโภคต้องรับกรรมแบบนี้อีกในอนาคต
.
พรรคก้าวไกลได้ยื่นร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า สาระสำคัญคือ
.
✅ (1) ให้บรรดาองค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแลการแข่งขันการค้า ซึ่งมีกฎหมายของตัวเอง ต้องมาใช้กฎหมายฉบับนี้ในกรณีที่มีการใช้อำนาจเหนือตลาด การควบรวม และการกระทำใด ๆ ที่เป็นการผูกขาด เพื่อให้ พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการกำกับการแข่งขันทางการค้า
.
✅ (2) ปรับกระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (บอร์ด กขค.) ให้มีที่มายึดโยงกับประชาชนมากขึ้น และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง
.
✅ (3) ขยายขอบเขตอำนาจของบอร์ด กขค. ด้วยการติดดาบ-ติดอาวุธให้บอร์ดมีอำนาจสั่งแยกธุรกิจ เพื่อให้กระบวนการบังคับใช้คำสั่งของ กขค. ได้ผลจริงและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
.
✅ (4) เพิ่มความโปร่งใสของบอร์ด กขค. เช่น กำหนดให้เผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็มที่มีความเห็นกรรมการรายบุคคล ภายใน 15 วันหลังคณะกรรมการมีคำวินิจฉัย
.
✅ (5) เพิ่มมาตรการป้องกันการฮั้ว ด้วยการออกโครงการ “คนฮั้ววงแตก” ที่ลดหย่อนหรือยกเว้นโทษให้กับบริษัทที่ร่วมมือกันผูกขาดหรือลดการแข่งขัน และออกมามอบตัวเป็นรายแรก เพื่อทำให้บริษัทที่คิดจะฮั้วกันเกิดการระแวงกันเอง จนไม่มีใครกล้าร่วมมือกัน
.
✅ (6) ขยายสิทธิผู้เสียหายในการฟ้องคดี ด้วยการขยายกรอบเวลาในการฟ้องคดีของผู้เสียหาย จาก 1 ปี เป็น 4 ปี
.
ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฉบับก้าวไกล ผ่านขั้นตอนรับฟังความเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 แล้ว รอบรรจุเป็นวาระเพื่อพิจารณาในสภาฯ
.
🟠 พรรคก้าวไกลหวังว่า สส. จากทุกพรรคการเมือง หากมี “เจตจำนง” ต้องการปิดช่องทุนผูกขาด คุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค ทำให้การแข่งขันระหว่างทุนใหญ่กับผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยเป็นธรรมยิ่งขึ้น ย่อมยกมือสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ร่วมกับพรรคก้าวไกลให้ผ่านวาระ 1 ได้แน่
.
จึงเชิญชวนประชาชนไว้ล่วงหน้า ขอให้รอติดตามจับตาเมื่อถึงวันนั้น
.
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post