Digiqole ad

ถามคนไทย…อยู่ถึงไหมไตรมาส4?

 ถามคนไทย…อยู่ถึงไหมไตรมาส4?
Social sharing

Digiqole ad

          คำว่า “ไตรมาส”หมายถึงช่วงเวลา 3 เดือนของปี  ไตรมาส 1 คือช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์-มีนาคม  ไตรมาส4 คือช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน-ธันวาคม

          ตอนนี้อนาคตของประเทศไทยดูเหมือนจะถูกโยนไปข้างหน้าให้ไปรอความหวังว่าอะไรต่อมิอะไรจะดีขึ้น  เพราะทั้งฝ่ายรัฐบาลที่กุมชะตากรรมของประเทศเอาไว้ในมือ  ทั้งหมอจริงที่ดูแลรักษาโรค  หมอดูหลายสำนัก และหมอเดาในโลกโซเชียล  ต่างให้ข้อมูล วิเคราะห์ และทำนายในทำนองเดียวกันว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 4 ในไทยที่กำลังไต่ระดับสู่จุดสูงสุด  จะเริ่มผ่อนคลายและน่าจะสงบลงได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้

          เหตุผลหลักอย่างที่ทราบกันว่าแม้ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขที่นั่งคุมโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง  จะออกมาพูดแล้วพูดอีกว่าสามารถจัดหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนได้แน่ 100 ล้านโดสภายในปีนี้ ประกอบด้วยแอสตร้าเซนเนกา 61 ล้านโดส ซิโนแวค 19 ล้านโดส  ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส  และยังจะสั่งซื้อโมเดอร์นาเข้ามาเสริมอีกจำนวนหนึ่ง  แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียดประกอบกับสถานการณ์ที่เป็นจริงกลับไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือต่อชาวบ้านทั่วไป

             ขณะนี้ประเทศไทยเพิ่งเข้าไตรมาส 3 ยังอยู่ในเดือนกรกฎาคม  ที่ยังต้องอาศัยวัคซีน “ซิโนแวค” ของจีนเป็นหลักเพราะจีนให้ความช่วยเหลือเต็มที่  มีวัคซีนส่งให้ได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน  ขณะที่วัคซีน “แอสตร้าเซนเนกา” ที่มีโรงงานผลิตในไทยคือสยามไบโอไซเอนซ์และรัฐบาลบอกว่าเป็นวัคซีนหลัก  กลับกลายเป็นวัคซีนรองเพราะบริษัทส่งมอบให้ได้แค่เดือนละ 4-5 ล้านโดส จากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศบค.คุยโม้เอาไว้ว่าจะได้แอสตร้าเซนเนกาเดือนละ 10 ล้านโดสมาฉีดให้ประชาชนเพื่อสู้กับโควิด

            หากการผลิตและส่งมอบช่วงแรกยังน้อยแต่เอาไปเติมให้ครบช่วงปลายปีไตรมาส 4 ยังพอว่า  แต่เรื่องที่รับกันไม่ได้คือบริษัทแอสตร้าฯแจ้งว่าจะทยอยส่งมอบวัคซีนให้ครบภายในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยรัฐบาลก็ปล่อยคลุมเครือว่ายังไงกันแน่  มีเพียง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขที่แจ้งว่า  ทางบริษัทส่งสัญญาณว่าจะส่งให้เราได้อย่างน้อยประมาณ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน โดยขึ้นกับกำลังการผลิต หากสามารถผลิตได้เพิ่มขึ้นก็จะส่งมอบให้เราได้มากขึ้น

           ทางออกของปัญหาที่จะให้ได้วัคซีนมาใช้แก้วิกฤติในขณะนี้คือต้องใช้กฎหมายเค้นคอเอากับโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ที่เป็นผู้ผลิตโดยจำกัดการส่งออกไปต่างประเทศ  แต่คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูร นั่งเป็นประธาน  ได้ประชุมวางหลักการไปแล้วตั้งแต่ 14 กรกฎาคม 2564  ในการใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ เข้าควบคุมปริมาณวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินได้  แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ตัดสินใจฟันธงใดๆขณะที่คนไทยยังเสียชีวิตเป็นใบไม้ร่วงวันละเป็นร้อยคน       

          แล้ววัคซีนทางเลือกเป็นอย่างไร?         

          วัคซีนทางเลือกอย่าง “โมเดอร์นา” ที่ทางราชการกันท่าภาคเอกชนมานานและองค์การเภสัชกรรมเพิ่งยอมเป็นตัวกลางทำสัญญานำเข้ามาขายต่อให้แก่โรงพยาบาลภาคเอกชนจำนวน 5 ล้านโดสนั้น จะทยอยส่งมอบในไตรมาส 4 ของปี 2564 จำนวน 3.9 ล้านโดส  และไตรมาส 1 ของปี 2565 อีก 1.1 ล้านโดส

          อีกหนึ่งวัคซีนทางเลือกคือ “ซิโนฟาร์ม” ที่นำเข้าโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  ปัจจุบันนำเข้ามาแล้ว 3 ล้านโดส  ยังมีความต้องการอีกมาก 8-10 ล้านโดส จากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)เป็นส่วนใหญ่  แม้จะไม่มากแต่ก็เป็นช่องทางให้องค์กรภาคเอกชนหรืออปท.ซื้อต่อไปฉีดให้พนักงานหรือประชาชนฟรี  หรือเป็นวัคซีนทางเลือกที่ประชาชนยอมจ่ายในราคาไม่แพง  แต่ข้อจำกัดของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์คือไม่สามารถนำเข้าครั้งเดียวจำนวนมาก  จึงเป็นเพียงวัคซีนเสริมที่เข้ามาอุดช่องว่างของรัฐบาล

          ปัญหาวัคซีนดังกล่าวถามว่ารัฐบาลพยายามแก้ไขหรือไม่? 

          จากข่าวที่ปรากฏก็เห็นว่าได้พยายามดำเนินการดังเช่นการลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ของไฟเซอร์จำนวน 20 ล้านโดส ระหว่างกรมควบคุมโรค กับบริษัทไฟเซอร์ประเทศไทยและอินโดไชน่า  โดยมีกำหนดทยอยส่งมอบช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ไปจนถึงไตรมาส 1 ปี 2565  ซึ่งยังเป็นห่วงว่าในสัญญามีความรัดกุมแค่ไหนและจะมีโอกาสเกิดปัญหาดังเช่นแอสตร้าเซนเนกาอีกหรือไม่  ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขยังมีแผนสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเติมอีก 50 ล้านโดสในปีหน้า

           ก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ที่บริจาคโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจำนวน 1.5 ล้านโดส  ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติเห็นชอบให้ใช้ฉีดแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ผู้สูงอายุ และกลุ่มอื่นๆ

          วัคซีนไฟเซอร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนแบบมีเงื่อนไขจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 นับเป็นวัคซีนโควิด 19 รายการที่ 6 ของไทย ซึ่งแผนการฉีดประกอบด้วยการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 21 วัน และขึ้นทะเบียนให้ใช้สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ขณะที่วัคซีนอีก 5 รายการขึ้นทะเบียนสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป

         ในเมื่อวัคซีนซึ่งเป็นเสมือนเกราะป้องกันไวรัสโควิด-19 ยังมีอย่างจำกัดในช่วงไตรมาส 3 หลายคนจึงคาดหวังว่าการประกาศล็อคดาวน์ 14 วัน  ขยายพื้นที่สีแดงควบคุมเข้มข้นเป็น 13 จังหวัด สั่งสายการบินงดบิน  สั่งบขส.หยุดวิ่งบริการ  สั่งตั้งด่านเพื่อตัดวงจรการเคลื่อนย้ายจะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดลดลง  แต่รัฐบาลและศบค.ย่อมรู้ดีที่สุดว่ามาตรการดังกล่าวเป็นเพียงการซื้อเวลารอวัคซีนล็อตใหญ่  ความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่าที่สะสมมาก่อนหน้านี้กำลังนำประเทศไทยเข้าสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดด้วยยอดติดเชื้อที่อาจจะพุ่งถึงวันละ 3 หมื่นคน และยอดผู้เสียชีวิตที่จะทวีจำนวนมากกว่าวันละ 100 คน  

           ทุกวันนี้มีผู้ป่วยอาการหนักในโรงพยาบาลหลายพันคน  ใส่เครื่องช่วยหายใจอีกหลายร้อยคน  และอีกมากมายที่ไม่รู้อาการนอนรอความตายอยู่ที่บ้านเพราะเตียงไม่พอ   ภาพผู้สูงอายุ คนเร่ร่อน ถูกปล่อยให้นอนตายบนฟุตบาทวันเดียว 4  ศพ โดยไม่มีหน่วยงานไหนกล้าเข้าเก็บศพ  ก่อให้เกิดคำถามว่าประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร 

          เสียงสะท้อนจากบุคคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าหลายแห่งบอกให้รู้ว่าสู้ไม่ไหว  หนักเกินจะรับมือคุณหมอที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก  บอกให้รู้ว่าต้องรับมือผู้ป่วยทั้งคนไทยและชาวเมียนมาร์ทั้งในพื้นที่และที่ข้ามมาจากประเทศเพื่อนบ้าน  บอกความจริงว่าหนักหนาสาหัส  คนที่สั่งการจากโต๊ะไม่รู้ถึงวิกฤติของคนป่วยที่ต้องยื้อชีวิต  ไม่รู้ความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ที่ใกล้ชิดเชื้อไวรัส

          รัฐบาลที่บริหารโดยทหารแก่ที่ยืนอยู่บนอำนาจด้วยคนแก่ 250 คน  ยังมีใจจะซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำในยามที่ประชาชนขาดแคลนวัคซีน  ซื้อเวลาจ่ายเงินเยียวยาเลี้ยงไข้ทั้งๆ ที่ไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอ  คนส่วนหนึ่งพอเอาตัวรอด  แต่อีกไม่น้อยที่หาเช้ากินค่ำได้รับผลกระทบต่อมาเป็นปีแล้ว  ถูกล็อคอยู่บ้านค้าขายไม่ได้  ไม่มีเงินจะสั่งเดลิเวอรี่  ไม่มีอาหารประทังชีวิต  คนแก่ไม่มีกำลังวังชาจะเดินออกจากบ้านไปรับบริจาคข้าวกล่อง  หลายครอบครัวไม่มีรายได้จะไปชำระหนี้  เจอเจ้าหนี้นอกระบบมาตามทวงเช้าทวงเย็น  ถูกด่าประจานให้อับอาย  จนบางครอบครัว 2 ผัวเมียผูกคอตายเพื่อชำระหนี้เป็นที่น่าเวทนา  สะท้อนความบัดซบของชีวิตคนไทยในพ.ศ.นี้

           ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุดที่เพิ่งต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมถึง 30 กันยายน 2564   ปรากฏข่าวว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เสนอแนวทางใช้สมุนไพร “ฟ้าทะลายโจร” ช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด-19  เพราะใช้ได้ผลกับผู้ต้องขังในเรือนจำ

การใช้ฟ้าทะลายโจรนั้น จะเป็นมาตรการเสริมในการรักษาโควิด ชะลอความกังวลของผู้รอวัคซีน สามารถส่งออกได้ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร  โดยพล.อ.ประยุทธ์ เห็นดีด้วยและให้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงยุติธรรมขึ้นมาศึกษา

          มติครม.ให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องฟ้าทะลายโจร  ชาวบ้านฟังแล้วน้ำตาไหลโอ้อนาถประเทศไทย สงสัยว่านายกรัฐมนตรีไทยหลับหูหลับตาไม่รู้เรื่องสมุนไพรฟ้าทะลายโจรบ้างเลยหรือว่าชาวบ้านเขาหาใช้มานานแล้วจนตอนนี้สินค้าขาดตลาด  มีการตุนสินค้าโก่งราคาขายจนชาวบ้านเดือดร้อน  และทุกวันนี้ที่ประชาชนยังพอเอาชีวิตรอดก็เพราะภาคเอกชนเขาช่วยกันส่งยาสมุนไพรไทยให้ผู้ป่วยใช้รักษาตัวในขณะที่วัคซีนไม่พอ  เครื่องมือแพทย์ขาดแคลน  

          พล.อ.ประยุทธ์ บอกกับประชาชนล่าสุดว่าสถานการณ์ได้เดินทางมาถึงจุดที่เป็น “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ของภาวะวิกฤตอีกครั้ง ขอให้ประชาชนอดทนกันอีกครั้ง และให้ความร่วมมือกับมาตรการในครั้งนี้อย่างเต็มที่    

          ผมทราบดีว่าจะต้องมีพี่น้องจำนวนมากที่ไม่สามารถทำมาหากินได้ และได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งนี้ทำให้ผมทุกข์ใจเป็นอย่างยิ่ง และได้พยายามหาหนทางในการช่วยทุกท่านมาโดยตลอด ด้วยมาตรการเยียวยาต่างๆ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

           ถ้าเสียงของประชาชนสะท้อนไปถึงหูของท่านได้  เชื่อว่าท่านนายกฯคงได้ยินเสียงร่ำไห้ของญาติพี่น้องที่สูญเสียคนใกล้ชิดจากโรคร้ายแล้วกว่า 3 พันราย  หรือเสียงหอบหายใจของผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่อีกนับแสนราย  และนับรวมเสียงความหิวโหยจากความอดอยากยากแค้นจากทั่วสารทิศ  คงยากเกินกว่าที่ท่านจะรับฟังได้

             ท่านขอให้ประชาชนอดทน  แต่ประชาชนจะทนอดมื้อกินมื้อไปได้นานแค่ไหน  และจะยังมีลมหายใจอยู่รอฉีดวัคซีนถึงปลายปีหรือไม่ท่านช่วยบอกที           

Facebook Comments


Social sharing

Related post