
ตลาดโซลูชั่นโรงงานอัจฉริยะไทย…คาดปี 64 เร่งเติบโตกว่า 10% ท่ามกลางการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ


· ปัจจุบัน ธุรกิจบริการ SFS ไทยยังคงมีข้อจำกัดที่ต้องพึ่งพากลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่เป็นหลัก เนื่องจากการลงทุนระบบโรงงานอัจฉริยะต้องการเงินลงทุนก้อนใหญ่และควรจะมีปริมาณการผลิตสินค้าที่สูงเพื่อให้เกิดการประหยัดเชิงขนาด ทำให้ผู้ผลิต SMEs อาจจะยังไม่พร้อมที่จะลงทุนในระบบดังกล่าว ฉะนั้น เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจในอนาคต ผู้ประกอบการ SFS ไทยอาจควรจะพิจารณานำโมเดลธุรกิจบริการเช่าใช้ระบบหุ่นยนต์เพื่อการผลิต (Robot as a Service: RaaS) ซึ่งกำลังเริ่มเป็นที่นิยมในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ในเมืองไทย โดยโมเดลธุรกิจดังกล่าวจะเปิดให้ผู้ประกอบการเช่าใช้หุ่นยนต์รวมไปถึงระบบคลาวด์ที่ใช้ควบคุมการผลิต ในขณะที่ค่าใช้จ่ายจะถูกคิดตามระยะเวลาหรือปริมาณการผลิตที่เกิดขึ้นจริง ทำให้ลดข้อจำกัดทั้งด้านเงินลงทุนและปริมาณการผลิตของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวน่าจะช่วยหนุนให้ตลาดบริการ SFS ไทยสามารถขยายตัวได้เพิ่มมากขึ้น และมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้กับกลุ่มผู้ผลิต SMEs ไทยจากการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีโรงงานอัจฉริยะได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี การนำระบบ SFS มาใช้งานก็ยังคงต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละกิจการด้วย ซึ่งผู้ประกอบการคงต้องชั่งน้ำหนักหลายปัจจัยโดยเฉพาะประเด็นความคุ้มค่า และระยะเวลาคืนทุน เพื่อเลือกจังหวะและระดับการใช้งานที่เหมาะสมสำหรับกิจการของตน