
“ดร.โสดากิติ์ วงศ์โกมลเชษฐ์” ภารกิจปั้น GO THAILAND TRAVEL PLATFORM

สถานการณ์โควิด-19 ยังคงคุกรุ่นอยู่กับคนไทยซึ่งคาดว่าจะอยู่ด้วยกันไปอีกนาน ปัจจุบันคนติดเชื้อทั่วโลกรวมแล้วกว่า 100 ล้านคนเข้าไปแล้ว ขณะเดียวกันภาพรวมของเศรษฐกิจ ธุรกิจต่างๆยังจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป ท่ามกลางความระมัดระวังตัวเองอย่างสูงสุดการ์ดตกมิได้ทีเดียว แต่ขณะเดียวกันประเทศไทยรายได้หลักๆก็มาจากการท่องเที่ยว จึงหนีไม่พ้นการเรียกร้องให้เปิดรับนักท่องเที่ยว พร้อมๆกับกลุ่มนักธุรกิจที่ยังต้องมีการค้าขายซึ่งกันและกัน ประเทศไทยจึงต้องมีระบบการติดตามและการตรวจสอบที่แม่นยำและเป็นข้อเท็จจริง
จึงอยากพาไปให้รู้จักกับแอปพลิเคชั่น เพื่อการติดตามนี้กับ “ดร.โสดากิติ์ วงศ์โกมลเชษฐ์” กรรมการผู้จัดการและเจ้าของ บริษัท โก แบงคอก อินเตอร์เนชันแนล จำกัด เธอเล่าว่า ก่อนที่จะเปิดตัวแอปพลิเคชั่นนี้ได้มีการศึกษามาราว 2-3 ปี ทำให้ปัจจุบันแอปพลิเคชั่นสามารถปิดจุดอ่อนในด้านการจับสัญญาณได้แล้ว เช่นการแอบลบข้อมูลทิ้ง หรือการเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์ ใหม่ เป็นต้น ซึ่งหัวใจของแอปพลิเคชั่นทั้งมวลจะอยู่ที่ User ID ตั้งแต่การสมัครเข้าระบบไปจนถึงเอกสารยืนยันอัตลักษณ์ตัวบุคคลที่ใช้ไบโอเมตริกมาเป็นการตรวจสอบ
Go Thailand Travel Platform จึงเป็นระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลภาครัฐ ระบบการติดตามและบันทึกเส้นทางชาวต่างชาติที่ต้องการเข้าประเทศไทยว่า เดินทางไปที่ใดบ้างใช้เวลาเท่าใดในสถานการณ์ฉุกเฉินโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ออกแบบด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทีมงานในภาคเอกชนด้วยความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะก้าวพ้นวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุขครั้งนี้ได้อย่างแข็งแรง ปลอดภัย และสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมบนพื้นฐานของสังคมดิจิทัล Go Thailand Travel Platform เป็นระบบการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐอย่างบูรณาการ สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้าประเทศไทยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19
ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท โก แบงคอก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับกลุ่มบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ร่วมมือกันจัดทำขึ้น ตามแนวปฏิบัติของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รวมทั้งเพื่อสนับสนุนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ที่ต้องการให้มีนวัตกรรมหรือแอปพลิเคชั่น ที่สามารถใช้ได้ทั้งในการติดตามตัวและการตรวจสอบสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้าประเทศไทย รวมทั้งบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ โดย Go Thailand Travel Platform จะร่วมงานกับภาครัฐในรูปแบบ Public Private Partnership หรือ PPP โดยที่ภาครัฐไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการสร้างแพลตฟอร์มนี้
แต่ภาครัฐสามารถใช้ Go Thailand Travel Platform ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้าชายแดนที่มีมูลค่าสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท เนื่องจาก Go Thailand Travel Platform มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยสถาปัตยกรรมระบบ ซึ่งรองรับระบบทั้งของสากลและของประเทศจีน คือ สามารถเข้าถึงชาวต่างชาติที่ต้องการเข้าประเทศไทยได้ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนผู้เป็นลูกค้าหลักทั้งด้านการท่องเที่ยวและการลงทุนของประเทศไทย เทคโนโลยีที่เข้าถึงประเทศจีนได้ต้องรองรับระบบเฉพาะของจีน ซึ่งแตกต่างกับเทคโนโลยีที่ใช้กันทั่วโลก
ทั้งนี้ Go Thailand Travel Platform จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน ทั้งระบบปฏิบัติการ IOS, ANDROID และ HUAWEI ด้วยภาษาหลักคือ ไทย อังกฤษ และ จีน โดยเสียค่าใช้จ่ายทั่วไปคนละ 38 เหรียญสหรัฐ/ครั้ง/คน ผู้คนในภูมิภาคอาเซียนและคนไทยคนละ 600บาท/ครั้ง/คน จะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมการก่อนการเดินทาง หรือ Pre – Flight ซึ่งจะประกอบด้วย Enrollment หรือ การลงทะเบียนเข้าใช้งาน ,การเขียนแผนการเดินทางว่า ไปเมื่อไหร่ ไปที่ไหน ไปอย่างไร พักที่ไหน ฯลฯ (Travel Plan ) , การจองตั๋วเครื่องบินไป-กลับ การจองโรงแรมสำหรับกักตัว 14 วัน การจองที่พักหลังจากกักตัว การซื้อประกันโควิด-19 การซื้อ Package Tour ( Travel Services ) , ใบรับรองผลการตรวจโควิด-19 (Fit to Fly ) ที่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นคลินิกที่ได้รับรองจริงหรือไม่ เมื่อทุกขั้นตอนได้รับอนุมัติเรียบร้อยแล้วจึงออกเดินทาง
จากนั้น จะเป็นขั้นตอนการเข้าประเทศไทย ที่ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยทุกคนจะได้รับ SIM Card ของผู้ให้บริการเครือข่ายในประเทศไทย ซึ่งต้องใช้เครือข่ายของประเทศไทยเท่านั้น และต้องทำการ TRACK คือ เปิดสัญญาณโดยบริษัทร่วมกับ AIS ก่อนเข้ารับการตรวจจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (Immigration) โดยใช้สแกน QR Code ที่ทางเว็บจะออกให้ เพื่อติดตามและบันทึกเส้นทางขณะอยู่ในประเทศไทย ซึ่ง Go Thailand Travel Platform ได้ออกแบบระบบให้สามารถกำกับการเคลื่อนไหวได้ในจุดอับหรือไร้สัญญาณ ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมชิ้นแรกของโลกที่คนไทยประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา เพื่อการติดตามและดูแลติดต่อคนต่างชาติเข้าประเทศไทยในสถานการณ์ฉุกเฉินโรคระบาดโควิด-19 มีประสิทธิภาพ แม่นยำ
บนหลักการที่ต้องการเอื้อความสะดวกแก่ผู้ใช้ Go Thailand Travel Platform เมื่อผู้ใช้กรอกข้อมูลเพื่อลงทะเบียน (Enrollment) แล้ว ระบบจะกำหนดให้แบบฟอร์มของทุกหน่วยงานราชการเป็น Auto Fill ตามหลักการความปลอดภัยคือ สามารถตรวจสอบ (Validation) และยืนยัน (Authentication) ได้ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อออก Certificate of Entry ทางกระทรวงสาธารณสุขเพื่อตรวจสอบใบรับรองการตรวจโควิด-19 (Covid-19 Test Certificate) สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นการตรวจสอบเอกสารเพื่ออนุญาตให้เข้าประเทศไทย เนื่องจากในการตรวจสอบยืนยันอัตลักษณ์บุคคล (Validation)
ส่วนทางการตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ด้านสาธารณสุข เพื่อรับรองความถูกต้อง (Authentication) ภาครัฐยังไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น การตรวจสอบ Covid-19 Test Certificate ที่ชาวต่างชาตินำมาแสดง แต่ระบบ Dr. Link ของ Go Thailand Travel Platform ซึ่งเชื่อมโยงศูนย์ทดสอบและให้วัคซีนโรคโควิด-19 ทั่วโลก จะสามารถยืนยันผลการทดสอบ และ/หรือการให้วัคซีนมาจากแหล่งข้อมูลสาธารณสุข ที่รับรองโดยกระทรวงสาธารณสุขของประเทศนั้น ๆ เพื่อความมั่นใจในผลการทดสอบและการให้วัคซีนแก่ชาวต่างชาติที่ต้องการเข้าประเทศไทย รวมทั้งยังเชื่อมโยงไปสู่ผู้ให้บริการสายการบินและสายการเดินเรือ เพื่อการออก Boarding Pass โดยไม่ต้องเสียเวลาตรวจเอกสารต่าง ๆ เป็นการลดความยุ่งยากในการเดินทาง สะดวก และปลอดภัยต่อชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย
สิ่งสำคัญที่สุดดร.โสดากิติ์ บอกว่า คือ Go Thailand Travel Platform จะให้ความเคารพสิทธิส่วนบุคคลของคนต่างชาติที่ต้องการเข้าประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และ General Data Protection Regulation ของ สหภาพยุโรป
นอกจากนี้ Go Thailand Travel Platform ยังเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชั่น เช่น TAG THAI ซึ่งจะนำเสนอข้อมูลแนะนำสถานที่น่าสนใจในประเทศไทย รวมทั้งแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ เช่น การนำเสนอ Package Tour เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ฯลฯ
ซึ่ง Go Thailand Travel Platform จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการระบบการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน และชาวต่างชาติที่ต้องการเข้าประเทศไทย เชื่อมโยงข้อมูลของทุกภาคส่วน มีมาตรการในการตรวจสอบ ยืนยัน และรายงานผลที่ตรวจสอบได้ รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลด้วยความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยน และบริหารจัดการร่วมกันได้ระหว่างผู้ใช้ ภาครัฐ ภาคเอกชน และชาวต่างชาติที่ต้องการเข้าประเทศไทย
ตลอดจนเชื่อมโยงบริหารจัดการข้อมูลด้วยเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า สามารถรายงานผลได้หลากหลายรูปแบบ และสามารถจัดเก็บบนระบบปฏิบัติการ Cloud เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการงานร่วมกันของทุกภาคส่วนและเกิดประโยชน์โดยรวมแก่ประเทศไทย คือ 1. ทำให้มีแพลตฟอร์มรองรับการรับส่งข้อมูลที่ตรวจสอบได้ ยืนยันอัตลักษณ์บุคคลได้ และช่วยในการกลั่นกรองทุจริตทางเอกสารของคนต่างชาติเข้าเมืองไทย 2. สร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนในการควบคุมดูแล ติดตาม และ การบริหารจัดการชาวต่างชาติเข้าเมืองโดยภาครัฐ 3. สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อการพัฒนาประเทศด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
4. มีระบบรายงานผลที่สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อยอดได้ทั้งเชิงสังคม ธุรกิจ และอุตสาหกรรม 5. สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการบริหารจัดการสาธารณสุขให้สมดุลกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ 6. ช่วยรองรับสถานการณ์ที่ต้องการเรียกดูข้อมูลเพื่อการตรวจสอบแบบทันต่อเหตุการณ์
โดยระบบนี้ได้เริ่มทดสอบมาเป็นระยะ เพื่อทำการแก้ไขจุดบกพร่องที่เกิดขึ้น และจะเริ่มทดสอบระบบเสมือนจริงในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564นี้ ซึ่งคาดว่าส่วนของรายได้จะเริ่มเข้าบริษัทประมาณเดือนมีนาคมนี้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำให้แอปพลิเคชั่นนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นดร.โสดากิติ์กล่าวทิ้งท้าย