
ชัยชนะของ “ก้าวไกล” กระแสไม่แพ้กระสุน

จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) 52 ที่นั่งกลายเป็น 152 ที่นั่งหลังนับคะแนนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 คืออีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองยุคใหม่ที่ได้รับการบันทึกไว้แล้วว่าเป็นผลงานการเมืองของ “พรรคก้าวไกล” ที่มีอายุเพียงไม่กี่ปี แต่สามารถหักปากกาเซียน โค่นทุกโพล ล้มแชมป์เอาชนะพรรคคู่ต่อสู้ที่มีทั้งตัวบุคคลระดับเขี้ยวลากดินและทุนมหาศาล เพราะสามารถพิสูจน์ให้เห็นว่ากระแสไม่แพ้กระสุน
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยให้สัมภาษณ์ไว้ตอนเปิดแคมเปญ “ก้าวไกลทั้งแผ่นดิน”เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 ว่า ในเชิงปริมาณเราต้องการจำนวนส.ส.เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 52 ที่นั่ง ต้องมีส.ส.เขตให้มากที่สุดครอบคลุมถึงทุกภูมิภาครวมถึงภาคใต้ซึ่งส่วนใหญ่พรรคฝ่ายค้านจะทำพื้นที่ได้ยาก เราจึงต้องกลับมาทบทวนว่าพรรคจะต้องทำอะไรใหม่บ้าง
แผนการเลือกตั้ง ต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมาย เช่นการป้องกันแชมป์ การหาทางเอาชนะพื้นที่ที่เคยแพ้การเลือกตั้งเพียงเล็กน้อย พื้นที่ที่มีคะแนนพื้นฐานเกินค่าเฉลี่ย 2 หมื่นคะแนน
สุดท้ายคือการกลับมาปฏิรูปตัวเอง 3 เรื่องคือ คน นโยบาย และพรรค มิติของคนต้องเตรียมตัวให้ดีกว่าเดิมเพราะถูกประชาชนถามเรื่อง “งูเห่า”เยอะ ต้องปรับปรุงกระบวนการคัดสรรคน การสัมภาษณ์ การทดลองทำงาน ตรวจสอบประวัติก่อนจะส่งชิงผู้แทน เรื่องนโยบายไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างโครงสร้างกับปากท้อง ต้องเป็นนโยบายที่เป็นเรื่องเดียวกันและเราต้องแก้ปากท้องก่อน ส่วนเรื่องพรรค คือต้องระดมสมองระหว่างประชาชนกับพรรค
พรรคก้าวไกลมาไกล แต่สิ่งที่พาเรามาจากอดีตถึงปัจจุบันไม่อาจพาเราไปสู่อนาคตอันใกล้ได้ ต้องมีการปรับโฉมใหม่ของพรรคทั้งด้านนโยบาย การสื่อสาร การเข้าหาสื่อ การลงพื้นที่ การทำหน้าที่ในสภา การระดมทุน การเอาอาสาสมัครเข้ามาช่วย เหล่านี้เป็นมิติที่ต้องปฏิรูปพรรคในหลายๆรูปแบบ
จุดยืนของพรรคคือการสรรหาฉันทามติใหม่ร่วมกัน ไม่เปลี่ยนไปแบบสุดโต่งและไม่อยู่กับที่ เราต้องการให้ประเทศไทยอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัติย์เป็นองค์พระประมุข อยู่เหนือประชาธิปไตยแต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
“พรรคก้าวไกลไม่ดูถูกประชาชนกลุ่มใด เรามั่นใจคนรุ่นใหม่แต่ก็ไม่ประมาท ยุคสมัยนี้ไม่มีของตายว่าเอาเสาไฟฟ้าลงก็ยังชนะ หรือคนกลุ่มนี้ยังไงก็เลือกพรรคนี้ไม่มีเปลี่ยน ยุคนี้อะไรก็ลื่นไหลได้ตลอด ถ้าเราทำได้ดีเราก็มั่นใจว่าจะเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ เป็นผู้นำที่สามารถจะดึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่มาร่วมกันพัฒนาประเทศได้ แต่เราไม่ประมาทที่จะทำให้เขาผิดหวังแล้วหันไปหาพรรคการเมืองอื่น”
นี่คือคำพูดของพิธา เมื่อ 10 เดือนก่อน และตอนนี้เขากำลังจะก้าวขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยด้วยวัยเพียง 42 ปี
พรรคก้าวไกลมีภาพของคนหนุ่มสาว แฟนคลับหรือ FC เป็นคนรุ่นใหม่จึงนิยมชมชอบและเป็นฐานคะแนนก็จริง แต่ 14 ล้านเสียงที่ได้มาเที่ยวนี้ มาจากคนทุกกลุ่มทั้งรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง
แนวนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆที่คุ้นชินกับเรื่องประชานิยม แข่งกันเสนอจนเปรอะ แต่ของพรรคก้าวไกลมีความแตกต่างเช่นแก้ไขการผูกขาดของกลุ่มทุนใหญ่ และกล้าที่จะแตะในบางเรื่องที่คนอื่นไม่กล้า อาทิ การเลิกเกณฑ์ทหาร การเสนอแก้ไขมาตรา 112 จนถูกพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมหยิบเอามาใช้โจมตีว่าจ้องจะ “ล้มสถาบัน”
การปรับยุทธศาสตร์ทางการเมืองนอกจากพรรคก้าวไกลสามารถยึดเมืองหลวง กวาด 32 เขตจาก 33 เขต ของกรุงเทพมหานครแล้ว ยังบุกตีหัวเมืองหรือพื้นที่ของบรรดา “บ้านใหญ่” ผู้เคยมีอิทธิพลทางการเมืองยึดครองเก้าอี้ส.ส.มายาวนานจนดูเหมือน ตำแหน่งนี้ได้รับการผูกขาดให้เป็นมรดกตกทอดของตระกูลดัง แต่เที่ยวนี้ทั่วทุกภาคหลายจังหวัดหลายพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลง การออกมาใช้สิทธิใช้เสียงทำให้การเมืองสามารถเป็นเรื่องของคนธรรมดาโดยไม่จำเป็นต้องใช้อิทธิพลหรือเงินในการซื้อเสียง
การที่พรรคเพื่อไทยเสียแชมป์ไปแบบฉิวเฉียดทั้งๆที่ทำแคมเปญ “แลนด์สไลด์” ลุงโทนี่จากแดนไกลบอกว่าเจอ “ไอโอ” หรือปฏิบัติการด้านข่าวสาร หรือการโฆษณาชวนเชื่อ ที่ทำให้พรรคเพื่อไทยเสียคะแนนเสียง แต่ความจริงนั้นเกิดจากผู้นำของพรรคเพื่อไทยเองที่แสดงอาการ “ยึกยัก” หวังแทงกั๊ก ไม่ประกาศจุดยืนทางการเมืองให้ชัดเจนว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมกับพรรคลุงป้อม เพราะมีกระแส “ทักษิณจะกลับบ้าน” ในขณะที่พรรคก้าวไกลประกาศชัดเจนว่า “มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง” ตรงใจฐานเสียงคนรุ่นใหม่ที่ชอบความชัดเจน
ก่อนเลือกตั้งมีข้อสงสัย และหลังเลือกตั้งก็ยังสงสัยกันว่า พรรคเพื่อไทยอาจจะไปจับมือกับพรรคพลังประชารัฐของ “ลุงป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เพิ่งยกนโยบายปรองดองเสมือนจะเปิดทางให้ใครบางคนได้กลับบ้าน
โซเชียลมีเดียยุคนี้พิสูจน์ให้เห็นมาเยอะแล้วว่าสามารถทำให้คนบางคนดังหรือดับได้ภายในชั่วข้ามคืนซึ่งพรรคก้าวไกลสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์กับการสร้างคะแนนนิยม ขณะเดียวกันFCของก้าวไกลได้กลายเป็นหัวคะแนนออแกนิคทั้งด้วยการ “ส่งต่อ” หรือ “สร้าง” ข่าวสารผ่านทางโซเชียลมีเดีย
ภาพการปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายของแต่ละพรรคการเมืองในวันที่ 12 พฤษภาคมนั้น เทียบกันแล้วพรรคก้าวไกลทำได้เหนือกว่า ดีกว่าทุกพรรค ทั้งที่อาคารกีฬาเวสน์ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพฯ และการตัดต่อเป็นคลิปที่กลายเป็นไวรัลเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย
เวทีดีเบต ที่เที่ยวนี้จัดขึ้นมากมายหลายเวทีพร้อมๆกับการเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะมีผลต่อภาพลักษณ์ของแต่ละพรรคการเมืองซึ่งพรรคก้าวไกลสามารถช่วงชิงคะแนนนิยมได้มาก เพราะพรรคก้าวไกลมีทั้งผู้สมัครส.ส. และ “ผู้ช่วยหาเสียง”จากคณะก้าวหน้า ที่พูดเก่ง ฉะฉาน ทำการบ้านมาดี ไปขึ้นเวทีชี้แจงนโยบาย แสดงวิสัยทัศน์ และปะทะคารมแบบไม่แพ้ใคร เทียบกับบางพรรคที่ส่งคนเดียวไปทุกเวที บางพรรคหัวหน้าไม่กล้าร่วมเวทีดีเบต บางพรรคเอาแต่ด่าคนอื่นจนไม่รู้ว่านโยบายพรรคตนเองคืออะไร
ประชาชนที่ออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ส่วนใหญ่ต้องการความเปลี่ยนแปลงหลังจากทนอยู่กับคสช.และการสืบทอดอำนาจมา 9 ปี มีความหวังว่าจะพบเจอสิ่งใหม่ๆที่ดีกว่า ข้อสัญญาของพรรคก้าวไกลกับ 300 นโยบายที่จะลงมือทำภายใน 100 วันแรกเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย หากได้เป็นรัฐบาล ยังต้องรออีกระยะหนึ่งกับการฝ่าด่านอรหันต์ที่ตั้งดักเอาไว้ข้างหน้า