ชะตากรรมคนไทยในปีโค(ข)วิด

เศรษฐกิจไทยปี 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารโลกประเมินว่าประเทศไทยติดลบ 8.3% แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่าติดลบแค่ 7.8% ซึ่งชัดเจนว่าอันเนื่องมาจากการล็อคดาวน์ประเทศอย่างยาวนานช่วงเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับนักท่องเที่ยวหดหาย ค้าขายส่งออกฝืดเคือง เครื่องยนต์เศรษฐกิจดับทุกเครื่อง
ปีนี้ 2564 ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในระดับ 4.9% ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าจะโต 3.2% โดยมีความเสี่ยงสองประการคือ การระบาดรอบสองของโควิด-19 ขยายวงกว้าง ควบคุมได้ช้า ทำให้การบริโภคทรุดตัวลงอีกครั้ง และการท่องเที่ยวช่วงปลายปียังไม่ฟื้นตัว
มองสถานการณ์แล้ว ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ คงต้องปรับตัวเลขใหม่แน่นอน เพราะความรู้สึกประชาชนยามนี้มองสวนทางว่า แค่ข้ามคืนข้ามปีก็มีแต่หายนะรออยู่ข้างหน้า
“นิด้าโพล”ที่สอบถามประชาชนก่อนสิ้นปี2563ได้คำตอบออกมาว่า คนไทยส่วนใหญ่มองปี2564อย่างไร้ความหวัง เพราะเชื่อว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19จะรุนแรงขึ้น และเศรษฐกิจจะแย่ลง
แม่ค้าร้านขายอาหารตามสั่งคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ทางข่าวทีวีว่า “สภาพเศรษฐกิจปีที่แล้วเปรียบเหมือนเคยโคม่าช่วงล็อคดาวน์ ปลายปีเพิ่งถอดสายออกซิเจน วันนี้จะเสียบสายต่ออีกแล้ว”
เห็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่จังหวัดสมุทรสาครทะลุวันละ 500 ราย สะท้อนความรุนแรงที่สูงกว่าปี 2563 หากรวมกับผู้ติดเชื้อในจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศจึงเป็นไปได้ว่าภายในเดือนมกราคม ยอดผู้ติดเชื้อในแต่ละวันจะมีโอกาสแตะระดับ 1,000 คน และยอดติดเชื้อสะสมรวมทะลุ 10,000 รายแน่
หมอใหญ่โรงพยาบาลศิริราชเคยเตือนไว้ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2563 ช่วงที่ประเทศอินเดียเริ่มระบาดหนักวันละ 7 หมื่นคน เกาหลีใต้และอีกหลายประเทศในยุโรปเริ่มระบาดรอบสองซึ่งรุนแรงกว่ารอบแรกโดยไม่รู้แหล่งที่มาว่า ประเทศไทยอย่าคิดว่าจะปลอดภัยตลอดไปเพราะเพื่อนบ้านมีการติดเชื้อ การเดินทางข้ามพรมแดนและพัสดุต่างประเทศอาจนำการติดเชื้อเข้ามาได้
เมื่อเกิดการระบาดรอบสองในวันนี้คุณหมอบอกว่า “การเกิดโรคเองในประเทศมีความเป็นไปได้น้อยมาก เชื้อที่ปรากฏเป็นเชื้อนำเข้าแล้วระบาด เป็นการละเมิดแนวทางและมาตรการพึงปฏิบัติ”
ก็อย่างที่รู้กันคือการระบาดรอบสองเป็นเชื้อนำเข้ามาจากซ่องใหญ่ชายแดน เป็นเชื้อที่ติดมากับขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวแบบผิดกฎหมายแล้วมาระบาดในตลาดค้าอาหารทะเลที่ใช้แรงงานต่างด้าวเป็นหลัก และมาจากบ่อนการพนันทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมืองต่างจังหวัด
สะท้อนว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจคำเตือนจากภาคสาธารณสุข สะท้อนว่ากลไกรัฐไม่ทำงานแต่ทำเงิน และเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลไม่มีแผนรับมือที่มีประสิทธิภาพ
รัฐบาลย่ามใจตั้งแต่รู้ว่ามีการระบาดที่ตลาดกุ้งสมุทรสาครจึงไม่ประกาศล็อคดาวน์ทันที ปล่อยให้มีการเททิ้งแรงงานพม่า ปล่อยให้เกิดอพยพออกจากพื้นที่ทั้งแรงงานต่างด้าวและคนไทยจนไปแพร่ต่อนอกพื้นที่
นอกจากนี้รัฐบาลยังรีรอปล่อยให้ออกเดินทางท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ ปล่อยให้ไปเยี่ยมญาติ ปล่อยให้ขายเหล้าเบียร์ฉลองหยุดยาวแล้วค่อยมาบอกว่าคนไทย “การ์ดตก” ต้องประกาศคุมเข้ม
เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูง รัฐบาลจะให้กรุงเทพมหานครและอีก8จังหวัดโดยรอบล็อคดาวน์ สั่งปิดสถานที่เสี่ยง และจะไม่ให้นั่งกินที่ร้านอาหาร แต่พอมีเสียงต่อต้าน มีเสียงโวยวายว่าไม่ปิดห้างสรรพสินค้า ไม่ปิดร้านเซเว่นฯ( 7-11) เป็นการเอื้อนายทุนใหญ่ แต่สั่งปิดผู้ประกอบการรายเล็กๆ
สังคมตั้งคำถามตามมาว่าสั่งปิดกิจการแต่ไม่สั่งแบงก์ ไฟแนนซ์ บัตรเครดิต ให้หยุดเก็บหนี้และหยุดคิดดอกเบี้ย รัฐบาลจะให้ประชาชนหยุดงาน หยุดเงิน แต่ไม่หยุดหนี้ ถูกต้องแล้วหรือ
คำถามที่ตามมาอีกคือคนชั้นกลาง คนรากหญ้า ลูกจ้างรายวัน คนหาเช้ากินค่ำ คนที่ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ข้าราชการประจำ ไม่ใช่ส.ส. หรือส.ว. ที่นั่งหลับในสภาแล้วกินเงินเดือนระดับแสนจากภาษีประชาชนจะอยู่กันอย่างไรหากมีการลดเวลาทำงาน ลดสวัสดิการ ลดเงินเดือน หรือลอยแพรอบใหม่อีก
สุดท้ายที่สังคมถามรัฐบาลคือนอกจากพ่อค้ากุ้งที่ฆ่าตัวตาย จะมีอีกกี่ศพตามมาดังเช่นในปี 2563
รอบนี้ทำเอารัฐบาลชะงัก ยกเลิกคำสั่งแทบไม่ทันเพราะข่าวว่อนไปทั่วต้องแก้ไขคำสั่งยอมผ่อนปรน
แนวทางรัฐบาลรอบนี้จากเบาไปหาหนักตามภารกิจ “รวมใจไทย ต้านภัยโควิด-19” จากการประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) 28 จังหวัดเป็นพื้นที่สีแดงต้องควบคุมสูงสุด รองลงมา 11 จังหวัดสีส้มต้องควบคุม ที่เหลือ 38 จังหวัดสีเหลืองพื้นที่เฝ้าระวัง
ในพื้นที่สีแดงตอนนี้สั่งปิดสถานที่เสี่ยง จำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการบางประเภท งดกิจกรรมมั่วสุม ชุมนุม ตรวจเข้มเดินทางข้ามจังหวัด เรียนออนไลน์ Work From Home ซึ่งภายในสองสัปดาห์หรืออย่างช้าปลายเดือนมกราคมหากเห็นว่าจะเอาไม่อยู่ก็ต้องล็อคดาวน์ สุดทางคือประกาศเคอร์ฟิว
คิดเสียว่าปี 2563 เป็นการซ้อมใหญ่ ปี 2564 คือรบจริง เป็นชะตากรรมคนไทยที่ต้องเสี่ยงโรคโควิดและฝ่าภัยเศรษฐกิจ
อย่าไปนั่งฝันกับมาตรการฝนตกขี้หมูไหลไม่ได้เรื่องของรัฐบาล อย่าไปฝันกับ “วัคซีน”ที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะสั่งซื้อเพิ่ม หรือรัฐมนตรีสาธารณสุขคุยโม้แล้วโม้อีกว่าเร่งซื้อ 2 ล้านโดสมาภายในเดือนเมษายน เพราะแค่ฉีดให้บุคคลากรทางการแพทย์คนละ 2 โดสก็ไม่เพียงพอแล้ว
อย่ารอเงินเยียวยาเพราะที่กู้มาจ่ายรอบที่แล้วก็ยังไม่รู้จะหาจากไหนมาใช้หนี้
อย่าหวังยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาลที่ใช้อะไรไม่ได้ แค่ยุทธศาสตร์ปี 2564 รัฐบาลยังบอกประชาชนไม่ได้เลยว่าจะพาประเทศเดินหน้าต่อไปอย่างไร ตอนนี้ประชุมครม.ในแต่ละสัปดาห์ก็เพื่อซื้อเวลาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น