Digiqole ad

“จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.กระทรวงการคลังยืนยันรัฐบาลมุ่งมั่นเดินหน้านโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้สำเร็จในทุกทาง

 “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.กระทรวงการคลังยืนยันรัฐบาลมุ่งมั่นเดินหน้านโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้สำเร็จในทุกทาง
Social sharing

Digiqole ad
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์รายการ ‘กรรมกรข่าวคุยนอกจอ’ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ยืนยันรัฐบาลมุ่งมั่นเดินหน้านโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้สำเร็จในทุกทาง เพียงแต่ขณะนี้ต้องยอมรับความจริงว่า อาจต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมที่ได้ตั้งเอาไว้ในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยจะต้องนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกฤษฎีกา และความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเบื้องต้นได้มีการเผยแพร่ออกมาผ่านสื่อมวลชน และเนื้อหาเป็นไปในทิศทางที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการนี้ พร้อมมีข้อเสนอแนะต่างๆ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามอยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจสถานการณ์ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในขณะนี้ด้วย
1. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการที่คณะกรรมการนโยบายฯ รอเอกสารอย่างเป็นทางการของ ป.ป.ช. เพื่อให้นำเข้าสู่การพิจารณาพร้อมกับข้อแนะนำของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อจะได้ดำเนินการหาข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างครบถ้วน ซึ่งจากการติดตามข้อมูลผ่านสื่อมวลชน ได้ทราบว่า ป.ป.ช.อาจใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์หรือ 1 เดือนในการส่งเอกสารอย่างเป็นทางการ ทำให้ต้องบอกกันตรงๆ ว่า กรอบเวลาเดิมที่รัฐบาลกำหนดไว้คือเดือนพฤษภาคม อาจจะเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะกระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการต่างๆ ที่จะต้องดำเนินการต่อไป ล้วนแต่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น
.
2. จากที่ได้พิจารณาเนื้อหาข้อคิดเห็นของ ป.ป.ช. อย่างไม่เป็นทางการ ที่ปรากฎผ่านสื่อมวลชน เบื้องต้นทำให้เกิดความกังวลในเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่เกินของเขตหรือไม่ เพราะตาม พ.ร.ป. ป.ป.ช. มาตรา 32 กำหนดกรอบอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะ เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบเท่านั้น แต่ขณะนี้ดูเหมือนจะเข้ามาถึงการนำเสนอนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการกล่าวหาการดำเนินการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตอาจเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการวินิจฉัย ทั้งที่ยังไม่ได้มีการดำเนินโครงการ แต่กลับมีการตั้งความเห็นเอาไว้ก่อนแล้ว อีกทั้งการแนะนำให้ดำเนินนโยบายเฉพาะในส่วนของกลุ่มเปราะบางเท่านั้น ก็สุ่มเสี่ยงกับการก้าวล่วงอำนาจของประชาชนที่มอบให้รัฐบาลผ่านการเลือกตั้ง หรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลซึ่งได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน ได้แถลงนโยบายและได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ในการดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่การสงเคราะห์กลุ่มเปราะบางแต่อย่างใด
.
3. สำหรับข้อท้วงติงและข้อคิดเห็นของหน่วยงานทางเศรษฐกิจต่างๆ รัฐบาลพร้อมที่จะนำมาพิจารณาและรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน เพียงแต่ขอให้คณะกรรมการนโยบายฯ ได้ประชุมหารือกันอย่างละเอียดเสียก่อน อีกทั้งยังไม่เคยพูดว่าทุกหน่วยงานเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ด้วยกันทั้งหมด เพียงแต่หลักของเราคืออยากให้ทุกฝ่ายตั้งธงหลักกับความเห็นอกเห็นใจพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทุกอย่างก็น่าจะเดินหน้าไปได้
.
4. ยืนยันว่าเป้าหมายของรัฐบาลคือการเดินหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้สำเร็จ ทำให้เรายังมองว่ามีหนทางที่จะทำได้อยู่ เพียงแต่ขณะนี้อาจจะต้องเลื่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ไปก่อน เนื่องจากต้องรอเอกสารข้อคิดเห็นของ ป.ป.ช. อย่างเป็นทางการเท่านั้น
.
5. “เราอยากให้ฟังเสียงของประชาชนให้มากๆ อยากให้เข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน ที่ใช้คำว่า Democracy without Empathy ก็คือถ้าไม่มีความเห็นอกเห็นใจประชาชน และมองในเรื่องของการคะคานในเรื่องของการเมืองเป็นหลัก ประเทศชาติและประชาชนก็เดินหน้าลำบาก” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวย้ำ
.
6. สถานการณ์ในขณะนี้ การจะวินิจฉัยว่าวิกฤตหรือไม่นั้นดุลพินิจนี้น่าจะเป็นของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 บัญญัติให้ ครม.เป็นผู้บริการราชการแผ่นดิน ไม่ใช่หน่วยงานอื่น หากวินิจฉัยโดย ครม. ว่า เรามีวิกฤต ก็เป็นอำนาจในทางบริหารที่จะออกกฎหมายมาแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นอำนาจของ ครม. โดยชอบ สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงรัฐสภา ก็มีหน้าที่ในการตรวจสอบดุลพินิจดังกล่าว ผ่านการพิจารณาร่างกฎหมาย และสุดท้ายก็ยังมีช่องทางวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายผ่านทางศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วย แต่ขณะนี้ในส่วนของ ป.ป.ช. มีกรอบอำนาจเป็นการเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ ไม่ใช่การวินิจฉัยในเรื่องของนโยบายและอำนาจหน้าที่ของ ครม. ในเรื่องการวินิจฉัยภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจ
.
7. ยืนยันว่า รัฐบาลเดินหน้าในการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนทุกด้าน ทั้ง ลดราคาพลังงาน เดินหน้าพักหนี้ การแก้ไขหนี้ทั้งระบบ ไปจนถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งรัฐบาลชุดนี้มี 100 เรื่องให้ทำ แล้วเราทำทั้งหมด เราเดินหน้า 99 เรื่อง แต่เรื่องดิจิทัลวอลเล็ตในขณะนี้ ก็ต้องยอมรับความจริงว่าอาจจะช้าลง จากเดือนพฤษภาคมตามกำหนดที่รัฐบาลตั้งเอาไว้ เนื่องจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่จะไม่ได้หยุดนิ่ง และเราจะเดินหน้าทำในอีกหลายเรื่องพร้อมกัน ซึ่งขณะนี้ก็กำลังพัฒนานโยบายอีกหลายๆ ด้าน เพื่อดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนไปพร้อมกัน
.
ติดตามเนื้อหารายการ : https://youtu.be/tUJEd9gbXM4
ที่มา : เพจพรรคเพื่อไทย
Facebook Comments


Social sharing

Related post