Digiqole ad

“จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.กระทรวงการคลัง ตอบกระทู้มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน

 “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.กระทรวงการคลัง ตอบกระทู้มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน
Social sharing

Digiqole ad
นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้สดด้วยวาจาถามนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน โดยนางสาวลิณธิภรณ์ กล่าวว่าปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาใหญ่เพราะเมื่อใครมีหนี้คนนั้นแทบไม่มีสิทธิจะฝันถึงอนาคต และปัญหาหนี้สินนำไปสู่ปัญหาหนี้นอกระบบ ปัญหายาเสพติด ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขจริงจัง จึงมีคำถามถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ดังนี้
.
คำถามที่ 1 รัฐบาลจะแก้ปัญหาลูกหนี้ ที่ไม่กล้ามาลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เพราะเกรงกลัวอิทธิพลของเจ้าหนี้ได้อย่างไร และจะมีหลักประกันความปลอดภัยให้ลูกหนี้ได้อย่างไร และ คำถามที่ 2 รัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไรให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ร่วมแก้ปัญหาหนี้นอกระบบร่วมกันได้
.
นายจุลพันธ์ กล่าวตอบ 2 คำถามนี้ไปในคราวเดียวกันว่า โดยหลักการแล้วรัฐบาลมีความตั้งใจและจริงใจในการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบที่สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนขณะนี้ ซึ่งการแก้ไขหนี้นอกระบบจะต้องได้รับความร่วมมือจากฝ่ายเจ้าหนี้และฝ่ายลูกหนี้ร่วมกัน โดยภาครัฐก็ต้องมีมาตรการจูงใจเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาและตกลงกันให้ได้อย่างสมเหตุสมผลภายใต้กรอบของกฎหมาย นี่จึงเป็นที่มาให้ภาครัฐ ได้เปิดช่องทางการลงทะเบียนหนี้นอกระบบ เมื่อลูกหนี้มาลงทะเบียนหนี้นอกระบบด้วยความสมัครใจแล้ว ก็จะมีระบบติดตามความคืบหน้า รัฐโดยฝ่ายปกครองหรือตำรวจก็จะติดต่อไปยังเจ้าหนี้นอกระบบเพื่อนัดหมายให้สองฝ่ายมาเจรจาไกล่เกลี่ย ด้วยการใช้หลักเศรษฐศาสตร์ ดูมูลหนี้ ดูอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม และช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยอย่างสมเหตุผลที่สุด
.
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อเรื่องเจ้าหนี้ใช้อิทธิพลข่มขู่นั้น รัฐบาลคาดหมายแต่แรกแล้วว่า ลูกหนี้จะลังเลเพราะเป็นห่วงสวัสดิภาพความปลอดภัย แต่รัฐยืนยันว่ารัฐบาลจริงใจและตั้งใจในการแก้ไขปัญหา จึงขอให้เชื่อใจ และอยากฝากไปยังเจ้าหนี้ด้วยว่า การปล่อยกู้หนี้นอกระบบในอัตราเกินกว่ากฏหมายเป็นความผิด ดังนั้น หากเราคิดว่าลูกหนี้ได้ชำระหนี้ได้สมเหตุผลพอควร ก็ควรจะเจรจาไกล่เกลี่ยกัน แต่ถ้าลูกหนี้ยังชำระไม่ครบถ้วนพอควร ก็ต้องมีการปรับโครงสร้างเพื่อให้เจ้าหนี้และลูกหนี้พอใจสองฝ่าย และแต่หากเจ้าหนี้ไม่ยอมเจรจาแต่ไปใช้วิธีการไม่ถูกกฏหมาย ในส่วนนั้นก็ต้องมีการดำเนินการตามกฎหมาย
.
นอกจากการใช้กลไกการเจรจาแล้ว ภาครัฐ ยังใช้ช่องทางธนาคารของรัฐ เช่นธนาคารออมสิน เป็นต้น หากเมื่อเจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงกันได้ ก็สามารถปรับโครงสร้างโยกหนี้ไปอยู่ในธนาคารเพื่อให้อยู่ภายใต้การกำกับของกฎหมาย
.
นอกจากนี้ ยังมีอีกวิธีหนึ่ง คือการใช้สถาบันการเงินในระดับเล็กที่กำกับโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งเงื่อนไขนี้คือต้องมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท กู้หนี้ได้ไม่เกินรายละ 5 หมื่นบาท และอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 33 ต่อปี ในกรณีมีหลักประกัน แต่ถ้าไม่มีหลักประกันเรียกเก็บดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี ซึ่งก็จะเป็นช่องทางหนึ่งให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ
.
นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแนวคิดว่า หากเมื่อลูกหนี้มาลงทะเบียนหนี้นอกระบบแล้ว เจ้าหนี้ควรพักการคิดดอกเบี้ยและการชำระหนี้ไว้ก่อนชั่วคราว นับแต่วันที่แจ้งต่อภาครัฐ จนกว่าจะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้เสร็จสิ้นแล้วจึงค่อยดำเนินการกันต่อไป
.
คำถามที่ 3 ปัญหาหนี้ทั้งนอกระบบและในระบบ ล้วนมีสาเหตุมาจากปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้น นอกจากแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบของรัฐบาลแล้ว รัฐบาลยังมีมาตรการทางเศรษฐกิจอื่นใดในการช่วยตัดวงจรหนี้ให้กับประชาชน
.
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า หนี้มีสองด้าน คือหาเงินมาใช้หนี้ กับ การเพิ่มรายได้ให้เขาสามารถไปชำระหนี้ ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่วันนี้ คือการชักชวนนักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนไทย เพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการชวนเชิญนักท่องเที่ยวมาเที่ยวใช้จ่ายเงินในประเทศไทย ซึ่งมาตรการและวิธีทำในหลายส่วน จะเป็นส่วนประกอบเติมเต็มให้ประชาชนมีรายได้ มีงานทำ เพื่อนำรายได้ไปชำระหนี้ รวมถึงมาตรการที่รัฐบาลประกาศไปวันก่อน ไม่ว่าจะเรื่องแก้ไขหนี้ กยศ. หนี้ครู ข้าราชการ หนี้ SMEs ซึ่งก็จะช่วยปลอดล็อก ลดหนี้ ให้คนไทยได้ลืมตาอ้าปากได้
ที่มา : เพจพรรคเพื่อไทย
Facebook Comments


Social sharing

Related post