
จากนโยบายพรรค สู่การดำเนินงานของรัฐบาล


จากนโยบายพรรค สู่การดำเนินงานของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะรองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ และนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงภาคส่วนต่าง ๆ ได้ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาตินัดแรก พร้อมประกาศยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เริ่มต้นจาก 4 จังหวัดนำร่องบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ คิกออฟฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในหญิงอายุ 11-20 ปี 1 ล้านโดสในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมถึงนำร่องนโยบาย 50 เขต 50 โรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คาดว่าจะเริ่มต้นที่เขตดอนเมืองภายในเดือนธันวาคม 2566
.
1. นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้มีเพื่อขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ ให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยหารือ 5 ประเด็นเร่งด่วน ได้แก่ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่, มะเร็งครบวงจรและการให้วัคซีน HPV, สถานชีวาภิบาล, การเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขต กทม. และสุขภาพจิต/ยาเสพติด โดยจะมีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ” ทำหน้าที่ติดตามและกำกับการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ โดยให้นางสาวแพทองธาร เป็นประธาน และมีกรรมการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในระยะยาว คนไทยจะแข็งแรง และนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งต่อไป
.
2. ด้านนางสาวแพทองธารกล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคนมาตั้งแต่ปี 2544 ปัจจุบันครอบคลุมประชาชนมากกว่าร้อยละ 99.6 ซึ่งได้ช่วยลดจำนวนครัวเรือนที่ยากจนจากรายจ่ายด้านสุขภาพได้ แต่ยังต้องพัฒนาต่อและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความเหลื่อมล้ำในการรับบริการ ความแออัด และระยะเวลารอคอยการรักษา ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ ตั้งแต่ส่งเสริมป้องกัน ตรวจวินิจฉัย ดูแลรักษา นัดหมาย ส่งต่อ และเชื่อมโยงจัดการฐานข้อมูลทั้งหมด
.
3. ก้าวต่อไปของการยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ ประชาชนทุกระดับสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับบริการสุขภาพได้ทุกหน่วยบริการ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐ เอกชน คลินิก และร้านขายยาใกล้บ้าน รวมทั้งพัฒนาคุณภาพให้สะดวกรวดเร็ว โดยยึดหลัก “ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง” เช่น นัดหมายออนไลน์ ใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน พื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ทันท่วงทีผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังบ้านผู้ป่วย
.
4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงมีกระบวนการในการพัฒนานโยบายอย่างถี่ถ้วน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือต้องดูแลสุขภาพให้ดีทั้งกาย จิตใจ สติปัญญา สังคม ของพี่น้อง และได้นำเสนอ 13 นโยบายสำคัญ ได้แก่ โครงการเกี่ยวเนื่องกับพระราชดำริด้านการสาธารณสุข, การปิดช่องว่างในการให้บริการในเขตเมือง เช่น กรุงเทพฯ และเชียงใหม่, การดูแลสุขภาพจิตและยาเสพติด การดูแลมะเร็งครบวงจร, การดูแลบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน, การแพทย์ปฐมภูมิ, การดูแลพื้นที่เฉพาะกลุ่มเปราะบาง, สถานชีวาภิบาล, พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย, บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่, พัฒนาคุณภาพประชากร, พัฒนาเป็นกระทรวงที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ และสุดท้ายเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วน
.
5. โดยผู้เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ ได้ให้ข้อมูลแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายต่อที่ประชุม ดังนี้
.
5.1 สำหรับนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ จะนำร่องใน 4 จังหวัด คือ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ซึ่งจะสามารถรับบริการได้ทั้งในและนอกหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หลังจากนี้จะเร่งพัฒนาระบบบันทึกข้อมูล ระบบยืนยันตัวตน และเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายบริการต่อไป
.
5.2 ส่วนนโยบายมะเร็งครบวงจร จะครอบคลุมทั้งงานส่งเสริมป้องกัน คัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รักษา และดูแลผู้ป่วย โดยจะมีการคิกออฟทีม Cancer Warrior ในปลายเดือนตุลาคมนี้ โดยเฉพาะ 5 มะเร็งสำคัญ คือ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก และคิกออฟฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในหญิงอายุ 11-20 ปี 1 ล้านโดส วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 และคิกออฟ คัดกรองพยาธิใบไม้ในตับฟรี 1 แสนคน ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 นอกจากนี้ จะเพิ่มการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยี PET/CT Scan SPECT/CT
.
5.3 ส่วนสถานชีวาภิบาล จะพัฒนาคนเพื่อรองรับระบบชีวาภิบาลเพิ่มขึ้น 5 พันคน สร้างระบบชีวาภิบาลในทุกโรงพยาบาล บริการที่บ้าน ชุมชน และ Telemedicine และขยายสิทธิให้ครอบคลุมทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ โดยเป้าหมาย 100 วันแรกจะจัดตั้งสถานชีวาภิบาลทุกเขตสุขภาพและใน กทม. 7 เขต มีการจัดบริการ Hospital at Home ทุกจังหวัด โดยจะมีการเปิดสถานชีวาภิบาลต้นแบบในเดือนธันวาคม 2566
.
5.4 สำหรับการเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขตกรุงเทพมหานคร 50 เขต 50 โรงพยาบาล จะนำร่องโรงพยาบาลประจำเขตดอนเมืองระยะที่ 1 โดยยกระดับโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) เป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิขนาด 120 เตียง ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร เป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยนอกเฉพาะทางร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่าย และเตรียมพร้อมโรงพยาบาลราชวิถี 2 เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วย คาดว่าจะเปิดให้บริการทั้ง 3 ส่วนได้ภายในเดือนธันวาคม 2566
.
5.5 ขณะที่เรื่องสุขภาพจิตและยาเสพติด ยึดหลักการ “เพื่อนแท้มีทุกที่” ให้ประชาชนเข้าถึงบริการคุณภาพตั้งแต่ระยะแรก และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในชุมชนได้ โดยจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ทุกจังหวัดเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด ตามหลักการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันมีมินิธัญญารักษ์แล้ว 35 จังหวัด 64 โรงพยาบาล มีกลุ่มงานจิตเวชทุกอำเภอ และมีหอผู้ป่วยจิตเวช ทุกจังหวัด นอกจากนี้ จะส่งเสริมสุขภาพจิตเชิงรุกในชุมชน ค้นหากลุ่มเสี่ยงในชุมชน บริการฉุกเฉินจิตเวช เพิ่มการเข้าถึงบริการจิตเวชทางไกล และการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะยาวในชุมชน/สังคม
ที่มา : เพจพรรคเพื่อไทย
Facebook Comments