
“จะเปลี่ยนประเทศนี้ได้ เราต้องเขียนหนังสือ 3 เล่มใหม่ รัฐธรรมนูญ เอกสารงบประมาณประจำปี และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน” พริษฐ์-ศศินันท์ ร่วมคุยงานเทศกาลหนังสือเพื่อเสรีภาพ


ณ สถานีกลางบางซื่อ ในงาน ‘Gypsy Book Fest เทศกาลหนังสือเพื่อเสรีภาพ’ นอกจากการออกร้านขายหนังสือของสำนักพิมพ์ต่างๆ พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ – ทนายแจม – Sasinan Thamnithinan สส.กรุงเทพฯ เขตสายไหม พรรคก้าวไกล ได้ร่วมขึ้นเวทีเสวนา ‘หนังสือเปลี่ยนโลก’ แลกเปลี่ยนหนังสือในดวงใจ ที่เป็นจุดตั้งต้นทางความคิด
ก่อนเริ่มเสวนา พริษฐ์แสดงความเห็นว่า ไม่เพียงหนังสือเท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ แต่ปัจจุบันยังมีวิธีอื่นๆ ที่ทำให้คนเราเข้าถึงองค์ความรู้ได้หลากหลาย



“ความรู้เป็นอาวุธที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกได้ ยิ่งเราเข้าถึงความรู้ที่เปลี่ยนแปลงที่อัปเดตมากเท่าไร ก็จะทำให้พัฒนาความคิดที่เป็นประโยชน์ในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้ เราอย่ามองว่าการเข้าถึงความรู้จำเป็นจะต้องผ่านการอ่านหนังสืออย่างเดียว การเข้าถึงความรู้นั้นมีหลายวิธี”
นอกจากนี้ พริษฐ์ ในฐานะนักเขียนยังได้ยกหนังสือ 2 เล่ม มาร่วมพูดคุยถึงทางออกของประเทศ
‘Why So Democracy ประชาธิปไตยมีดีอะไร’ – หนังสือเล่มแรกที่ถูกเขียนขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน เพื่อตั้งคำถามและนำไปสู่การถกเถียง เช่น ผู้แทนฯ ควรเป็นผู้นำหรือผู้ตาม, แก้ปัญหา กทม. ไม่สามารถแก้ได้ที่ กทม. หรือสังคมที่เหลื่อมล้ำสูง สามารถมีความยุติธรรมได้ไหม
‘Dreamocracy ประชาธิปไตยไม่ใช่ฝัน’ – หนังสือเล่มถัดมาที่แสดงมุมมองส่วนตัว สะท้อนความฝันต่อประเทศไทยในประเด็นต่างๆ โดยหนึ่งข้อความสำคัญที่พริษฐ์ฝากไว้คือ “จะเปลี่ยนประเทศนี้ได้ เราต้องเขียนหนังสือ 3 เล่มขึ้นใหม่ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ เอกสารงบประมาณประจำปี และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน” พร้อมกับบอกด้วยว่าในความเห็นของเขา ควรเขียนหนังสือ 3 เล่มนี้อย่างไร
ด้านศศินันท์ ชวนอ่าน ‘จนกว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน’ เขียนโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล เพื่อประกอบการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางการเมืองในโมงยามปัจจุบัน
พริษฐ์และศศินันท์ยังแลกเปลี่ยนเรื่องนโยบายและหนังสือเปลี่ยนโลกกับผู้อ่านที่มาร่วมงาน โดยหนังสือหลายเล่มที่พริษฐ์และศศินันท์เลือก เกี่ยวข้องกับภาษาและจินตนาการ ทั้งสองเริ่มต้นจากการอ่านสิ่งที่เข้าถึงง่ายที่สุดอย่างการ์ตูน ไม่ว่าจะเป็น โดราเอมอน โคนัน ไปจนถึงตึ๋งหนืด

-แฮร์รี่ พอตเตอร์ โดย เจ.เค. โรว์ลิ่ง
-ความยุติธรรม (Justice what’s the right thing to do?) โดย ไมเคิล เจ แซนเดล
-สะกดความคิด สะกิดพฤติกรรม (Nudge) โดย Richard H. Thaler & Cass R. Sunstein.
-The Ministry for the Future โดย คิม สแตนลีย์ โรบินสัน


ระหว่างเสวนาถึงหนังสือ The Ministry for the Future พริษฐ์แนะนำเรื่องย่อว่ามีการตั้งกระทรวงขึ้นมา เพื่อปกป้องสิทธิของคนรุ่นถัดไป ในส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับความท้าทายใหม่ที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็น ภาวะสภาพอากาศแปรปรวน สังคมสูงวัย เทคโนโลยีดิสรัปชั่น
ศศินันท์ ยังพูดถึงอัตราการเกิดที่ต่ำที่เกิดขึ้นคู่ขนานกับสังคมสูงวัย โดยระบุว่าช่วงนี้เป็น ‘สัปดาห์นมแม่โลก’ ทำให้คิดถึงนโยบายลาคลอด ห้องให้นม โดยขณะนี้กำลังทำนโยบายเกี่ยวกับเด็กเล็ก พบว่าการอัดฉีดจากรัฐด้วยเงินช่วยเหลือเด็กอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้คนอยากมีลูก เพราะการสร้างบรรยากาศที่จะทำให้คนอยากมีลูกเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งบรรยากาศที่ว่านั้น คือบรรยากาศแห่งความหวังและการเมืองที่ดี
จบเวทีเสวนา พริษฐ์ยังได้ร่วมพูดคุยพบปะกับนักอ่านที่บูธคณะก้าวหน้า โดยงานสัปดาห์หนังสือเพื่อเสรีภาพ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม – 6 สิงหาคม 2566
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล

Facebook Comments