Digiqole ad

คำถามประชามติแบบนี้มีปัญหา ตั้งเงื่อนไขไม่มีเหตุผล รัฐบาลจะทบทวนหรือไม่?

 คำถามประชามติแบบนี้มีปัญหา ตั้งเงื่อนไขไม่มีเหตุผล รัฐบาลจะทบทวนหรือไม่?
Social sharing

Digiqole ad
ย้อนไปปลายปีที่แล้ว (25 ธ.ค. 66) คณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ ของรัฐบาล ออกมาแถลงข่าวความคืบหน้าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยสรุปว่าจะเสนอคำถามประชามติคำถามแรกให้คณะรัฐมนตรีเดินหน้าจัดทำประชามติ ด้วยการถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”
.
วันนี้ (11 ม.ค. 67) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชัยธวัช ตุลาธน – Chaithawat Tulathon หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้นำฝ่ายค้าน ตั้งกระทู้สดถามนายกรัฐมนตรีเรื่องนี้ โดยรัฐบาลมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นผู้ตอบคำถามแทน
.
ชัยธวัชอภิปรายว่า พรรคก้าวไกลสนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยกระบวนการตั้ง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และที่ผ่านมาไม่เคยมีข้อเสนอใดๆ ที่จะให้มีการแก้ไขหมวด 1 หรือหมวด 2 แต่คำถามที่คณะกรรมการศึกษาฯ กำลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา มีปัญหาต้องท้วงติง
.
📌1) คำถามประชามติที่คณะกรรมการศึกษาเสนอนั้น ขัดต่อหลักการสำคัญที่ว่าประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ
.
เนื่องจากมีการระบุข้อยกเว้นว่าจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ก็ได้ แต่ห้ามทำใหม่ทั้งฉบับ คำถามคือตกลงในสังคมไทย ผู้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับจะมีเพียงคณะรัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญตามใจชอบอย่างนั้นหรือ
.
📌2) พรรคก้าวไกลคาดหวังว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งนี้ จะทำให้สังคมไทยที่มีความคิดเห็นแตกต่างขัดแย้งกันมาสิบกว่าปี สามารถแสวงหาฉันมามติใหม่ร่วมกันได้ผ่านเวทีการจัดทำรัฐธรรมนูญ
.
เราไม่เชื่อว่าจะมีความคิดเห็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปอยู่ในรัฐธรรมนูญใหม่ฝ่ายเดียว ไม่มีใครจะได้อย่างที่ตัวเองต้องการทั้งหมด แต่การตั้งคำถามประชามติบแบบนี้จะส่งผลให้ประชาชนที่มีความเห็นไม่ตรงกัน บางส่วนรู้สึกถูกกีดกันออกจากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญนี้ตั้งแต่วันแรก เราจะสูญเสียโอกาสในการหาฉันทามติใหม่ด้วยคำถามแบบนี้
.
📌3) คำถามประชามติแบบนี้มีปัญหา เพราะเป็นคำถามที่กังวลมากเกินไปจนอาจไปสร้างปัญหาใหม่โดยไม่จำเป็นขึ้นมา
.
เนื้อหาในรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 มีการเปลี่ยนแปลงเสมอเมื่อมีการทำรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ไม่นานมานี้มีความพยายามสร้างความกลัวและความเข้าใจผิดทางการเมือง ว่าการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 เป็นเรื่องอันตราย จะไปกระทบกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งที่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันก็มีข้อจำกัดชัดเจนอยู่แล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไปส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและรูปแบบของรัฐไม่ได้อยู่แล้ว
.
นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลให้เกิดปัญหาในเชิงเทคนิคเชิงกฎหมาย เนื่องจากรัฐธรรมนูญในแต่ละหมวดโยงใยสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การยกร่างใหม่เกือบทุกหมวดแล้วล็อกไม่ให้แก้ไขในหมวดใดหมวดหนึ่งอาจทำให้เกิดปัญหา เช่น ในกรณีที่ สสร. เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้ยกเลิกวุฒิสภา หากปรากฏว่าถ้ามีข้อความใดข้อความหนึ่งที่พูดถึงวุฒิสภาในหมวด 1 และหมวด 2 จะไปตัดข้อความออกในหมวด 1 และหมวด 2 นั้นได้หรือไม่
.
เช่นเดียวกับปัญหาทางการเมือง เช่น จากประสบการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ในการทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 หลังผ่านประชามติไปแล้ว ปรากฏว่ารัฐบาลในขณะนั้นแจ้งว่ามีพระราชประสงค์แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 คำถามคือถ้าในอนาคตมีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีกรัฐบาลจะทำอย่างไรในเมื่อล็อกไปแล้ว
.
📌4) คำถามไม่ระบุว่าจะให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร.
.
รัฐบาลให้เหตุผลว่าการเสนอคำถาม สสร. อาจจะถูกนำไปตีความว่าจะกลายเป็นการจัดทำประชามติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แม้ตนจะพยายามเข้าใจเหตุผล แต่ก็อยากให้รัฐบาลพิจารณาผลด้านกลับของมันด้วย เพราะอาจกลายเป็นการวางยาให้ตัวเอง
.
.
สุดท้ายการตั้งคำถามประชามติที่ตั้งเงื่อนไขไว้อย่างไม่มีเหตุผลเช่นนี้ อาจทำให้ประชามติผ่านยากขึ้น เพราะเป็นคำถามที่แทนที่จะแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างให้มากที่สุด กลับจะทำให้เสียงแตกและกลายเป็นการวางยาตัวเอง
.
เป็นการตั้งคำถามด้วยความรู้สึกจงรักภักดีแบบล้นเกิน อาจทำให้การถกเถียงที่แทนที่จะเถียงกันว่าควรจะมีรัฐธรรมนูญใหม่แทนหรือไม่ กลับจะกลายเป็นการถกเถียงกันในประเด็นว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
.
จึงอยากให้รัฐบาลคิดถึงผลด้านกลับของคำถามแบบนี้ และขอถามว่ารัฐบาลจะมีการทบทวนข้อเสนอคำถามประชามติครั้งที่ 1 ของคณะกรรมการศึกษาฯ หรือไม่
.
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post