
ความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนของจีน ทิศทางการพัฒนาของทุกประเทศในอนาคต

ปัญหาความยากจน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศในโลก แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ยังคงมีปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เพียงแค่ว่าระดับความหนักหนาสาหัสของปัญหาจะแตกต่างกันเพียงใดเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นปัญหาที่ท้าทายของทุกประเทศ
ดังนั้น การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนให้คำมั่นสัญญาในการประชุมสมัชชาใหญ่ผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศ ครั้งที่ 18 เมื่อปี 2012 ว่า ภายในปี 2020 ประชากรยากจนในชนบททั้งหมดจะหลุดพ้นจากความยากจนภายใต้มาตรฐานปัจจุบัน จึงไม่เพียงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับประเทศจีนเองเท่านั้น แต่ยังเป็นที่จับตามองจากทั้งโลกว่า จีนจะสามารถทำได้ตามคำมั่นสัญญาจริงหรือไม่
เพราะจากประวัติศาสตร์ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในประเทศจีนมีปัญหาความยากจนมานานหลายพันปี และแม้ว่าจะมีการสถาปนาจีนใหม่ มีการดำเนินนโยบายการปฏิรูปและเปิดประเทศสู่ภายนอก มีการการบรรเทาปัญหาความยากจนโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แต่การที่ต้องช่วยให้ชาวชนบท 700 ล้านคน สามารถหลุดพ้นจากความยากจน ถือเป็นโจทย์ที่ยากเย็นไม่น้อย
ถึงแม้ว่าจีนใหม่จะเป็นประเทศสังคมนิยมที่ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อปี 1949 ซึ่งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาจะพบว่ายังคงเห็นความยากจนในหลายพื้นที่ชนบทของจีนอยู่ โดยในช่วงสิ้นปี 1978 ประชากรในชนบทที่อยู่ใต้เส้นความยากจนมีสัดส่วนสูงถึง 97.5% หรือ คิดเป็นจำนวน 770 ล้านคน การประกาศทำสงครามกับความยากจนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ
โดยจากสถิติพบว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรจีนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงมากกว่า 800 ล้านคน หรือกว่า 70% ของคนยากจนทั้งโลก การให้คำมั่นสัญญาในการประชุมสมัชชาใหญ่ผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศ ครั้งที่ 18 จึงถือเป็นการประกาศนโยบายที่กล้าหาญและท้าทาย ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2012 นายสี จิ้นผิง หลังจากที่ได้รับเลือกให้เป็น เลขาธิการใหญ่ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้พบปะกับผู้สื่อข่าวจีนและผู้สื่อข่าวต่างชาติ ได้มีการกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า
“ความปรารถนาของประชาชนในการมีชีวิตที่ดีขึ้น คือ เป้าหมายของเรา”
และนับจากวันนั้น ปรากฏการณ์ที่จำนวนประชากรยากจนของจีน ลดลงจาก 98.99 ล้านคนในปี 2012 เหลือ 5.51 ล้านคนในปี 2019 เฉลี่ยแล้วเท่ากับว่าเป็นการลดลงกว่าปีละ 10 ล้านคน ติดต่อกัน 7 ปี ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 โดยมีผลให้รายได้สุทธิเฉลี่ยต่อหัวของประชากรยากจนที่ขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้นจาก 4,124 หยวนในปี 2016 มาเป็น 9,057 หยวนในปี 2019 หรือเท่ากับเติบโตขึ้นเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 30 ก็กลายเป็นสิ่งที่ยืนยันความตั้งใจของจีนได้เป็นอย่างดี
และจากข้อมูลยังพบว่าหลังการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ครั้งที่ 18 เป็นต้นมา จีนได้กำหนดให้การแก้ไขอุปสรรคและความยากลำบากในการขจัดความยากจนเป็นภาระหน้าที่ขั้นพื้นฐาน และดัชนีชี้วัดที่สำคัญในการสร้างสังคมมีกินมีใช้รอบด้าน มุ่งเน้นไปที่การต่อสู้เอาชนะสงครามขจัดความยากจนอย่างตรงจุด และเต็มไปด้วยความเชื่อในว่า ในปี 2020 จะต้องเป็นปีสุดท้ายแห่งการบรรลุเป้าหมายการขจัดความยากจนได้อย่างแน่นอน
อีกทั้งเพื่อให้บรรลุผลในการขจัดความยากจน จีนยังได้มีการกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ในการแก้ไขปัญหาความยากจนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 โดยพบว่าระหว่างปี 2016-2020 จีนได้ขับเคลื่อนมาตรการขจัดความยากจนอย่างเต็มกำลังทำให้ตัวเลขสถิติในช่วงปลายปี 2019 ประชากรผู้ยากจนที่อาศัยอยู่ในชนบทของจีน มีจำนวนเหลืออยู่ประมาณ 5.51 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรในพื้นที่ทุรกันดารที่ห่างไกลและมีสภาพยากลำบาก
แม้จะดูเหมือนเป็นจำนวนที่ลดลงมามากแล้วก็ตาม แต่จากรายงานข่าวจะพบว่าจีนเองยังคงถือว่าการดำเนินการเพื่อให้ประชากรยากจนที่ยังเหลืออีกกว่า 5.51 ล้านคนในจีน ต้องหลุดพ้นจากความยากจนทั้งหมด และอำเภอยากจนที่ถือเป็น “ความยากจนในความยากจน” ต้องหลุดออกจากบัญชีพื้นที่ยากจนทั้งหมดก่อนสิ้นปี 2020 นั้น นับเป็นภาระที่หนักที่สุด เป็นเป้าหมายที่ยากที่สุด
ทำให้ตลอดปี 2020 จะพบข่าวที่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เร่งดำเนินการในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างหนัก เพราะแค่การแก้ปัญหาคนยากจนที่แม้ดำเนินการผ่านมา 7 ปีแล้ว ก็ยังไม่พ้นเส้นความยากจนนั้น เมื่อมาทับซ้อนเข้ากับสถานการณ์ในปี 2020 ซึ่งเป็นปีไม่ปกติ เพราะเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 อย่างกะทันหัน ตั้งแต่ต้นปี และสร้างผลกระทบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทำให้ในช่วงต้นเดือนมีนาคม สี จิ้นผิง ต้องเรียกประชุมครั้งใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับการขจัดความยากจนนับตั้งแต่การประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ครั้งที่ 18 เพื่อยืนยันต่อที่ประชุมว่า ยังคงยืนหยัดแนวคิดการพัฒนาที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง กำหนดเป้าหมายและภาระหน้าที่ที่ชัดเจนสำหรับการทำให้ประชาชนผู้ยากจนในชนบทหลุดพ้นจากความยากไร้ อำเภอยากจนหลุดออกจากบัญชีพื้นที่ยากจนทั้งหมดและแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงภูมิภาคให้ได้
“นี่เป็นการต่อสู้ที่ยากเข็น ด้วยเหตุนี้ ยิ่งถึงขั้นตอนสุดท้าย ยิ่งต้องเข้มงวด หยุดชะงักไม่ได้ ประมาทไม่ได้ และผ่อนคลายไม่ได้ มณฑล เขต และเมืองต่าง ๆ ทุกแห่งต่างได้ลงนามในสัญญาแล้ว เมื่อให้คำมั่นสัญญาแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตาม และให้ประจักษ์เป็นจริงขึ้น”สี จิ้นผิง กล่าวเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2020
หลังจากนั้น แม้จะอยู่ในสถานการณ์ควบคุมการแพร่ระบาดและแก้ไขปัญหาโควิด-19 แต่ยังคงมีข่าวการลงพื้นที่ของประธานาธิบดีสี ที่เดินทางไปตรวจเยี่ยมงานบรรเทาความยากจนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อให้กลไกของพรรคในทุกระดับชั้นให้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่อย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง
และในเดือนกันยายน ปี 2020 ประธานาธิบดีสี ได้กล่าวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 75 ว่า “นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ประชาชนจีน 1,400 ล้านคนไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก สามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ขจัดผลกระทบจากโควิด-19 อย่างเต็มกำลังความสามารถ เร่งฟื้นฟูระเบียบการผลิตและการดำรงชีวิต เรามีความมั่นใจที่จะบรรลุการสร้างสังคมมีกินมีใช้อย่างรอบด้านและทำให้ประชากรยากจนหลุดพ้นจากความยากไร้ด้วยความสำเร็จตามกำหนด ซึ่งจะทำให้จีนสามารถบรรลุเป้าหมายการลดความยากจนตามวาระว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2030 แห่งสหประชาชาติก่อนเวลากำหนดเวลา 10 ปี”
ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญนอกจากความมุ่งมั่น คือแนวทางในการบริหารจัดการ ซึ่ง จีนได้จัดตั้งกลไกบรรเทาความยากจนและการบุกเบิกพัฒนา โดยมีคณะกรรมการกลางพรรควางแผนภาพรวม มีมณฑล เขตปกครองตนเอง และนครที่ขึ้นตรงต่อส่วนกลางรับผิดชอบกำกับดูแลให้ระดับอำเภอหรือส่วนท้องถิ่นปฏิบัติตามอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้นั่นเอง
ในรายงานการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 19 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีข้อมูลเกี่ยวกับการระดมสรรพกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประชาชนทั่วประเทศ ร่วมมือกันดำเนินภารกิจและมาตรการขจัดความยากจนอย่างตรงจุด ยึดหลักให้องค์กร แกนนำส่วนกลางของพรรคฯ เป็นผู้บูรณาการวางแผนงาน พรรคฯ และรัฐบาลในแต่ละมณฑลเข้ามาร่วมรับภาระความรับผิดชอบทุกอย่าง พรรคฯและรัฐบาลในระดับเมืองและอำเภอมุ่งขับเคลื่อนมาตรการภาคปฏิบัติอย่างรัดกุม สร้างเป็นกลไกการทำงานที่เข้มแข็ง ให้ทุกภาคส่วนทำงานสอดประสานกัน เน้นภารกิจในพื้นที่ยากจนมากที่ต้องแก้ไขให้หลุดพ้นจากความยากจนอย่างรอบด้าน สร้างหลักประกันทั้งหมดเพื่อให้จีนสามารถบรรลุเป้าหมายแก้ไขปัญหาความยากจนภายในปี 2020 ให้ได้นั่นเอง
และจากข้อมูลของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย พบว่า จีนได้คัดเลือกเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจระดับอำเภอรวมกว่า 3 ล้านคนเข้าร่วมภารกิจลงพื้นที่ประจำหมู่บ้านเพื่อช่วยแก้ไขความยากจน โดยปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ที่กำลังดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯคนที่ 1ประจำหมู่บ้านยากจน รวม 2.06 แสนคน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ประจำหมู่บ้านอีก 7 แสนคน ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้ใช้ปฏิบัติการเชิงรุกในการให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้าน ขับเคลื่อนนโยบายขจัดความยากจนทั้งระดับส่วนกลางและท้องถิ่นให้เข้าถึงพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งถือว่ามีบทบาทอย่างมากในสงครามขจัดความยากจนของจีน
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศชัยชนะต่อความยากจน เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2020 ว่า “เราได้ทำหน้าที่บรรเทาความยากจนในโลกยุคใหม่ได้เสร็จสมบูรณ์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ในปัจจุบัน คนยากจนทั้งหมดในชนบทได้พ้นขีดความยากจนแล้ว และมณฑลยากจนทั้งหลายได้หมดสิ้นไป ความยากจนถึงขีดสุดและความยากจนทั้งภูมิภาคที่เคยมีได้ถูกกำจัดแล้ว”
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้มีการแสดงความชื่นชมในความสำเร็จของจีนในครั้งนี้ โดยระบุว่ายุทธศาสตร์การช่วยเหลือผู้ยากจนอย่างตรงจุดเป็นหนทางเดียวในการช่วยเหลือประชากรยากจนและบรรลุเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของกระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน และยังย้ำด้วยว่า ประสบการณ์ของจีนเป็นที่น่าศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติตามของประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ
สะท้อนถึงว่าแผนบรรเทาความยากจนและผลสำเร็จด้านการบรรเทาความยากจนของจีนได้รับการรับรองและการประเมินค่าอย่างสูงจากประชาคมโลก และเห็นว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ดังนั้นจึงเป็นตัวอย่างที่สำคัญสำหรับประเทศต่างๆ ที่ควรจะต้องเรียนรู้จากความสำเร็จในครั้งนี้ของจีน ซึ่งแม้ว่าโดยโครงสร้างการเมือง สถานการณ์เศรษฐกิจ ตลอดจนรูปแบบของสังคมอาจจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ แต่หากจับจุดถึงหัวใจในการแก้ไขปัญหาความยากจนของจีนว่าตั้งอยู่บนพื้นฐานของความมุ่งมั่น ทุ่มเท และดำเนินการอย่างจริงจังในทุกๆระดับแล้ว ไม่ว่าจะมีรูปแบบการปกครองอย่างไร เชื่อว่าก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ลุล่วงเช่นกัน หากทุ่มเท และดำเนินการต่อเนื่องอย่างจริงจังเช่นเดียวกับจีนที่ใช้เวลา 8 ปี นับตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปี 2020 เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนให้ประสบผลสำเร็จ
วันนี้ประโยคที่ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของจีน ที่กล่าวว่า “ปัญหาความยากจนที่มีมานับร้อยนับพันปีของประชาชาติจีนจะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นประวัติการณ์ในยุคสมัยของเรา” ได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ และ ณ วันนี้จีนได้กลายเป็นประเทศที่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติในด้านการขจัดความยากจนให้หมดไปได้แล้วจริงๆ
แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งอีกประการ ที่ไม่อาจจะมองข้ามก็คือ ก้าวต่อไปของจีน เพราะในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 5 แห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 19 ได้มีการพิจารณาตรวจสอบและผ่านข้อเสนอของการกำหนดแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปีฉบับที่ 14 ซึ่งระบุว่า จะบรรลุเป้าหมายการสร้างสรรค์สังคมที่อยู่ดีมีสุขอย่างรอบด้านตามเวลาที่กำหนดไว้ โดย จีนจะเริ่มต้นกระบวนการของการสร้างสรรค์ประเทศที่ทันสมัยแห่งสังคมนิยมอย่างรอบด้าน จีนจะจัดขั้นตอนการพัฒนาใหม่นี้ตามหลักวิทยาศาสตร์ ยึดมั่นแนวคิดการพัฒนาแบบใหม่ และจีนจะขยายการเปิดกว้างเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพของการปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก
ดังนั้น นับจากนี้ไป ทุกการพัฒนาของจีนเป็นสิ่งที่ทุกประเทศทั่วโลกควรเรียนรู้ และพัฒนาความร่วมมือที่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์กับทุกๆประเทศในโลกนั่นเอง
ภูวนารถ ณ สงขลา
นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน
บรรณาธิการบริหาร บางกอกทูเดย์