Digiqole ad

#คลับเฮ้าส์toxic ปรากฎการณ์สะท้อนสังคมและการสื่อสารออนไลน์

 #คลับเฮ้าส์toxic ปรากฎการณ์สะท้อนสังคมและการสื่อสารออนไลน์
Social sharing
Digiqole ad

แฮชแท็ก #คลับเฮ้าส์toxic กลายเป็นประเด็นร้อนติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ของประเทศไทย เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 หลังมีการตั้งกลุ่มในแอปพลิเคชันคลับเฮ้าส์ (ClubHouse) เหยียดคนอีสานด้วยถ้อยคำรุนแรง นอกจากนี้ยังมีการกล่าวพาดพิงไปถึงบุคคลต่าง ๆ ในวงการบันเทิง จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโซเชียลมีเดีย จากกระแสนี้จึงทำให้กลุ่มคำ ดราม่าคนอีสาน คลับเฮ้าส์toxic คลับเฮ้าส์ด่าคนอีสาน เหยียดคนอีสาน ถูกกล่าวถึง และติดคำค้นใน Google Trends ในช่วงเวลานั้น

ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ต่อพฤติกรรมของกลุ่มคนในคลับเฮ้าส์ Toxic พบว่า มีคนในวงการบันเทิงส่งกำลังใจและให้มีความภูมิใจในความเป็นอีสาน รวมถึงมีการสื่อสารจากนักการเมือง โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านที่ยื่นหนังสือต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อขอให้มีการตรวจสอบและสืบสวนข้อเท็จจริงของการแสดงความคิดเห็นที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้งภายในประเทศที่อาจลุกลามบานปลายได้

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ความรู้สึกในการสื่อสารออนไลน์ เกี่ยวกับ “คลับเฮ้าส์ Toxic เหยียดคนอีสาน” พบว่า จากตัวอย่างข้อความในทวิตเตอร์คนทั่วไปจำนวน 100 ข้อความ ส่วนใหญ่คือ จำนวน  77 ข้อความ มีความเห็นเชิงลบต่อกลุ่มคลับเฮ้าส์ Toxic เหยียดคนอีสาน โดยไม่เห็นด้วย ไม่สนับสนุน ตำหนิ ตอบโต้ แดกดัน ต่อทัศนคติและพฤติกรรมการเหยียดคนอีสานหรือบุคคลอื่น รวมถึงให้จัดการกับบุคคลในกลุ่มคลับเฮ้าส์ Toxic และไม่ต้องการให้กลุ่มคนเหล่านี้มีที่ยืนในสังคม

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า คำพูดเชิงเหยียดหยามในคลับเฮ้าส์ เกิดจากมายาคติ หรือความคิดความเชื่อเรื่องความเป็นไทยที่ได้รับการปลูกฝังมายาวนาน แต่ในความเป็นจริง ความเป็นไทยประกอบด้วยผู้คนที่มีประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ ตลอดจนความคิดและความเชื่อหลากหลาย ดังนั้น ภาพมายาคติความเป็นไทยตามที่รัฐกำหนด เท่ากับเป็นการพยายามปิดกั้นและกดทับความแตกต่างของคนบางกลุ่ม วิธีการนี้ยิ่งทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านนโยบายสาธารณะ ซึ่งหากต้องการยกระดับสังคมไทยให้มีคุณภาพ จำเป็นต้องทำความเข้าใจในความแตกต่าง สร้างความเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ปล่อยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง

เมื่อการสื่อสารของกลุ่มคลับเฮ้าส์ Toxic เหยียดคนอีสานถูกเผยแพร่ แล้วผู้ใช้สื่อออนไลน์ออกมาตอบโต้นั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรษาสิริ ให้ความเห็นว่า การสื่อสารควรเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เพราะการใช้ถ้อยคำหรือข้อความที่แฝงด้วยการประชดประชัน หรือด่าทอกันแรง ๆ เพียงอย่างเดียว ไม่อาจทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นควรกลับมาทบทวนว่าการแลกเปลี่ยนบทสนทนาที่เกิดขึ้นนั้นมีจุดประสงค์เพื่ออะไร มากกว่าการใช้พื้นที่ออนไลน์เป็นเพียงสนามปะทะทางอารมณ์ โดยการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพสังคมต่อไป ทั้งที่ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียหรือสังคมออนไลน์เป็นที่นิยม และเป็นสื่อกลางให้คนจากหลากหลายกลุ่มได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ส่งผลให้เกิดความเข้าใจ ความช่วยเหลือ และความร่วมมือซึ่งกันและกัน ดังเช่นเมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา จนรัฐไม่สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที สื่อออนไลน์ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ทำให้คนที่อยู่ต่างพื้นที่ได้รับรู้สถานการณ์ ประสานความช่วยเหลือต่าง ๆ ซึ่งไม่จำกัดแค่ในประเทศเท่านั้น ดังจะสังเกตได้จากเมื่อเกิดภัยพิบัติในประเทศอื่น ๆ ก็จะเห็นการประกาศระดมทุนหรือการขอความช่วยเหลือต่าง ๆ ผ่านสื่อออนไลน์ ตลอดจนการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่มีความเปราะบาง และสื่อมวลชนอาจไม่ได้นำมาพูดคุยในพื้นที่สาธารณะมากนัก สื่อสังคมออนไลน์ก็กลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามาร่วมพูดคุยกันได้

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรษาสิริ กล่าวถึงแอปพลิเคชันคลับเฮ้าส์ว่าเป็นการสื่อสารออนไลน์ช่องทางใหม่ ที่มีความแตกต่างจากโซเชียลมีเดียอื่น ๆ เพราะเป็นแอปพลิเคชันเสมือนการจำลองคนมาล้อมวงคุยกัน ดังนั้นความท้าทายอาจไม่ได้อยู่ที่ระบบอัลกอริทึมเหมือนกับแพลตฟอร์มออนไลน์ชนิดอื่น ๆ ที่มักจะมีการคัดเลือกเนื้อหาที่ผู้ใช้ให้ความสนใจ จนบางครั้งทำให้ติดกับดักทางความคิด (Echo Chamber) กับการรับสารข้อมูลเพียงด้านใดด้านหนึ่งอย่างเดียว สำหรับแอปพลิเคชันคลับเฮ้าส์ ความท้าทายจะอยู่ที่พิธีกร (Moderator) ที่คอยทำหน้าที่กำกับดูแลวงสนทนานั้น ๆ ให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ และนำไปสู่การตกผลึกทางความคิด ต่อยอดทางความรู้ต่อไป เหล่านี้ปรากฏการณ์คลับเฮ้าส์ Toxic สะท้อนให้เห็นว่า ท่ามกลางโลกสมัยใหม่ที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายในทุก ๆ เรื่อง ทั้งอัตลักษณ์ เพศสภาพ และชาติพันธุ์ แต่มายาคติของสังคมไทยยังคงฝังรากลึกไม่เสื่อมคลาย ดังจะเห็นว่าผู้เข้าร่วมคลับเฮ้าส์ Toxic เหยียดคนอีสาน ส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน กรณีนี้สื่อไม่จำเป็นต้องกล่าวตำหนิตัวคนพูด แต่ควรเชื่อมโยงให้เห็นว่าความเชื่อตามมายาคติเหล่านั้น มีผลต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ อันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและคุณภาพชีวิตที่ไม่เท่ากันอย่างไร

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรษาสิริ เสนอว่า รัฐต้องทำความเข้าใจต่อความหลากหลายในสังคมให้มากกว่าที่เป็นอยู่ พร้อมกับเปิดพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มสังคมเข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ กีดกัน หรือลิดรอนสิทธิ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และที่สำคัญให้ประชาชนได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ จะได้รับรู้ว่าสังคมเกิดปัญหาอะไร เพื่อที่รัฐจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้สังคมขับเคลื่อนไปข้างหน้าต่อไป

นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรษาสิริ ยังได้เสนอแนะต่อภาคสื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อเชิงพาณิชย์ว่า ต้องทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมว่ามีความซับซ้อน ก่อนที่จะถ่ายทอดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สื่อมวลชนควรพยายามหาความรู้ ศึกษาหรือถามจากผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้น ๆ ที่สำคัญเปิดสมองและเปิดใจก่อนที่จะสื่อสารเรื่องใด ๆ ออกไป แต่บางครั้งการทำความเข้าใจในเรื่องที่มีความซับซ้อน ต้องใช้ทรัพยากรเวลาและบุคคลค่อนข้างมาก ในกรณีดังกล่าวสื่อมวลชนควรสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานวิชาการ สถาบันวิจัย หรือองค์กรภาคประชาชน ที่มีองค์ความรู้นั้นเป็นทุนเดิม หรือไม่ก็ร่วมมือทำงานกับผู้ถูกลิดรอนสิทธิ์ในสังคม และขยายเสียงของพวกเขาให้ดังถึงภาครัฐผู้ทำหน้าที่กำหนดนโยบายต่อไป

บทความโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ 

อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ 

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

 

Facebook Comments

Related post