Digiqole ad

ครูเวร‘กรรม’…เวนคืนครูด่วน! อย่าให้เป็นเวรกรรมครู

 ครูเวร‘กรรม’…เวนคืนครูด่วน! อย่าให้เป็นเวรกรรมครู
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ฉบับที่ 416 วันที่ 26 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2567

หน้า 1

ครูเวร ‘กรรม’

เวนคืนครูด่วน!

อย่าให้เป็นเวรกรรมครู

เริ่มต้นจะเป็น “วัวหายล้อมคอก” และกลายเป็น “ไฟไหม้ฟาง” ในท้ายที่สุดหรือไม่ ต้องจับตามอง รัฐบาลเศรษฐา 1 ที่ถือว่าทำงานเร็ว ต่อกรณีที่ครูสาวที่เข้าเวรในวันหยุดของโรงเรียนแห่งหนึ่งถูกทำร้ายร่างกายบาดเจ็บ โดยเฉพาะกระดูกซี่โครงหักไป 3 ซี่ ซึ่งหลังจากเกิดเหตุ ครม.มีมติให้ยกเลิก “ครูเวร”

            นายกฯ รีบตัดไฟแต่ต้นลม

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ณ หอประชุมคอซู้เจียง ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวภายหลังการประชุมว่าคณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเลิกครูอยู่เวรรักษาการณ์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป รวมถึงหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจที่ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยอยู่แล้วด้วย

นายเศรษฐา ทวีสิน กล่าวว่าจากการที่เร็ว ๆ นี้ มีเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นกับครูที่อยู่เวรรักษาการณ์ ทางคณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติคณะรัฐมนตรีตรี ยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ซึ่งใช้มา 20 ปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป จึงยกเว้นโดยให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้น โดยหน่วยงานต่างๆ ก็จะรับไปพิจารณาในวิธีการที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ในรายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้ระบุไว้ว่า นายกรัฐมนตรีรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณครูซึ่งต้องอยู่เวรรักษาการณ์ในโรงเรียน ซึ่งการอยู่เวรรักษาการณ์ดังกล่าวแม้จะเป็นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 แต่นายกรัฐมนตรีเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีนั้นไม่เหมาะสมกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่มีบุคคลหรือเครื่องมือในการช่วยเหลือดูแลรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการมากมาย เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย นักการภารโรง กล้องวงจรปิด อีกทั้งการให้ครูต้องมาอยู่เวรรักษาการณ์ก็เป็นการกำหนดหน้าที่และเป็นภาระเพิ่มเติมให้กับครู นอกเหนือจากการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพโดยไม่จำเป็นอีกด้วย นายกรัฐมนตรีจึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณายกเว้นมติวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 แก่โรงเรียนของทุกสังกัดตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมตินี้เป็นต้นไป และให้รวมถึงการอยู่เวรรักษาการณ์ของส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจที่มีการจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย หรือที่ติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือที่ใช้วิธีการอื่นใดเพื่อรักษาความปลอดภัยแล้วด้วย เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายดังกล่าวเกิดขึ้นอีก

            “ครูจวง ปารมี” ผู้มาก่อนการณ์

หลังเกิดเหตุการณ์ขึ้นเมื่อบ่ายวันที่ 20 มกราคม 2567  ครูจวง-ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ในวันเกิดเหตุเลยว่า ตนรู้สึกเสียใจและเศร้าสลดกับเหตุการณ์นี้มาก จึงถึงเวลาแล้วที่กระทรวงศึกษาธิการต้องยกเลิกระบบครูนอนเวร ทั้งนี้ ตนได้ยื่นหนังสือขอปรึกษาหารือประเด็นดังกล่าวในคณะกรรมาธิการการศึกษาไปตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ตนก็จะยิ่งเร่งผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จให้ได้ ครูจวงขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ให้ยกเลิกครูนอนเวรเสียที เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดภาระและสร้างความลำบากให้กับบรรดาครูไทยเรื้อรังมายาวนานหลายสิบปีแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อร่างกายและจิตใจของครูตามข่าวที่ปรากฏออกมาด้วย

การยกเลิกการนอนเวรของครูไม่ได้เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เพราะอาศัยเพียงการแก้ไขมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การอยู่เวรรักษาการณ์สถานที่ราชการ โดยแก้ไขในข้อ 9. เดิมที่ระบุแต่เพียงว่า “หากส่วนราชการมีหน่วยรักษาความปลอดภัยหรือมีการจ้างเอกชนอยู่แล้ว จะไม่จัดให้มีเวรรักษาการณ์และผู้ตรวจเวรก็ได้” โดยเพิ่มเติมเข้าไปว่า “หรือหากมีการติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ก็ไม่ต้องจัดให้มีเวรรักษาการณ์และผู้ตรวจเวร” และให้ยกเลิกข้อ 10. ที่บัญญัติไว้ว่า “กรณีที่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานใดมีความจำเป็นไม่อาจปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้อ 9. ข้างต้นได้ ให้ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจในการที่จะสั่งการการอยู่เวรรักษาการณ์ตามความเหมาะสมได้ โดยไม่ให้เกิดผลเสียหายกับงานและทรัพย์สินของราชการหรือหน่วยงาน”

.           ครูจวงระบุว่า การที่ตนเห็นว่าควรต้องยกเลิกข้อ 10. นี้ไปเลย เพราะคำว่า “ให้ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจ” มักหมายถึงการบังคับสถานเดียวเท่านั้น โดยไม่ถามความสมัครใจของผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวที่เกิดขึ้นเสมอในระบบราชการไทย สิ่งที่ครูจวงเสนอนี้เป็นวิธีที่จะสร้างขวัญกำลังใจให้กับครูไทยได้อย่างแท้จริง ซึ่งทางฝ่ายบริหาร ทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หากมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาภาระงานครูและปัญหาครูนอนเวร ก็สามารถลงนามทำได้ทันที

            “นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถ้าจริงใจจะทำก็ทำได้เลย เพราะใช้แค่การออกมติ ครม. ใหม่มายกเลิกมติ ครม. เก่า ไม่ได้เป็นการออกกฎหมายที่ต้องผ่านสภาฯ และเมื่อไม่มีครูเวรก็ต้องติดกล้องวงจรปิด ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของโรงเรียนที่ควรต้องมีอยู่แล้ว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็ควรต้องจัดสรรงบประมาณลงไปในส่วนนี้ด้วย”

 

.           เสมา 1 ขอบคุณนายกฯ

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวประเด็นมติคณะรัฐมนตรี (23 มกราคม 2567) เห็นชอบการยกเว้นให้ครูอยู่เวรรักษาการณ์ ทั้งข้าราชการครูในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.)

            รมว.ศธ. กล่าวว่า ในนามกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยครูและบุคลากรทางการศึกษาขอขอบคุณ นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” สำหรับมติสำคัญทางการศึกษา ที่เห็นชอบ “ยกเลิกครูเวร” ถือเป็นการพิจารณาในเรื่องของการป้องกันรักษาความเสียหายจากเหตุภัยอันตรายในชีวิตและร่างกายครู เพราะครูมีภาระงานที่ต้องสอนหนังสือเป็นหลัก บางทีโรงเรียนขนาดเล็กมีบุคลากรค่อนข้างน้อย ครูอาจทำหน้าที่หลายด้าน รวมถึงการอยู่เวรนอกเวลาราชการที่มีความสุ่มเสี่ยง โดย ครม.ได้มีมติให้หน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการดูแลความเดือดร้อนของประชาชนภายในประเทศ ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณสถานศึกษา เพิ่มจุดเน้นขึ้นมา เช่นเดียวสถาบันทางการเงินหรือร้านทองที่จะต้องมีเจ้าหน้าที่ในการดูแลเป็นพิเศษ มติ ครม.ในประเด็นนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญและเกิดการเปลี่ยนแปลงให้เห็นชัดเจน ครูจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา จึงอยากขอบคุณนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีเป็นอย่างสูง

ทั้งนี้ ในส่วนของ ศธ. ได้มีหนังสือประสานไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ มท. ในการที่จะดำเนินการบูรณาการรักษาความปลอดภัยร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนในระดับพื้นที่ ได้แจ้งให้ศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศเป็นเจ้าภาพในการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เพื่อให้การดำเนินงานรวดเร็วขึ้น ทั้งในระดับบน ระดับกลาง และระดับพื้นที่อย่างครอบคลุม โดยได้สั่งการให้มีการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาทุกแห่งภายในสัปดาห์นี้ และเชิญตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชุมชน ร่วมหารือในมาตรการป้องกันความปลอดภัยกับสถานที่ราชการเพื่อเป็นการรองรับมติด้วย

            “ที่สำคัญเมื่อมีมติ ครม. เรื่องการยกเว้นครูเวรออกมาแล้ว การไม่อยู่เวรของครูจะไม่มีความผิด ตามระเบียบเดิมข้อ 8 ที่หากไม่ปฏิบัติการจะต้องถูกดำเนินการทางวินัย ครูสามารถไม่อยู่เวรได้ทันที หลังมีมติ ครม. และไม่ต้องกังวลว่าการที่ไม่มีครูเข้าเวรแล้วสถานที่ราชการจะไม่มีความปลอดภัย เพราะ ศธ. ได้ประสานการดำเนินการเพื่อรองรับในส่วนนี้แล้ว และจะดำเนินการแก้ไขปรับปรุงระเบียบคำสั่งที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับมติดังกล่าวด้วย”

            “ครูเวร” สมัครใจไม่บังคับ

ต่อคำถามจากสื่อมวลชนถึงแนวปฏิบัติ เพราะความเห็นในสื่อออนไลน์ ยังมีคุณครูที่ต้องอยู่เวรหลังจาก มติ ครม. ออกมาแล้ว พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว. ศธ. ตอบว่า ต่อไปนี้การอยู่เวรหรือไม่อยู่เวรในสถานศึกษา เป็นเรื่องการสมัครใจแล้ว และการไม่ได้อยู่เวรก็จะไม่มีความผิดทางวินัย เพราะมติ ครม.ใหญ่ที่สุด ในส่วนราชการต้องปฏิบัติตามโดยทันที ส่วนครูจะเข้ามาปฎิบัติหน้าที่ในสถานศึกษานอกเวลา ถือเป็นสิทธิของครู แต่จะกำชับในเรื่องของความปลอดภัยส่วนบุคคลด้วย เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น แม้จะยกเลิกการอยู่เวรแล้วก็ตาม แต่ก็อยากให้ระมัดระวังในส่วนนี้ด้วย เพราะความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่สามารถที่จะแก้ไขหรือทดแทนได้

โดยก่อนที่จะมีมติ ครม. ออกมานั้น ศธ.ได้ประสานงานล่วงหน้าไว้แล้วในการทำงานเชิงภาคี แต่ตอนนี้เป็นรูปธรรมมากขึ้นเพราะเป็นสภาพบังคับ ซึ่งที่ผ่านมาเราดำเนินการในลักษณะขอความร่วมมือมีการประสานงานกับส่วนอื่น เมื่อมีมติ ครม.ออกมา หน่วยงานที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ จะต้องมาพิจารณาดูเพิ่มความเข้มงวดขึ้นกว่าเดิม เพราะถึงแม้จะมีกล้องวงจรปิดแล้วก็ตาม ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งในการเก็บหลักฐาน ในการติดตามผู้กระทำผิด แต่ไม่ได้ช่วยในการป้องกัน หากผู้ร้ายไม่เกรงกลัวที่จะเข้ามากระทำความผิด แต่การที่เรามีเจ้าหน้าที่แต่งเครื่องแบบไปปรากฏกาย เป็นเรื่องสำคัญที่จะเป็นการป้องกันไม่ให้เหตุร้ายเกิดขึ้น การปฎิบัติของตำรวจและฝ่ายปกครองจึงยังมีความจำเป็นอยู่ ส่วนด้านการปฎิบัติคือ จะมีการตรวจตราตรวจเยี่ยม คล้ายกับการ “ฝากโรงเรียนไว้กับตำรวจ” ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจตราให้ละเอียดมากขึ้น

            “ส่วนประเด็นที่จะมีขอเพิ่มตำแหน่งหน้าที่นักการภารโรงในสถานศึกษา ก็จะมาช่วยครูได้มาก สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูค่อนข้างน้อย ต้องทำหน้าที่หลายอย่าง หากมีเจ้าหน้าที่นักการภารโรงอยู่ประจำในการช่วยดูแลโรงเรียน ก็จะเป็นการลดภาระครูและคืนครูสู่ชั้นเรียน ครูจะได้สอนหนังสือได้เต็มที่ เพราะตำแหน่งนี้จะเป็นหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุนดูแลและป้องกันเหตุ เพราะส่วนใหญ่นักการภารโรงจะเป็นคนในพื้นที่ จะมีการช่วยตรวจโรงเรียนสะดวกในการแวะเวียนมาทำหน้าที่ จากนี้จะเป็นการรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งชุมชนหรือสังคมต้องร่วมดูแลทรัพย์สินของทางราชการที่เป็นทรัพย์สินส่วนรวมต้องช่วยกันดูแลรักษาไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ภาระไม่ใช่การผลักภาระไปให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ขอยืนยันว่าหลังจากมติ ครม. ออกแล้ว การที่ครูไม่อยู่เวรจะไม่มีความผิด ขอให้สบายใจได้ แต่ที่อยากฝากคือ ถึงแม้ว่าจะยกเลิกการอยู่เวรแล้ว แต่การมาทำงานในสถานศึกษานอกเวลา ก็อยากกำชับว่าขอให้ระมัดระวังตัวเองในด้านความปลอดภัย เพราะสถานการณ์ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้”

รับลูก ศธ.ขอภารโรงให้ทุกโรงเรียน

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มอบหมาย ศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. บุคลากรของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1 (สพป.เชียงราย เขต 1) นักจิตวิทยาประจำเขตพื้นที่พร้อมทีมสหวิชาชีพ รุดลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามอาการของคุณครูที่ได้รับบาดเจ็บ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกำชับ สพฐ. ให้ดูแลขวัญและกำลังใจของคุณครูที่ประสบเหตุ พร้อมติดตามการดำเนินคดีและกำหนดแนวทางสร้างเสริมความปลอดภัยในสถานศึกษาให้รัดกุมมากขึ้น ซึ่งตนได้โทรศัพท์สอบถามเหตุการณ์และส่งกำลังใจให้แก่คุณครูที่ประสบเหตุด้วยตนเอง พบว่าคุณครูมีขวัญและกำลังใจที่ดี อาการปลอดภัยดีขึ้นแล้ว”

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ทราบถึงภาระและความกังวลใจของคุณครูทั่วประเทศที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเวรกลางวันหรือเวรกลางคืน ซึ่งเป็นไปตาม มติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้สถานที่ราชการทุกแห่งต้องจัดให้มีเวรรักษาการณ์ เพื่อดูแลและป้องกันความเสียหายอันจะบังเกิดแก่สถานที่ราชการ จึงได้กำหนดนโยบายลดภาระครู เพื่อให้คุณครูได้ทุ่มเทเวลาเพื่อการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ และได้สั่งการ สพฐ. ให้เสนอขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติคืนอัตรานักการภารโรงกว่า 14,000 ตำแหน่ง เพื่อให้ทุกโรงเรียนมีนักการภารโรงประจำ ซึ่ง สพฐ. ได้จัดทำคำขอต่อ ครม. เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่กลางเดือนที่ผ่านมา”

            ว่าที่ร้อยตรี ธนุ  กล่าวด้วยว่า ในระหว่างที่ รอ ครม. พิจารณาอนุมัติคืนตำแหน่งนักการภารโรง ซึ่งจะสามารถช่วยทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่โรงเรียนได้อีกแรงหนึ่ง ขอสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานปกครองในพื้นที่หรือผู้นำชุมชน ช่วยจัดเวรยามดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนและช่วยเฝ้าระวังกรณีชุมชนมีบุคคลผู้เสี่ยงมีพฤติกรรมรุนแรง ซึ่ง สพฐ. ส่วนกลางได้มีหนังสือส่งถึงกระทรวงมหาดไทยให้สนับสนุนการทำงานของโรงเรียนก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ สพฐ. จะได้เร่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการจัดเวรยามและการรักษาความปลอดภัยของสถานศึกษาที่เหมาะกับบริบทความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเสริมสร้างความปลอดภัย เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ ที่สร้างความสุขและความอุ่นใจให้แก่ครู นักเรียนทุกคน

กทม.นำร่องยกเลิกครูเวร ตั้งแต่ ก.ย.66

กรุงเทพมหานครแจ้ง ปรับแก้ไม่ให้ครูมาอยู่เวรรักษาความปลอดภัยในเวลากลางคืน มาตั้งแต่เดือนก.ย.66 แล้วโดยจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาดูแลในส่วนดังกล่าวแทน ด้าน ผู้ว่าฯ กทม.ระบุ ไม่เฉพาะแค่ครูเท่านั้นที่ไม่ต้องมาอยู่เวร แต่ข้าราชการที่ทำงานในศาลาว่าการกรุงเทพฯก็ไม่ต้องมาอยู่เช่นเดียวกัน เพราะมี รปภ.จำนวนมากคอยดูแลอยู่แล้ว

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ไม่ใช่แค่โรงเรียนที่มีการอยู่เวร กทม.ก็มีระเบียบการอยู่เวรเช่นเดียวกันทั้งที่เรามี รปภ.เป็นจำนวนมากในศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ขณะนี้จึงมีนโยบายไม่จำเป็นต้องมาอยู่เวรแล้ว เพราะทุกคนต้องไปดูแลครอบครัวของตัวเอง รปภ.ก็ดูแลความปลอดภัยอยู่แล้ว

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า หลังจากที่ ครม.มีมติยกเลิกครูเวรทั่วประเทศ นั้น ต้องถือว่า บริบทของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน เนื่องจากมีโรงเรียนแจ้งว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่เปิดรับสมัครนักเรียนใหม่ ต้องมีครูอยู่ประจำ เพราะวันเสาร์-อาทิตย์ หากพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่คนเดียวจะไม่มีครูรับเรื่องในการรับสมัครนักเรียน ทำให้ช่วงกลางวันอาจมีบางโรงเรียนที่มีครูเวรอยู่ประจำ แต่ช่วงกลางคืนตอนนี้ เกือบทุกโรงเรียนไม่มีครูที่ต้องมาประจำแล้ว เพราะมีประกาศที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามเมื่อเดือนกันยายน 2566 ให้จ้างเอกชนเข้ามาดูแลความปลอดภัยได้ ดังนั้น กทม.มีระเบียบรองรับแล้วในเรื่องนี้

ไม่เข้าใจปัญหาครูจริง

จริง ๆ แล้วเรื่องครูเวร เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในหลาย ๆ ปัญหาของครูไทย ซึ่ง นางสาวภคมน หนุนอนันต์ รองโฆษกพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กเมื่อช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ต่อกรณี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในการประชุมมอบนโยบายการศึกษา โดยช่วงหนึ่งพูดถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ว่าต้องให้ความรู้ เพื่อจะรู้จักออมรู้จักใช้เงิน โดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ พร้อมทั้งยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหาหนี้สินบางส่วน เช่น เวลาจะไปสอน ก็รวมรถกันไป งานอะไรอาจไม่ต้องใส่ซอง แต่ไปช่วยล้างจาน

ซึ่งนางสาวภคมน โพสต์ข้อความว่า…เพราะไม่เข้าใจปัญหาครู เลยแก้ปัญหาแบบข้าง ๆ คู ๆ หลังข่าวนี้ออกมีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนๆ พี่ๆที่รับราชการครูหลายคนสิ่งที่เขาพูดน่าสนใจพวกเขาบอกว่านี่คือปัญหาที่ไม่เคยถูกแก้ของกระทรวงศึกษาฯ คือการเอาคนที่ไม่มีความเข้าใจมาบริหาร การเสนอแนวทางแบบนี้เป็นการดูถูกอาชีพครูและมีมุมมองต่อครูอย่างน่าเวทนาทั้งที่อาชีพครูมีศักดิ์ศรี มีค่าตอบแทนที่พวกเขาพอใจและพวกเขาเองภูมิใจกับการทำหน้าที่ครูและพยามทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อเด็กๆ ที่อยู่ในระบบการศึกษาอย่างดีที่สุด

“สิ่งที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาควรเร่งแก้ไข เร่งด่วนไม่ใช่การแนะนำให้ครูใช้ชีวิตอย่างอัตคัด แต่ควรเร่งลดภาระงานของครูเพราะพวกเขาอยากสอนหนังสือให้กับนักเรียน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยคือครูไม่ได้ทำหน้าที่แค่สอนหนังสือ แต่ยังต้องจัดการภาระงานอื่นๆ เช่น งานเอกสาร ทำแบบประเมิน เข้าเวร ทำธุรการ จัดกิจกรรม หรือบางทีอาจไม่ได้สอนแค่วิชาเดียวเท่านั้น สารพัดงานที่ไม่ใช่งานสอน จนครูไม่มีเวลาเตรียมการสอน และไม่มีโอกาสได้พัฒนาการเรียนการสอนให้กับนักเรียนนี่ต่างหากที่จะทำให้สวัสดิภาพครูไทยไม่ไปไหน นี่เป็นแนวทางหนึ่งที่ต้องเร่งจัดการ ควรเริ่มต้นให้ตรงจุดเพื่อแก้ระบบการศึกษาไทยให้ยั่งยืน และการแก้ปัญหาต้องทำไปพร้อมกันอนาคตครูไทยและระบบการศึกษาไทยถึงจะรอด

นี่เป็นเสียงสะท้อนจาก “ครู” ที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาอาจจะไม่เคยได้ยิน”

ผลสำรวจครูไทยทำงานหนักมาก

ผลการสำรวจจาก เครือข่ายครูขอสอน พบว่า ครูไทยทำงานหนักแต่สอนได้ไม่เต็มที่เพราะถูกแย่งเวลาไป โดยร้อยละ 95 ของครูต้องทำงานนานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน และร้อยละ 58 ต้องทำงานอื่นที่ไม่ใช่การสอนมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่ผลการสำรวจของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ (สสค.) ในปี 2557 พบว่า ใน 200 วัน ครูต้องทำงานอื่นที่ไม่ใช่งานสอนไปแล้ว 84 วัน  โดยคิดเป็น งานประเมินผลงานและคุณภาพ 31 วัน,งานแข่งขันวิชาการ 29 วัน,งานจัดทำและประเมินโครงการ 12 วัน,การฝึกอบรม 10 วัน และงานธุรการอื่น ๆ อีกหลายวัน และพบมากในโรงเรียนขนาดเล็ก

นอกจากนี้ยังพบว่า ภาระงานครูเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มาจาก 3 สาเหตุหลักด้วยกันคือ ระบบรัฐราชการรวมศูนย์ ที่คิดหรือดำริโครงการโดยไม่คิดถึงภาระงานครู การประเมินผลแบบราชการที่เน้นเอกสารเป็นหลักมากกว่าผลที่เห็นได้จริง และการจัดสรรครูที่ไม่มีประสิทธิภาพ เน้นย้ายตามคำขอ แต่ไม่ย้ายตามภาระงานและความจำเป็น

แนวทางจากภาครัฐ หวังลดภาระเดิม แต่อาจเพิ่มปัญหาใหม่ให้ครู ปัญหาภาระครูที่มากล้น ส่งผลต่อระดับการศึกษาของผู้เรียน นำมาซึ่งโครงการต่างๆที่หวังแก้ไขปัญหา แต่กลับไปเพิ่มงานครูอีกต่อหนึ่ง เวียนวนเป็นงูกินหาง ด้วยเหตุเหล่านี้ ทำให้ปัญหาภาระงานครูยังคงทับถมและยากจะแก้ไขได้ แม้ทางภาครัฐมีความพยายามลดงานครู โดยการจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการและเจ้าหน้าที่สนับสนุนงานด้านการศึกษาอื่น ๆ มาช่วยแบ่งเบา แต่การจัดสรรเจ้าหน้าที่ให้ครบทุกโรงเรียนนั้นเป็นไปได้ยากเพราะงบประมาณมีไม่พอ รวมถึงแนวทางในการปรับระบบการประเมินเงินเดือนเชื่อมกับวิทยฐานะ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ครู แต่ก็มีข้อห่วงใยว่าอาจกลายเป็นทำให้ครูไปเน้นสนใจเด็กเพียงบางกลุ่มเพื่อสร้างผลงาน

 

            4 แนวทางคืนครูได้ทันที

       จากงานเสวนา “Policy Forum ครั้งที่ 6 : คืนครูให้ห้องเรียน” เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้สรุปแนวทางคืนครูให้ห้องเรียนได้ทันทีมีดังนี้

            1.ลดงานที่ไม่จำเป็น และเพิ่มคุณค่างานสอน : ก่อนจะลดภาระงานครูไทย อย่างแรกต้องชี้แจงประเภทงานออกมาให้ได้ก่อน ในวงเสวนา จำแนกงานครูให้เห็น 4 ประเภทได้แก่ 1) งานสอน 2) งานออกแบบการสอน และพัฒนาผู้เรียนรายบุคคล 3) งานพัฒนาโรงเรียน และ 4) งานสนองนโยบาย โดยงานประเภทที่ 1 และ 2 เป็นงานที่ครูต้องทำในฐานะวิชาชีพครูอยู่แล้ว แต่งานที่ 3) และ 4) นั้นกินเวลาครูค่อนข้างมาก และเป็นจุดที่ครูไทยต่างจากครูประเทศอื่น ยังไม่นับรวมถึงเวลาที่ครูต้องไปพัฒนาตัวเอง ทำให้ครูไทยไม่มีเวลาทุ่มเทเพื่องานสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังมีภาระงานอื่นนอกเหนือการสอนจำนวนมากที่ครูต้องแบกรับ เช่น การนอนเวรโรงเรียน ในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูผู้ชายน้อย อาจต้องนอนเวรหลายสิบวันต่อเดือน และไม่มีการประกันความปลอดภัยครูที่นอนเวรที่ดีพอ ภาระงานจำนวนมากขนาดนี้ ทำให้ครูขาดแรงใจในการทำงาน หลายคนมีความตั้งใจดีในการสอน แต่พอเจอระบบการศึกษาเช่นนี้ ครูก็ลาออกจากอาชีพไปมาก และเสียงสะท้อนของครูในวงเสวนาชี้ว่า ควรไปลดงานที่ครูไม่ควรต้องทำ และไปเพิ่มงานที่มีคุณค่า อย่างงานออกแบบการสอนให้ผู้เรียน ครูส่วนใหญ่รู้ดีว่ามีอยู่ในหน้าที่ครู แต่ครูทำไม่ได้ ครูต้องไปทำงานเอกสาร ธุรการ โครงการต่าง ๆ หรือถูกเบื้องบนเรียกตัว ครูก็ต้องไปทำส่วนนี้ก่อน เพื่อเอาตัวรอดหนีตาย

            2.Set Zero โครงการเข้าโรงเรียน : เมื่อมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย รัฐบาลจะริเริ่ม     นโยบายใหม่ ๆ นำร่องเข้าสู่โรงเรียน แต่โรงเรียนกลับไม่เคยนำโครงการเหล่านั้นออกไปแม้จะเปลี่ยนรัฐบาล หรือหมดช่วงนโยบายนั้นไปแล้ว ทำให้ครูต้องแบกรับงานตอบสนองนโยบายรัฐ ที่บางตัวมีความล้าหลัง หรือไม่ตอบโจทย์ผู้เรียน ดังนั้น โรงเรียนต้องรู้จักเลือกรับโครงการ ไม่ใช่รับเอานโยบายรัฐทั้งหมดมาใช้ โดยต้องดูว่าโครงการใดมีประโยชน์ เพราะบางพื้นที่ก็อาจมีความต้องการที่ต่างกัน โดยเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อลดภาระงานที่เกินจำเป็นของครู

            3.ใช้เทคโนโลยีพัฒนา Platform การเรียนรู้ : ในยุคปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในชั้นเรียนมากยิ่งขึ้น แต่ข้อควรระวังคือต้องไม่ใช้เทคโนโลยีจนทำให้นักเรียนเสียสมาธิ เทคโนโลยีทางการศึกษา เทคโนโลยีควรมีส่วนช่วยครูในการลดขั้นตอนการทำงานที่ใช้เวลานาน เช่น การเขียนเอกสารแผนการสอน การออกแบบสื่อการสอนดิจิทัล การจัดทำระบบติดตามผลการเรียนรู้นักเรียนรายบุคคล ซึ่งจะเป็นเสมือนผู้ช่วยให้ครูสามารถวิเคราะห์ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนได้ดีมากขึ้น

            4.ปรับวิธีการประเมินการสอน : ภาระงานประเมินทำให้ครูที่ตั้งใจทำงาน ต้องรับภาระงานหนักมากขึ้น เพราะนอกจากจะสอนในชั้นเรียนแล้ว ยังต้องมีภาระเขียนเอกสารประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือน และเอกสารโครงการต่าง ๆ เพื่อยืนยันว่าครูนั้นสอนจริง ในขณะที่ครูบางส่วนก็เลือกที่จะไม่เน้นการสอน แต่เน้นทำเอกสารส่ง ซึ่งก็มีค่าเท่ากัน เพราะสุดท้ายปลายทางก็ตัดสินกันที่เอกสารไม่มีใครมาดูว่าครูสอนจริงหรือไม่ ดังนั้น วงเสวนาจึงเสนอให้มีการปรับวิธีประเมินการสอน ให้ยึดโยงกับผู้เรียนมากขึ้น เพื่อสะท้อนประสิทธิภาพการสอนที่แท้จริง มากกว่าพิจารณาเพียงแค่เอกสาร และผลงาน

5 แนวทางระยะยาว คืนครูให้คงอยู่กับห้องเรียนต่อไป

            นอกจากวิธีแก้ไขปัญหาในที่สามารถเริ่มต้นได้ทันที ยังมีอีก 5 แนวทางที่วงเสวนาเห็นว่าจำเป็นต้องทำเพื่อให้การคืนครูให้ห้องเรียนมีความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งนี้ วิธีการบางอย่างอาจต้องอาศัยแรงหนุนจากภาครัฐ งบประมาณ การร่วมมือจากชุมชน ตลอดจนการปรับแก้โครงสร้างของระบบการศึกษาให้เหมาะสมกับนโยบายคืนครูสู่ห้องเรียน

           1.ปรับโครงสร้างโรงเรียนให้ทันสมัย เพิ่มตำแหน่งงานที่สำคัญ กำหนดอัตราจ้างชัดเจน : อีกหนึ่งภาพปัญหาที่ถูกสะท้อนผ่านวงเสวนา คือ สถานศึกษาที่อยู่ริมชายแดน ซึ่งมีนักเรียนชาติพันธุ์จำนวนมาก แต่กลับถูกตีกรอบด้วยข้อกำหนดอัตรากำลัง เพราะโรงเรียนยิ่งเล็ก ครูก็จะถูกกำหนดให้มีน้อยตาม แต่ภาระครูไม่ได้น้อยลง รวมถึงการนอนเวรก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะครูต้องนอนที่โรงเรียนเสมือนอาศัยอยู่บ้าน ขณะที่ตำแหน่งผู้อำนวยการเองต้องดูแลควบ 7 – 8 โรงเรียนเพราะเหตุผลด้านอัตรากำลัง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมโรงเรียนขนาดเล็กถึงมีปัญหาขาดแคลนครู

ส่วนประเด็นภาระงานครูที่นอกจากการสอน เช่น งานธุรการ งานรักษาความปลอดภัย งานพัสดุ งานโภชนาการ รวมถึงเรื่องซับซ้อนอย่างการดูแลจิตใจนักเรียน มีข้อเสนอจากวงเสวนาให้มีการกำหนดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เพื่อสนับสนุนครูในงานด้านต่าง ๆ เช่น เจ้าหน้าที่ธุรการ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย นักโภชนาการ ตลอดจนนักจิตวิทยา เพราะไม่ใช่แค่ช่วยแบ่งเบาครู แต่ยังช่วยให้นักเรียนได้เข้าถึงบริการและสวัสดิการที่มีคุณภาพได้ ซึ่งวงเสวนาชี้ว่า บทบาทใหม่ของสถานศึกษายุค Post-covid จะไม่ใช่แค่สถานที่ให้ความรู้แต่ต้องเป็นสถานที่ที่มอบสวัสดิการวัยเด็กที่มีคุณภาพได้ด้วยเช่นกัน

2.สร้าง Economies of Scale (การประหยัดต่อขนาด) ด้วยการกระจายอำนาจ : อย่างไรก็ดี ตราบใดที่ประเทศไทยยังมีจำนวนโรงเรียนมากเช่นนี้ การจะเพิ่มเจ้าหน้าที่ธุรการ หรือพนักงานรักษาความปลอดภัยนั้นเป็นไปได้ยาก ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณ และโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึง การประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) หรือ สัดส่วนการคุ้มทุน เช่น การที่ผู้อำนวยการต้องควบดูแลหลายโรงเรียน หากมีการควบรวมให้ทุกโรงเรียนใช้เอกสารชุดเดียวกันได้ในการดำเนินการด้านธุรการ ก็จะเป็นการลดภาระไปได้ถึง 7-8 เท่า ตลอดจนแนวคิดการควบรวมโรงเรียน ควบชั้นเรียน ก็เป็นแนวคิดที่เป็นไปได้ แต่ต้องพิจารณาตามบริบทพื้นที่อย่างรอบคอบ และให้ชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจไม่ใช่ส่วนกลาง

หนึ่งคำตอบที่เห็นพ้องกันจากวงเสวนาคือ การกระจายอำนาจทางการศึกษาให้ท้องถิ่น จะเป็นโอกาสใหม่ ที่ช่วยลด “ความห่างไกล” ระหว่างครูและส่วนกลางซึ่งเป็นอุปสรรคในการเสนอแนะและส่งต่อข้อร้องเรียนของกลุ่มครู เมื่อท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการปัญหายิบย่อยเหล่านี้ได้ ครูจะทำงานได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ยกตัวอย่าง กทม. ที่มีโรงเรียนในสังกัดราว 400 โรงเรียน ซึ่งสามารถลดภาระงานเอกสารครูได้จากการพูดคุยกับหน่วยงานด้านกฎหมาย (จากเอกสาร 100 หน้า ลดได้เหลือ 70 หน้า) และท้องถิ่นยังสามารถจัดหาบุคลากรสายสนับสนุนการศึกษามาช่วยแบ่งเบาครูได้โดยตรง

            3.เพิ่มการเชื่อมต่อกับภาครัฐ : ด้วยปัญหาของครูส่วนใหญ่มักใช้เวลานานและอาจตกหล่นกว่าจะส่งไปถึงส่วนกลางอย่างกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น ต้องทำให้ช่องทางการสื่อสารระหว่างครูและรัฐให้สะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ ควรมีการติดตามประเมินผลของกระทรวงเกี่ยวกับประสิทธิภาพการสอนของครู แต่ไม่ใช่ลักษณะตรวจเข้มจับผิด แต่เป็นการสำรวจทุกข์สุขของครู คุณภาพชีวิต ตลอดจนปัญหายิบย่อย การเก็บข้อมูลจะทำให้รัฐเห็นสภาพปัญหาชัดมากขึ้น และจะแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ซึ่งระบบการจัดเก็บข้อมูลของภาครัฐเป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการต้องลงมาดูแล

           4.พัฒนาหลักสูตรการศึกษา ลดวิชาที่ไม่จำเป็น : ปัญหาหนึ่งของหลักสูตรแกนกลางฯ ที่ใช้ตั้งแต่ปี 2551 คือ การที่มีเนื้อหาอื่น ๆ สอดแทรกมามากและละเอียดจนเกินจำเป็น ทำให้ครูต้องถูกผูกรัดไว้กับหลักสูตรที่ต้องสอนให้ครบ ซึ่งบางเนื้อหาก็ไม่ได้ทันต่อยุคสมัยแต่ก็ยังต้องสอนอยู่ วงเสวนาจึงแนะให้มีการทำความสะอาดหลักสูตรเสียใหม่ ให้มีความเป็น “พื้นฐาน” มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ครูนำไปประยุกต์หรือปรับปรุงให้เหมาะกับบริบทได้ ตลอดจนทำให้หลักสูตรเป็น “ฐานสมรรถนะ” เน้นการเพิ่มทักษะให้ผู้เรียนมากกว่ายัดเนื้อหา หลักสูตรที่ยืดหยุ่นนี้จะทำให้ครูสอนได้คล่องตัวมากขึ้น

5.จัดการงบประมาณอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า : ด้วยลักษณะการเบิกจ่ายครุภัณฑ์ในโรงเรียน ที่ใช้เวลาดำเนินการที่มาก ทำให้ราคาครุภัณฑ์ “เมื่อจัดซื้อ” กับ “เมื่อได้รับ” นั้นต่างกันมาก แต่ค่าส่วนต่างกลับถูกเปิดเผยว่านำไปใช้ดำเนินการอะไร จึงอาจกลายเป็นการเปิดช่องทุจริตได้  ดังนั้นหากเพิ่มความโปร่งใส ลดช่องว่างปัญหานี้ได้จะสามารถสร้างประโยชน์ให้ผู้เรียนได้อีกมาก ซึ่งรัฐควรจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม เพราะแม้ไทยจะลงทุนการศึกษามาก แต่การกระจายทรัพยากรและโอกาสยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร เห็นได้จากสถิติครูมีพอ แต่ขาดแคลน (ที่มา : theactive.net)

ภาพ : เพจพรรคเพื่อไทย,เพจพรรคก้าวไกล,สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์,อินเทอร์เน็ต,theactive.net,เพจครูขอสอน

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ฉบับที่ 416 วันที่ 26 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2567

หน้า 1

ครูเวร ‘กรรม’

เวนคืนครูด่วน!

อย่าให้เป็นเวรกรรมครู

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๑๖ วันที่ ๒๖ มกราคม – ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
https://book.bangkok-today.com/books/jxlx/#p=1
(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post