
ครม.!?! ค.คน ร.รุ่น ม.ใหม่ พลังขับเคลื่อนไทยก้าวไกลยุคดิจิทัล (อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 382 วันที่ 2-8 มิ.ย.66)


อีบุ๊กวันที่ 2-8 มิถุนายน 2566 (ฉบับที่ 382)
ค.คน ร.รุ่น ม.ใหม่
พลังขับเคลื่อนไทยก้าวไกลยุคดิจิทัล
ครม. ที่จะนำเสนอใน e-book บางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับนี้ ไม่ใช่ “คณะรัฐมนตรี” ตามกระแสที่มีการเตรียมตัวจัดตั้งไว้ล่วงหน้าในนาม รัฐบาลก้าวไกล แต่คือ “คนรุ่นใหม่” ที่เป็นพลังและฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติให้ก้าวไปข้างหน้าให้ทัดเทียมนานาประเทศ
‘Gen Y’ ยังเป็นโลกคนรุ่นใหม่ในยุคนี้
แม้จะมี Gen ใหม่เกิดขึ้นมาตามหลังอย่าง Gen Z เป็นต้น แต่ก็ยังนิยมเรียกคนใหม่ในยุคนี้ว่า Generation Y หรือเรียกสั้นๆว่า Gen Y คนที่เกิดในช่วง พ.ศ.2524-2539 อายุจะอยู่ในช่วง 25-40 ปี ซึ่งเป็นแรงงานที่เป็นฐานเศรษฐกิจของประเทศเลยก็ว่าได้
จากข้อมูลของ www.palagrit.com ระบุว่า Gen Y คือคนที่เกิดในยุคดิจิทัลที่มีความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ตที่เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ตลอดเวลา และใช้ชีวิตอยู่ในยุคที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ทำให้พ่อแม่ค่อนข้างประสบความสำเร็จในชีวิตและทุ่มเทดูและเอาใจใส่ลูกๆเป็นอย่างดี คนยุคนี้มักถูกตามใจตั้งแต่ยังเล็กและได้ในสิ่งที่คนรุ่นพ่อแม่ไม่ค่อยได้ มีโอกาสการศึกษาที่ดี มีนิสัยชอบแสดงออก มีอิสระทางความคิด
กล้าซักถามทุกเรื่องที่ตนเองสนใจ มักตั้งคำถามและต้องการเหตุผลทุกเรื่องจึงเรียก ไม่หวั่นคำวิจารณ์ เป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบถูกบังคับอยู่ในกรอบ ไม่ชอบอยู่ในเงื่อนไข มีความเป็นสากลโดยคิดว่าการชื่นชอบวัฒนธรรมหรือศิลปินต่างชาติเป็นเรื่องปกติ
ปัจจุบันคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในตลาดแรงงาน และหลายๆคนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหาร ถือเป็นกำลังสำคัญของทุกองค์กรในเวลานี้และอีกไม่นานคนกลุ่มนี้ก็จะกลายเป็นผู้บริหารระดับสูง รวมถึงเจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมาก
นอกจากนี้บริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งโดยเฉพาะในต่างประเทศ หรือบริษัทเทคโนโลยีสมัยใหม่จำนวนมากยังก่อตั้งด้วยคนรุ่น Gen Y ที่มีอายุในช่วง 25-35 ปีเป็นหลัก
Gen Y จึงเป็นคลื่นลูกใหม่ที่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกธุรกิจและมีโอกาสจะกลายเป็นมหาเศรษฐีได้ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีอายุมากเหมือนคนในรุ่นก่อนๆ เพราะอาศัยเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยขยายธุรกิจให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว
ลักษณะนิสัยของคนรุ่นใหม่
www.palagrit.com ยังกล่าวด้วยว่า คนรุ่นใหม่ในยุคนี้จะเก่งเรื่องการใช้เทคโนโลยี Gen Y คือคนที่เติบโตมาภายใต้อิทธิพลของอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Digital Natives) เช่น สมาร์ทโฟน โน็ตบุค แทบเล็ต และแกดเจ็ตอื่นๆ เคยชินกับการสื่อสารผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น Facebook, Twitter, Instagram จึงเก่งเรื่องการใช้เทคโนโลยี ชอบงานด้านไอที การติดต่อสื่อสาร การใช้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ มีความสามารถที่จะทำอะไรได้หลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน ต้องการอิสระ มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดนอกกรอบ กล้าท้าทายกฏเกณฑ์และกล้าแสดงออก มากกว่าคนรุ่นก่อน มีความต้องการที่จะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว มองหาความท้าท้าย มีความทะเยอทะยานและมักใฝ่หาโอกาสที่จะได้เป็นผู้นำตามที่ตนเองปรารถนา
นอกจากนี้ยังต้องการความชัดเจนในการทำงานว่าสิ่งที่ทำส่งผลต่อตนเองและหน่วยงานอย่างไร ชอบทำงานเป็นทีม เติบโตมาพร้อมกับการประชุม ระดมความเห็น และมีภาพลักษณ์เป็นตัวขับเคลื่อนมีความคาดหวังในการทำงานสูง ต้องการคำชม การยอมรับจากเพื่อนร่วมงานและผู้บริหารให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัว (Work life balance) มากกว่าคนรุ่นก่อนๆคนกลุ่มนี้ต้องการความสมดุลระหว่างชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work life balance) มักจัดสรรเวลาให้งานและชีวิตส่วนตัวในจุดที่สมดุลกันหลังเลิกงานอาจไปทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น เล่นฟิตเนส พบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง จะไม่ค่อยหมกมุ่นอยู่กับงานเหมือนกับคนรุ่นก่อน อีกทั้งยังเป็นคนมองโลกในแง่ดี มีน้ำใจช่วยเหลือสังคม รักษาสิ่งแวดล้อม มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพ่อแม่
ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน
ทั้งนี้คนรุ่นใหม่ยังต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน เช่น สามารถเลือกหรือปรับเปลี่ยนเวลาเข้าทำงานได้ หรือทำงานจากที่บ้านหรือที่อื่นๆ และเชื่อว่าการวัดประสิทธิภาพการทำงานไม่ได้อยู่ที่จำนวนชั่วโมงที่ใช้ทำงาน แต่อยู่ที่ผลงานที่ได้มากกว่า ซึ่งแตกต่างจากคนรุ่นเก่าที่ถูกปลูกฝังความเคยชินกับการทำงานหนัก เพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง และความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
สำหรับการปรับตัวขององค์กรเพื่อรองรับคน Gen Y ควรสนับสนุนให้ทำงานเป็นทีม เพราะคนกลุ่มนี้ชอบการทำงานเป็นทีม เพราะชอบที่จะได้ติดต่อสื่อสารกันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้คนมากกว่าการทำงานแบบเดี่ยว ๆ จึงควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ให้ Gen Y มีส่วนร่วมในการแสดงออก สร้างบรรยากาศการทำงานเป็นทีม กระตุ้นให้เกิดความคิดริเริ่มในการทำงานกับเพื่อนร่วมทีมและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
มีการจัดเงื่อนไขการทำงานให้ยืดหยุ่น ประเมินความสำเร็จที่ผลงานมากกว่าอายุงาน Gen Y ค่อนข้างมีความคิดเป็นของตัวเองและไม่ชอบที่จะถูกบังคับ การมีกฏระเบียบที่เข้มงวดมากเกินไปจะส่งผลต่อความอยากทำงานของคนกลุ่มนี้ด้วย จึงควรกำหนดกฏเกณฑ์ต่างๆขององค์กรให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ของงาน พร้อมกับมีระบบการวัดผลสำเร็จได้เร็ว เชื่อมโยงกับผลตอบแทนได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ให้อิสระทางความคิดในการทำงานโดยไม่ยึดติดกับแบบแผนขั้นตอนการทำงานมากนัก จะทำให้พวกเขาทำผลงานออกมาได้ดีและมีความสุขในการทำงาน
ต่อมาต้องมีข้อมูลชัดเจนในหน้าที่และความก้าวหน้าในสายงาน เนื่องจาก Gen Y ต้องการทำงานที่ชื่นชอบและตรงตามความหวังที่วางไว้ในอนาคต หากเริ่มงานแล้วหน้าที่ไม่ตรงตามที่ตกลงกันไว้แต่แรก จะเริ่มรู้สึกว่าไม่เห็นโอกาสความก้าวหน้าในเส้นทางที่อยากไปและไม่อยากทำงานต่อไป ดังนั้นองค์กรจึงควรกำหนดความชัดเจนในหน้าที่ และมอบหมายงานให้ตรงตามที่ตกลงกันไว้แต่ต้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้เห็นความก้าวหน้าในสายงานที่ทำ สุดท้ายคือ การเปิดโอกาสให้ทำงานที่ท้าทาย เนื่องจาก Gen Y มองหาความท้าท้าย ต้องการพื้นที่ที่จะแสดงฝีมือเพื่อที่จะได้แสดงศักยภาพของตัวเอง การไว้ใจมอบภารกิจใหม่ๆให้รับผิดชอบเสมือนเป็นคำชมอย่างหนึ่งจึงควรให้พวกเขาทำงานในส่วนที่มีโอกาสได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่ ส่งเสริมให้มีอิสระในการคิดและลงมือปฏิบัติจริง เปิดโกาสให้แสดงออกภายใต้กรอบกติกาขององค์กร
คนรุ่นใหม่เชื่อว่าโลกจะดีขึ้น
โพลการสำรวจ The Changing Childhood Project โดยองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และ Gallup ล่าสุดระบุว่า เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่แล้ว เยาวชนคนรุ่นใหม่ราว 50% มีความ “เชื่อว่า”โลกกำลังเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลายคนเชื่อว่าการให้บริการสาธารณสุข การศึกษา และความปลอดภัยทางกายภาพ ดีขึ้นมากกว่าสมัยคนรุ่นพ่อแม่
ถึงแม้จะมองด้วยสายตาแห่งความหวัง คนรุ่นใหม่ก็ยังต้องการการเปลี่ยนแปลงและ “การลงมือทำ” อย่างเร่งด่วนต่อวิกฤติที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น โดยแสดงความกังวลกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่มีเพิ่มขึ้น ตั้งคำถามอย่างฉงนสงสัย (skeptical) ต่อข้อมูลที่ได้รับจากโซเชียลมีเดีย เชื่อในนักวิทยาศาสตร์ มองว่าตนเองเป็น “พลเมืองโลก” มากกว่าคนรุ่นก่อน พร้อมเปิดรับความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ก็เป็นคนรุ่นที่เผชิญกับอาการซึมเศร้า ส่วนหนึ่งคือความรู้สึกกดดันที่จะต้อง “ประสบความสำเร็จ”
เมื่อเทียบกับคนรุ่นเก่าแล้ว คนรุ่นใหม่ในโลกยังมีความหวัง เปิดกว้างต่อโลก และมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น โดยแม้ว่าจะมีความกังวลในอนาคต แต่ก็มองว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของโซลูชันในการแก้ปัญหา โดยโพลดังกล่าวได้สรุปผลการสำรวจพบว่า
ข้อมูลชี้ว่าคนรุ่นใหม่เป็นผลผลิตของโลกาภิวัตน์ โดยคนรุ่นใหม่ 39% มากกว่าคนรุ่นเก่าเกือบ 2 เท่า (22%) ที่มองว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของ “โลก” ส่วนใหญ่ของคนรุ่นใหม่ มองว่าประเทศของพวกเขาจะปลอดภัยขึ้นจากโรคระบาด หากรัฐบาลร่วมมือกันในการจัดการ มากกว่าจัดการด้วยตัวเองโดยไม่ให้ความร่วมมือ ด้านความก้าวหน้าในการต่อสู้กับ การเลือกปฏิบัติ (discrimination) นั้น คนรุ่นใหม่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และพร้อมจะร่วมมือกันเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายได้ยินเสียงที่เรียกร้อง คนรุ่นใหม่ให้การสนับสนุนสิทธิของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เป็นอย่างมาก โดยที่มีผู้หญิงเข้ามาเป็นผู้นำต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม
นอกจากนี้โดยเฉลี่ย เกือบ 1 ใน 3 ของคนรุ่นใหม่มองว่ารัฐบาลควรจะลงมือจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางระดับต่ำที่ 83% ยิ่งให้ความสำคัญกับการลงมือทำของรัฐบาล ด้วยคาดว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกระทบกับประเทศเหล่านี้มากที่สุด 64% ของคนรุ่นใหม่ในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางเชื่อว่าสภาพเศรษฐกิจของประเทศน่าจะดีกว่าในรุ่นพ่อแม่ ขณะที่คนรุ่นใหม่ในประเทศที่มีรายได้สูงไม่เชื่อในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเท่าไรนัก
คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มองเห็นความเสี่ยงอย่างร้ายแรงบนโลกออนไลน์ที่จะมีต่อเด็ก อาทิ คอนเทนท์ที่แสดงถึงความรุนแรง การละเมิดทางเพศ การกลั่นแกล้ง โดยมีเพียง 17% ที่เชื่อว่าพื้นที่โซเชียลมีเดียจะเป็นที่ที่ให้ข้อมูลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ในขณะเดียวกัน มีคนรุ่นใหม่มากกว่า 2 ใน 3 ที่รู้สึกกระวนกระวายใจ มีอาการซึมเศร้า หรือไม่ค่อยมีความรู้สึกสนใจอยากจะทำอะไร และถึงในภาพรวมคนรุ่นใหม่จะเชื่อว่าโลกกำลังดีขึ้น แต่โดยเฉลี่ย 59% ระบุว่า คนรุ่นใหม่ในวันนี้เผชิญกับแรงกดดันที่จะต้อง “ประสบความสำเร็จ” มากกว่าคนรุ่นพ่อแม่ในวัยเดียวกัน
พรรคการเมืองที่รู้ใจคนรุ่นใหม่
ข้อมูลจาก theactive.net และ นายวรดร เลิศรัตน์ นักวิจัยนโยบายสาธารณะ 101PUB ระบุว่า หากนำนโยบายที่คนรุ่นใหม่เสนอมาเทียบกับนโยบายของพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง 2566 พบว่า มีเพียงพรรคการเมืองเดียวที่ออกแบบนโยบายได้ตรงใจคนรุ่นใหม่มากที่สุด คือ “พรรคก้าวไกล” ซึ่งมีครบทั้ง 5 ด้าน ขณะที่พรรคเพื่อไทยเสียคะแนนด้านนโยบายการศึกษา ส่วนพรรคอื่น ๆ เกาะกลุ่มคะแนนอยู่ที่ 2-3 ด้าน
ในทางกลับกัน นโยบายด้านการศึกษาก็เป็นนโยบายเดียวที่พรรคการเมืองออกแบบมาได้ตรงใจคนรุ่นใหม่น้อยที่สุด นโยบายการศึกษามักจะไม่ใช่นโยบายที่พรรคการเมืองให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ เพราะนโยบายของพรรคการเมืองถูกคิดขึ้นภายใต้แนวคิด “ชราธิปไตย” หรือการออกแบบนโยบาย “โดยคนสูงวัยเพื่อคนสูงวัย” มากกว่าจะคิดจากศูนย์กลางการศึกษาอย่างเยาวชน ทำให้มีน้อยพรรคการเมืองที่จะตอบโจทย์ด้านการศึกษาได้ตรงใจคนรุ่นใหม่
นอกจากเรื่องการศึกษา นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนก็ยังไม่ตรงใจคนรุ่นใหม่นัก มีเพียงก้าวไกล เพื่อไทย และชาติพัฒนากล้า ที่ออกแบบนโยบายมาคล้ายกับสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการ ซึ่งเนื้อหาที่ถูกพูดถึงบ่อยที่สุดคือ “นโยบายความเท่าเทียมและเสมอภาคทางเพศ” (พรรคไทยสร้างไทยมีจุดยืนผลักดัน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม แต่ไม่ปรากฏเป็นนโยบายอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร) ข้อสังเกตหนึ่งที่พบ คือนโยบายสิทธิมนุษยชนที่ตรงใจเหล่านี้ มักมาจากพรรคฝั่ง ‘เสรีนิยมประชาธิปไตย’ ในขณะที่ฝั่ง ‘อนุรักษ์นิยม’ ไม่ได้คะแนนไปเลย
ทางด้านนายวรดร ให้ความเห็นว่า หากพรรคการเมืองอยากได้คะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ จำเป็นต้องมีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าถึงมีนโยบายแล้วคนรุ่นใหม่จะเลือก เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้พิจารณาเพียงแค่นโยบาย แต่ยังรวมไปถึงอุดมการณ์ ผลงานที่ปรากฏ ตลอดจนตัวบุคคลที่อยู่ในพรรคการเมืองนั้น ๆ ด้วย ดังนั้น พรรคฝั่งอนุรักษ์นิยมอาจไม่ใช่ตัวแปรสำคัญในการเลือกลงคะแนนของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่แรก
ส่วนนโยบายที่คนรุ่นใหม่และพรรคการเมืองคิดตรงกันมากที่สุด คือนโยบายทางเศรษฐกิจ ซึ่งคนรุ่นใหม่และพรรคการเมืองเห็นพ้องกันว่า “การส่งเสริมปากท้องเกษตรกร” เป็นนโยบายที่มีความสำคัญสูง เพราะเป็นภาคอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนว่า รัฐบาลชุดหน้ายังคงต้องแก้ไขปัญหาปากท้องภาคการเกษตรที่เรื้อรังมาหลายสิบปี ไปพร้อมกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และปัญหาค่าครองชีพแพงค่าแรงถูก
“โจทย์สำคัญด้านเศรษฐกิจของคนรุ่นใหม่คือการปลดโซ่ตรวนหนี้สินที่ถูกส่งต่อมารุ่นสู่รุ่น ซึ่งพวกเขาอยากให้มันสิ้นสุดที่รุ่นของตน ในขณะที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ ๆ ของโลกอนาคต คาดการณ์ว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจะแทนที่ตำแหน่งงานถึง 1 ใน 3 รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีตาข่ายที่เรียกว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ โอบอุ้มสังคมให้ทุกคนสามารถมีโอกาสในการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาค” นายวรดรกล่าว
ว่าที่นายกฯ นัดพบนักธุรกิจคนรุ่นใหม่
จะเห็นได้ว่า ภาพลักษณ์ของเจ้าของธุกิจและนักธุรกิจในยุคปัจจุบัน จะแตกต่างจากเดิมที่อยู่ในวัยกลางคนถึงวัยสูงอายุ กลายเป็นคนรุ่นใหม่อายุยังน้อยที่ประสบความสำเร็จและมีวิสัยทัศน์กว้างไกล บางคนอายุยังไม่ถึง 20 ปีเสียด้วยซ้ำ กระทั่งมีคำกล่าวที่ว่า “อายุน้อยร้อยล้าน”
จากความสำคัญของคนรุ่นใหม่ ล่าสุดในเพจพรรคก้าวไกลได้ลงข่าวและภาพของ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวพรรคก้าวไกลและว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย และ “นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรค นำทีมเศรษฐกิจก้าวไกลเข้าพบนักธุรกิจรุ่นใหม่และตัวแทนสภาอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ (Young FTI) ที่โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะทางนโยบายจากนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตของภาคอุตสาหกรรมไทย
กิจกรรมภายในงาน เริ่มต้นด้วยตัวแทนนักธุรกิจจากสภาอุตสาหกรรมรุ่นใหม่นำเสนอปัญหาและข้อเสนอนโยบายเพื่อแก้ปัญหาที่นักธุรกิจเจอในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นโยบายการพัฒนาสินค้าเกษตร การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมภาคการผลิต ลิขสิทธิ์ ประสิทธิภาพการทำงานของรัฐ การคอร์รัปชัน นวัตกรรม และโอกาสในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานของประเทศไทย
เมื่อตัวแทนนักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่นำเสนอจบแล้ว นายพิธากล่าวกับที่ประชุมว่า สิ่งแรกที่เราต้องแสดงให้เห็นก่อนคือไม่ทำงานเป็นแท่งๆ เป็นไซโล แต่ต้องมองภาพใหญ่ว่าการบริหารเศรษฐกิจที่เราต้องการคืออะไร สิ่งที่พรรคก้าวไกลมองเห็นบทเรียนจากเศรษฐกิจไทยที่เติบโตมา 40 ปี คือในอนาคตต้องเป็นการเติบโตแบบ inclusive growth เศรษฐกิจโตด้วย และลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้ทุกคนเติบโตด้วย
แจงนโยบาย 3F กับคนรุ่นใหม่
นอกจากนี้นายพิธายังย้ำถึงนโยบายในการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมไทยผ่าน 3F โดยมีสาระสำคัญดังนี้
หนึ่งคือ Fair Game ความเท่าเทียมที่จะแข่งกันระหว่างทุนใหญ่กับทุนเล็ก ทุนไทยกับทุนต่างชาติ ยกตัวอย่างเช่นผลิตภาพการผลิตภาคเกษตร ต้นเหตุของปัญหาอยู่ที่ที่ดิน เมื่อเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินของตัวเองก็ไม่สามารถพัฒนาผลิตภาพการผลิตของตัวเองได้ ดังนั้น ต้องแก้ที่กระดุมเม็ดแรก มองให้เห็นโครงสร้างทั้งระบบ เช่นเดียวกับการขอใบอนุญาตต่างๆ ที่ปัญหาความล่าช้าเกิดขึ้นจากกระบวนการที่ไม่มีประสิทธิภาพ การรวมศูนย์อำนาจ ถ้าประเทศไทยมีการกระจายอำนาจ จะทำให้ท้องถิ่นกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศระเบิดศักยภาพในการเติบโต สามารถสร้างเศรษฐกิจของประเทศได้อีกมหาศาล
สองคือ Firm ground หมายถึงต้องสู้กันด้วยผลิตภาพ (productivity) ไม่ใช่สู้กันด้วยการกดค่าแรง อยากทำความเข้าใจว่าค่าแรง 450 บาท ไม่ใช่เป็นนโยบายที่เราคิดเอาเอง แต่เราเอาตัวเลข ไม่ว่าจะเป็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน ถ้าคิดตั้งแต่ปี 2556 มาจนถึงปัจจุบัน ค่าแรงที่ควรจะเป็นคือเท่าไร ตัวเลขอยู่ที่ใกล้เคียงกับ 450 บาท ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่ได้มีแค่นโยบายเพิ่มค่าแรงแต่มาพร้อมกับแพ็กเกจนโยบายเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีเอสเอ็มอี และมาตรการเพิ่มสภาพคล่องอื่น ให้ไม่น้อยกว่าในสมัยที่มีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท
สามคือ Fast growth industries ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ และหาช่องว่างโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยไปพร้อมกับโลก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมยาเพื่อต่อสู้กับโรคอุบัติใหม่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนเครื่องบิน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งอุตสาหกรรมชิปและซิลิคอนคาไบด์ที่ประเทศไทยยังมีโอกาส
นายพิธายังกล่าวด้วยว่า ผมคิดว่าเรื่องการบริหารนวัตกรรม สรุปได้เป็นหนึ่งประโยคคือ “สร้างงานซ่อมประเทศ” ที่เราจะเปลี่ยนจุดอ่อนของประเทศและปัญหาของประชาชน มาเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมเพื่อแก้ปัญหาของอนาคต เช่น กฎหมายรถเมล์อนาคต การทำน้ำประปาดื่มได้ ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นได้ทั้งประเทศ คุณคิดว่าจะเป็นโอกาสสำหรับนวัตกรรมมากแค่ไหนของประเทศไทย
“ถ้าประเทศไทยสามารถส่งเสริมนโยบาย offset policy ได้ แทนที่จะซื้ออาวุธจากต่างชาติ เปลี่ยนเป็นการซื้อพร้อมทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ใช้แรงงานและชิ้นส่วนในประเทศแทนที่จะนำเข้า 100 เปอร์เซ็นต์”
หลังจากที่นายพิธาได้แสดงวิสัยทัศน์ สภาอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ได้มอบเสื้อที่มีสัญลักษณ์ Young FTI และโลโก้พรรคก้าวไกล แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต บรรยากาศการพบปะพูดคุยเป็นไปอย่างชื่นมื่น นักธุรกิจรุ่นใหม่ฝากความหวังในการสร้างความเปลี่ยนแปลง การทำงานร่วมกับภาครัฐไว้กับทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ว่าจะทำให้กระบวนการทำงานรวดเร็ว เปิดกว้างการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ และทำงานด้วยความโปร่งใส ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน
สกู๊ปปก
ครม.!?! ค.คน ร.รุ่น ม.ใหม่ พลังขับเคลื่อนไทยก้าวไกลยุคดิจิทัล
อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 382 วันที่ 2-8 มิถุนายน 2566
https://book.bangkok-today.com/books/fqsl/#p=1 (สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)