Digiqole ad

คนไทยยุคไร้อนาคต มืดหม่น-ประคองชีวิต

 คนไทยยุคไร้อนาคต มืดหม่น-ประคองชีวิต
Social sharing

Digiqole ad

หลังจากพยายามทำตัวเป็นพลเมืองดีเชื่อรัฐบาล “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ไม่ออกนอกบ้านหากไม่จำเป็น  Work From Home  ใส่หน้ากากอนามัยจนหูด้านชา  เว้นระยะห่างบุคคลใกล้ชิดและแปลกหน้า  ไม่พาตนเองเข้าพื้นที่สุ่มเสี่ยง  หรือ “กินร้อน ช้อนกู ล้างมือ” จนมือแทบจะเปื่อย  แถบยังกินสมุนไพรไทยทุกชนิดที่เชื่อว่าจะช่วยสกัดยับยั้งหรือสร้างภูมิต้านทานไวรัสโควิด-19 ก็แล้ว

แต่เมื่อมองออกไปรอบตัวเห็นแต่ภาพที่พร่ามัว  เห็นแต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อทะลุหลักล้าน  ผู้เสียชีวิตทะลุหลักหมื่น   เสียงผู้คนเดือดร้อนเพราะไร้เงินไร้งาน  เสียงบ่นระบบราชการที่รับเงินเดือนเต็มแต่ใส่เกียร์ว่างไม่ทำงานเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาแก่ประชาชน  ตามด้วยเสียงขับไล่ผู้นำรัฐบาลที่ลืมคำสัญญาว่าจะคืนความสุขแก่ประชาชนที่ดังก้องขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นความรู้สึกร่วมของคนไทยในยุคโควิด-19 ที่กัดฟันร่วมทุกข์กันมาเกือบ 2 ปี  ยอมก้มหน้ารับความเจ็บปวดจากมาตรการของรัฐเพราะนึกว่าเชื่อผู้นำจะพาชาติพ้นภัย  แต่เมื่อเงยหน้ากลับเคว้งคว้างมองไม่เห็นอนาคต  ครั้นหันหลังเห็นแต่ความว่างเปล่ากับเจ้าหนี้ที่รออยู่  หลายชีวิตจึงคิดเพียงว่า “เอาวันนี้ให้รอดก่อน” แล้วหวังว่าพรุ่งนี้จะยังมีลมหายใจสู้ต่อไป

แบงก์ชาติฟันธงเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า

ไม่กี่วันที่ผ่านมา นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย   ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะใช้เวลานานและไม่เท่ากัน

ผู้ว่าการแบงก์ชาติให้เหตุผลว่าที่ไทยฟื้นตัวช้า เพราะพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าที่สุดและเชื่อมโยงกับการกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนในวงกว้าง  ส่วนการฟื้นตัวที่จะไม่เท่ากันนั้นเห็นได้จากกิจกรรมในภาคการส่งออกสินค้าที่ฟื้นกลับมาเหนือระดับก่อนการระบาดของ Covid-19 แล้ว ขณะที่ภาคบริการยังถูกกระทบรุนแรงต่อเนื่อง

ประเด็นการท่องเที่ยวนั้นมีข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่คาดว่าการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกในปี 2564 น่าจะหดตัวประมาณ 45% จากปีก่อน หรือมีจำนวนเพียงประมาณ 220 ล้านคน จากจำนวน 399 ล้านคนในปี 2563

ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาจจะต่ำกว่าที่เคยคาด ส่งผลให้ทั้งปี 2564 นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะมีจำนวน 1.5 แสนคน จากกรอบเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.5-6.5 แสนคน

GDP ปี 2564 โตติดดิน

          ตอนปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 หลายสถาบันมองว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาสดใส  แต่หลังเผชิญความจริงในไตรมาส 2 เข้าสู่ไตรมาส 3 นักวิเคราะห์ต้องพากันแก้ตัวเลขพัลวัน  อาทิ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศจากการล็อกดาวน์ รวมถึงผลจากการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 และระลอกที่ 4 จากเดือน มกราคม-สิงหาคม 2564  ว่ามีมูลค่าประมาณ 8 แสนล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลมีการขยายการล็อกดาวน์ต่อไปอีก  ผลกระทบจะรุนแรงเกิน 1 ล้านล้านบาทสำหรับปีนี้ ซึ่งจะทำให้ GDP ปี2564 มีโอกาสติดลบ 0- 1.5 %

ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี  ธนาคารทีเอ็มบีธนชาติ  มองว่าในช่วงต้นไตรมาส 3 สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงมากขึ้นและกระจายเป็นวงกว้าง นำไปสู่การใช้มาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม รวม 29 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็น 77% ของจีดีพีประเทศ ดังนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง และทรุดตัวลง

การที่รัฐสั่งล็อกดาวน์คุมเข้มไปถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 เป็นแรงกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ให้ลดลงอย่างชัดเจนและจะกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อยในไตรมาส 4 หลังประเมินการแพร่ระบาดจะสามารถกลับเข้าสู่ระดับควบคุมได้อีกครั้ง ซึ่งนำไปสู่การคลายล็อกดาวน์ในช่วงต้นกันยายน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2564 ขยายตัว 0.3%

คนไทยว่างงานสูงสุดในรอบ 5 ปี

เศรษฐกิจไทยที่หยุดชะงักดังกล่าวนี้อธิบายได้ด้วยข้อมูลสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เพิ่งแถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2564 ว่า อัตราการว่างงานไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 1.89% ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 1/2564 ที่มีอัตราว่างงาน 1.96% (สูงสุดในรอบ 5 ปี) โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 7.3 แสนคน

ในจำนวนนี้เป็นผู้จบการศึกษาใหม่ 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้น 10.04% และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 4.4 แสนคน รวมทั้งพบว่าจำนวนผู้ว่างงานนานกว่า 12 เดือน มีจำนวน 1.47 แสนคน หรือคิดเป็น 20.1% ของผู้ว่างงาน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2564 ที่มีสัดส่วน 11.7% ของผู้ว่างงาน

สศช.เปิดเผยข้อมูลด้วยว่า หนี้สินเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต โดยในช่วงไตรมาส 1/2564 สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นเพิ่มขึ้น 6.5% สูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 1/2563 และสินเชื่อบัตรเครดิตที่ขยายตัวเร่งขึ้น โดยขยายตัว 6% จากที่หดตัว 1.3% ในช่วงไตรมาส 1/2564

ประคองตัวเองอีก3เดือน

สภาพเศรษฐกิจที่ติดลบเช่นนี้จะยืนระยะกันได้นานแค่ไหน  สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี การใช้จ่ายของคนไทยในยุคโควิด-19 กลุ่มตัวอย่าง 1,274 คน ระหว่างวันที่ 16-19 สิงหาคม 2564 พบว่า ในช่วงโควิด-19ประชาชนใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 40.22 นำเงินจากการทำงานมาใช้ ร้อยละ 83.57 เงินออมที่มีอยู่ใช้ไปบ้างแล้วบางส่วนร้อยละ 42.63 รูปแบบการใช้จ่ายในช่วงโควิด-19 คือ ลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ร้อยละ 80.44 และจากสภาพการใช้จ่ายตอนนี้คิดว่าจะประคองตัวเองต่อไปได้อีกประมาณ 3 เดือน ร้อยละ 37.37

ถึงแม้ว่าในช่วงโควิด-19 ประชาชนจะประหยัดและวางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุม แต่ก็ยังต้องนำเงินออมออกมาใช้ เพราะโควิด-19 ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น อีกทั้งสถานการณ์ว่างงาน ตกงาน และเศรษฐกิจตกต่ำก็ทำให้ประชาชนไม่มีกำลังการบริโภคภายในประเทศมากนัก  ทั้งนี้ประชาชนมองว่าจะประคองตัวเองต่อไปได้อีกไม่เกิน 3 เดือนเท่านั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ มีมาตรการช่วยเหลือค่าใช้ จ่ายที่จำเป็นและลดค่าครองชีพโดยเร็ว

5.5 หมื่นล้านเยียวยาซื้อเวลา

การใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่ส่งผลต่อธุรกิจและแรงงานแล้วรัฐบาลช่วยเหลือนั้นก็ไม่ต่างกับปี 2563ที่โยนเศษเงินให้ประทังชีวิตและปิดปาก  งวดนี้รัฐบาลใช้วงเงิน 33,471 ล้านบาท เยียวยาผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ในพื้นที่ 29 จังหวัดสีแดงเข้ม คนละ 5,000 บาท

ขณะเดียวกันจากการสั่งปิดโรงเรียนให้เด็กเรียนออนไลน์ กระทรวงศึกษาธิการ ใช้งบ 22,000 ล้านบาท  เยียวยานักเรียนคนละ 2,000 บาท ทั่วประเทศจำนวน 11 ล้านคน   เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชนกลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่ระดับอนุบาล – มัธยมศึกษาตอนปลาย  อาชีวศึกษา ปวช. – ปวส.  และการศึกษานอกระบบฯ(กศน.)

หัวเลี้ยวหัวต่อประเทศไทย

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เคยให้สัมภาษณ์ทางสื่อโทรทัศน์เมื่อเร็วๆนี้ว่า  วิกฤติโควิดเป็นเหมือนสงครามโลก (โรค) ครั้งที่ 3 เพราะทุกประเทศในโลกได้รับผลกระทบทั้งหมด แต่หากประเทศใดปรับตัวได้ก็จะก้าวกระโดด  ช่วงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศไทยหากประเทศไทยขาดนโยบายที่มีความพร้อม และมีการเปลี่ยนแปลงไม่เร็วพอ ก็จะตกขบวน ตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน

เข้าสู่เดือนกันยายนซึ่งเป็นท้ายของไตรมาส 3 เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องเผชิญศึกหนัก 3 ด้าน ทั้งการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ที่ต้องกดตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่และผู้เสียชีวิตด้วยสรรพกำลังของบุคลากรทางการ แพทย์ที่เริ่มอ่อนล้า  การต่อสู้ทางการเมืองที่ถูกตีขนาบทั้งม็อบนอกสภาและการซักฟอกอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา  และการต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบเต็มๆมาเกือบ 2 ปีจากมาตรการฉุกเฉินของรัฐบาล

ด้านการเมืองนั้นพอเข้าใจว่ารัฐบาลกับฝ่ายค้ายยังต้องยื้อกันไปอีกหลายยก  แต่หากภายในเดือนกันยายนนี้รัฐบาลยังไม่สามารถเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในวงกว้าง  หรือยังไม่ยอมคลายล็อคให้ภาคธุรกิจและประชาชนได้ทำมาหากินตามปกติ  คงได้เห็นปรากฏการณ์ “ตุลาอาถรรพ์” เพราะความเครียดของประชาชนที่อัดอั้นไว้มีโอกาสระเบิดออกมาแน่

Facebook Comments


Social sharing

Related post