Digiqole ad

คนด่านหน้าไม่ร้องขอ คนหน้าด้านนั่งรอลงทัณฑ์

 คนด่านหน้าไม่ร้องขอ คนหน้าด้านนั่งรอลงทัณฑ์
Social sharing

Digiqole ad

กฎหมายดีมีอยู่แล้ว

บนเพจ เฟซบุ๊คของ Niramai Phitkhae Manjit  หรือรองศาสตราจารย์ ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร   รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ศูนย์ลำปาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้โพสต์ลงถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระแสสังคมที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันถึง  ความเคลื่อนไหวของกระทรวงสาธารณสุขที่จะผลักดันกฎหมายยกเว้นความรับผิดแก่บุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 ว่า

“ปัจจุบันเรามีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และสถานพยาบาลอยู่แล้วหลายฉบับ ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่สถานการณ์

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่มีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 200 คน คุณหมอทุกคนได้รับความคุ้มครองอยู่แล้วตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2559 ข้อ 15 ที่ให้คุณหมอรักษาพยาบาลผู้ป่วยภายใต้ความสามารถและ “ข้อจำกัดตามภาวะ วิสัย และพฤติการณ์ที่มีอยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ” (ไม่ใช่ต้องดีที่สุดในภาวะที่มีโรคติดต่อร้ายแรง)

คุณหมอที่ทำงานในสถานพยาบาลของรัฐ ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่จะรับผิดเป็นการส่วนตัวก็ต่อเมื่อตนเองทำไปโดย “เจตนา” หรือ “ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” เท่านั้น หากการรักษาพยาบาลทำไปอย่างเต็มที่แล้วในสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น แม้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยอาจจะสืบเนื่องมาจากความประมาททั่วไป ก็ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด

หากคุณหมอทำงานในสถานพยาบาลเอกชน ในภาวะวิกฤต ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น คุณหมอ บุคลากรที่เกี่ยวข้อง และสถานพยาบาลเอกชน (รวมถึงสถานพยาบาลรัฐด้วย) จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2559 มาตรา 29(1) และตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง ประเภท ระดับ อำนาจหน้าที่ ขอบเขตความรับผิดชอบ และข้อจำกัดของหน่วยปฏิบัติการ พ.ศ.2562 ข้อ 5(9) ที่ให้ความคุ้มครองกับผู้ปฏิบัติการและหน่วยปฏิบัติการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะรับผิดเป็นการส่วนตัวก็ต่อเมื่อตนเองได้ทำให้เกิดความเสียหายโดย “เจตนา” หรือ “ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” เท่านั้น

พ.ร.ก.สอดไส้คาราเมล

อ่านเพียงเท่านี้ก็เป็นที่เข้าใจสำหรับประชาชนทั่วไปว่า  บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานท่ามกลางความวุ่นวายโกลาหลจากการแพร่ระบาดของโรคโควด-19 ที่มีผู้ป่วยนับแสนจนเตียงล้นโรงพยาบาล  มีผู้ตายสะสมหลายพันคน(คงจะถึงระดับหมื่นหากยับยั้งไม่อยู่)  จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายบ้านเมืองที่มีอยู่โดยไม่ต้องไปออกกฎหมายฉบับใหม่ให้เสียเวลา

ยกเว้นคนสั่งการไม่เข้าใจ  หรือมีเจตนา “สอดไส้คาราเมล” อย่างที่กำลังพูดกันสนั่นเมือง

เรื่องนี้สังคมต้องชมเชยนักการเมืองฝ่ายค้านที่ออกมาเปิดเผยงานอีกด้านหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข  ว่าในขณะที่บุคลากรด่านหน้ากำลังเหนื่อยยากกับการต่อสู้กับโรคระบาดในพื้นที่  ผู้บริหารของกระทรวงนับตั้งแต่รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี กำลังนั่งสุมหัวในห้องแอร์เพื่อจะออกกฎหมายที่มีชื่อว่า “พระราชกำหนดจำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ……..”   โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญว่าเพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโควิด-19 ไม่ต้องกังวลถูกฟ้องร้อง

แต่จากเอกสารที่หลุดออกมาทำให้สังคมเคลือบแคลงว่านี่อาจเป็นคำสั่งจากการเมืองที่ต้องการออกกฎหมาย “นิรโทษกรรม” ความผิดในการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเห็นชัดเจนแล้วว่าผิดพลาดซ้ำซากตั้งแต่ตั้งธงจะใช้แอสตร้าเซนเนก้าเจ้าเดียว  เจรจาแบบเสียเปรียบ  ประเมินสถานการณ์ต่ำ และไม่ใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อแก้ไขสถานการณ์ขาดแคลนวัคซีนจนส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

อ้างสร้างภูมิถูกฟ้องร้อง

นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  ซึ่งปรากฏชื่อเป็นผู้จัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาอธิบายว่า  โรคโควิด-19 เป็นโรคติดเชื้ออันตรายใหม่และได้รับการประกาศให้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ประกอบกับการมีข้อจำกัดหลายประการไม่ว่าจะเป็นแนวทางการรักษา เรื่องยารักษาโรค และจำนวนการติดเชื้อที่มากขึ้นจากระบาดหลายครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ฯลฯ  ดังนั้น “การที่มีภูมิต้านทานสำคัญจากการถูกฟ้องร้อง จะทำให้บุคลากรทางแพทย์มีขวัญกำลังใจในการทำงาน รวมทั้งมีข้อเสนอจากองค์กรวิชาชีพจากสภาวิชาชีพต่าง ๆ และโรงพยาบาลเอกชนได้เสนอให้มีกฎหมายในลักษณะนี้ขึ้น

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวสาธารณสุข ชี้แจงว่า เป็นเพียงการหารือของคณะแพทย์ หลังได้รับการร้องเรียนจากบุคลากรทางการแพทย์ที่กังวลต่อการปฏิบัติหน้าที่  ยังไม่ถึงขั้นการการยกร่างของกระทรวงสาธารณสุข และยังไม่มีการเสนอมายังคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด จึงไม่มีใครทราบรายละเอียดของเนื้อหาเป็นอย่างไร

ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่เป็นมือกฎหมายของรัฐบาล  ออกมาทำหน้าที่ดับกระแสว่าได้แจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขกลับไปคิดให้ดี  เพราะสถานการณ์ขณะนี้ ยังไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องทำขนาดนั้น และอาจไม่เข้าข่ายที่จะสามารถออกเป็น พ.ร.ก.ได้ (เพราะการจะออกพ.ร.ก.โดยไม่ผ่านสภาต้องเป็นเรื่องเร่งด่วนฉุกเฉินเท่านั้น)

ฟังเสียงสองรองนายกฯแล้วแสดงว่าฝ่ายการเมืองอาจจะยอมถอยชั่วคราว  แต่ความผิดพลาดเรื่องวัคซีนที่ส่งผลให้ประชาชนตายนับพันคนย่อมมีโอกาสถูกเช็คบิลในอนาคตหากไม่มีกฎหมายล้างมลทิน  ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ภาคประชาสังคมไม่อาจวางใจร่างกฎหมายฉบับนี้จะย้อนกลับมาในรูปแบบไหน

วัคซีนบริจาคช่วยซื้อเวลา

ประชาชนรู้ดีว่าการที่โรคโควิด-19 ในประเทศไทยที่เคยควบคุมได้ดีในปี 2563 กลับมาระบาดหนักสู่ระลอก 3 มาถึงระลอก 4 ในปี 2564 ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 11 สิงหาคม มีผู้ติดเชื้อใหม่ 21,038 ราย   ติดเชื้อสะสม 816,989 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 207 ราย  เสียชีวิตสะสม 6,795 ราย  มีผู้ป่วยยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 210,042 ราย  และผู้ป่วยโควิดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่เข้าสู่การรักษาตัวแบบ “Home Isolation” มีมากกว่า 100,000 ราย  อันเป็นภาพรวมของสถานการณ์ที่ “เกินกำลัง” แพทย์และพยาบาลไทย สถานพยาบาลรวมไปถึงอุปกรณ์จำเป็นที่จะรักษาชีวิตผู้ป่วยโควิด  โดยผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือนักการเมืองที่ไร้ความเข้าในด้านสาธารณสุข  นักการเมืองที่ไร้วิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการบ้านเมืองยามวิกฤติ  นักการเมืองที่เชื่อมั่นว่าตนเองรู้ทุกเรื่องแล้วรวบอำนาจนั่งบัญชาการบนหอคอยโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงในพื้นที่

ถือเป็นโชคของรัฐบาลที่ช่วงนี้ได้วัคซีนที่บริจาคจากชาติมหาอำนาจมาช่วยฉีดประคองสถานการณ์  อาทิวัคซีนไฟเซอร์จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา 2.5 ล้านโดส ในจำนวนนี้ 1 ล้านโดสเป็นฝีมือเจรจาของนางลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ ส.ว.อเมริกันเชื้อสายไทย   และยังมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากรัฐบาลอังกฤษ 415,000 โดสที่เป็นคนละส่วนจากแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยโรงงานบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ในไทย

จี้คุมส่งออกแอสตร้าฯ

กล่าวถึงบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ที่เป็นโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 แห่งเดียวในไทย  ซึ่งมีกำลังการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเดือนละประมาณ  15-16 ล้านโดส  แต่วัคซีนส่วนใหญ่ต้องส่งออกต่างประเทศนั้น  จนบัดนี้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูร เป็นประธาน  ก็ยังไม่ยอมใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ เข้าควบคุมการส่งออกเป็นการชั่วคราว  เพื่อนำวัคซีนที่ผลิตได้ในประเทศนี้มาใช้แก้ปัญหาการแพร่ระบาดที่กำลังเป็นวิกฤติของประเทศ

ล่าสุดมีการเคลื่อนไหวจาก ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล  รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ  นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท   ได้ร่วมกันเชิญชวนประชาชนลงชื่อเรียกร้องผ่านทาง  www.change.org (http://chng.it/X94dVxZj)  ให้รัฐบาลใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ ลดการส่งออกวัคซีนของสยามไบโอไซเอนซ์ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนวัคซีน  โดยเชื่อว่าหากใช้อำนาจตามกฎหมายจะทำให้ประเทศไทยมีวัคซีน 20-30 ล้านโดส ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า จะมีโอกาสควบคุมการระบาดและลดความสูญเสียได้ดีขึ้นมาก  มิเช่นนั้นผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตนับหมื่นคน

นักการเมืองอ้างจะออกกฎหมายเพื่อบุคลากรทางการแพทย์  แต่คนทำงานด่านหน้าไม่เห็นสนใจแถมยังเรียกร้องให้นักการเมืองใช้กฎหมายที่มีอยู่เพื่อรักษาชีวิตของประชาชน  หากถึงขั้นนี้แล้วยังดื้อด้านเห็นผลประโยชน์ภาคธุรกิจเหนือกว่าสุขภาพและชีวิตคนในประเทศ  คงถึงเวลาต้องนับถอยหลังคนที่คุมกระทรวงสาธารณสุขแล้วกระมัง

Facebook Comments


Social sharing

Related post