
คนดี..สร้างภาพ


ความเป็นจริง หรือ Truth ซึ่งแปลว่า ความจริง สัจธรรม ความซื่อสัตย์ ความแน่แท้ ความถูกต้อง จะต้องครบถ้วนในทุกๆมุมทุกๆด้าน
ผิดไปจากนั้นก็คือการหลอกลวงทั้งสิ้น
การสร้างภาพลักษณ์ หากอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ความถูกต้อง ย่อมจะไม่ใช่ความหลอกลวง แต่หากเป็นการสร้างภาพที่หลอกลวง ปกปิดความเป็นจริงที่สกปรก โสมม ไร้ซึ่งความซื่อสัตย์แล้ว นั่นคือการหลอกลวงที่ชั่วร้าย
น่าเศร้าที่ค่านิยมของคนกลุ่มหนึ่งในสังคม มักจะมองกันแค่ปัจจุบันที่สายตามองเห็น ปราศจากการตรวจสอบ ไม่มีการฉุกใจคิด เชื่อตามแต่จะถูกเป่าหูให้เชื่อ หรือเชื่อเพราะว่าสอดคล้องกับจิตใจส่วนลึกๆของตนเอง
กลายเป็นจุดอ่อนให้คนบางจำพวกใช้เป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ ในการทุจริตต่อผู้คนและสังคม
ในอดีตสังคมไทยผ่านปรากฏการณ์หลอกลวงผู้คน ของบรรดาผู้ที่สร้างภาพให้ดูดี มาไม่รู้กี่ครั้งกี่หนแล้ว อย่างแชร์ทั้งหลายในอดีตก็ล้วนมาในคราบนักบุญผู้ให้ ทั้งๆที่ได้ผลประโยชน์มากมายมหาศาล หลายคนติดคุก บางคนหนีคดีไปจนสิ้นอายุความ แล้วกลับได้อย่างหน้าตาเฉย เพราะผู้ที่เคยเสียหายสิ้นไร้เรี่ยวแรงทวงความเป็นธรรม
แถมเป็นการกลับมาที่ฉวยโอกาสทางการเมืองได้อย่างถูกจริตของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองบางกลุ่ม จึงสามารถสร้างภาพลักษณ์กลบพฤติกรรมฉ้อโกงในอดีตไว้ ให้กลายเป็นที่ยอมรับของคนบางกลุ่มได้
กรณีของประสิทธิ์ เจียวก๊ก จึงไม่ใช่ปรากฏการณ์แรกในสังคมไทย และจะไม่ใช่ปรากฏการณ์สุดท้ายอย่างแน่นอน
หากการตรวจสอบความจริง ยังไม่เข้มแข็งมากพอที่จะเอาชนะความเชื่อในภาพลักษณ์ที่ลวงตาได้
และภาพลักษณ์ที่หลอกลวง โดยบุคคลที่ไม่มีจริยธรรม ไม่มีคุณธรรม ไร้มโนสำนึก ไร้ความละอายและไร้ความเกรงกลัวต่อบาป ถือเป็นสิ่งชั่วร้ายที่น่ากลัวอย่างยิ่ง
คนพวกนี้สามารถสอดแทรกเข้าไปฉวยโอกาสได้ทุกกลุ่มคน ที่หลงชื่นชมในภาพของความร่ำรวย จึงกลายเป็นว่า ตกเป็นเครื่องมือในการสร้างตัวตน สร้างกระแส แต่งเพลงยกย่องเชิดชูให้กับคนเหล่านี้ไปโดยปริยาย
เมื่อมีภาพตัวตนที่ฉาบทาว่าร่ำรวย จากนั้นก็ใช้วิธีการโหนสถาบัน ใช้สีเสื้อ ใช้สัญญลักษณ์ เพื่ออำพรางตัวตนที่แท้จริง
สุดท้ายความโลภก็เผยกำพืดที่แท้จริง ว่าใช่คนดีที่แท้จริงอย่างที่แสดงต่อสังคมหรือไม่
เมื่อไหร่สังคม และผู้มีอำนาจทางการเมือง จะรู้ทันพวกหลอกลวงเหล่านี้เสียที
ภูวนารถ ณ สงขลา