Digiqole ad

ข้าวไทยอยู่ในสถานการณ์ “ไม่แข่ง ยิ่งแพ้” รัฐบาลต้องเพิ่ม 4 เรื่อง พลิกโฉมชาวนาไทยให้รายได้ต่อหัวสูงขึ้น ข้าวไทยกลับมาแข่งขันในเวทีโลกได้อีกครั้ง

 ข้าวไทยอยู่ในสถานการณ์ “ไม่แข่ง ยิ่งแพ้” รัฐบาลต้องเพิ่ม 4 เรื่อง พลิกโฉมชาวนาไทยให้รายได้ต่อหัวสูงขึ้น ข้าวไทยกลับมาแข่งขันในเวทีโลกได้อีกครั้ง
Social sharing

Digiqole ad
ในการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 ณรงเดช อุฬารกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณเกี่ยวกับข้าว โดยระบุว่า ทุกรัฐบาลใช้เงินจำนวนมากในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร แต่ดูเหมือนเม็ดเงินที่ใส่ไป จะไม่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรดีขึ้น อดีตนายกฯ 2 คนก่อนหน้านี้ ใช้เงินถึง 1.2 ล้านล้านบาทเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวนาผ่านโครงการจำนำข้าว ประกันราคาข้าว เฉลี่ยปีละ 100,000 ล้านบาท
.
ปี 2566 ที่ผ่านมา แม้ราคาข้าวในเอเชียจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 15 ปี ส่งผลให้การส่งออกข้าวไทยมีมูลค่าสูงขึ้นถึง 24.6% โรงสี ผู้ส่งออกได้กำไร แต่รัฐบาลเศรษฐายังต้องใช้เงิน 54,000 ล้านบาทในการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวพี่น้องเกษตรกร ข้าวจึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่สะท้อนให้เห็นปัญหาของภาคการเกษตรที่ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้
.
ในปีงบประมาณ 2567 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ของบประมาณทั้งสิ้น 118,596 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องข้าวโดยตรงคือกรมการข้าว ได้ของบประมาณทั้งสิ้น 4,447 ล้านบาท ทำหน้าที่ดูแล ปรับปรุง และพัฒนาการปลูก พัฒนาพันธุ์ คุ้มครองพันธุ์ ผลิตเมล็ดพันธุ์ ตรวจสอบรับรองมาตรฐาน แปรรูป หาตลาด และส่งเสริมภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับข้าว แต่ถึงอย่างนั้น ข้าวไทยก็ยังมีปัญหา ทั้งปริมาณ คุณภาพ และราคา
.
ในด้านปริมาณ การส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยลดลงตั้งแต่ปี 2549 และสูญเสียตลาดข้าวให้คู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นเวียดนามหรืออินเดีย ผลผลิตต่อไร่ของไทยไม่เพิ่มขึ้นและยังต่ำกว่าคู่แข่ง
.
ด้านคุณภาพ ในการประชุมข้าวโลกประจำปี 2565 ที่จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทยได้ส่งข้าวประกวด แต่ก็แพ้ข้าวหอมผกาลำดวนจากกัมพูชา เนื่องจากความหอมของข้าวไทยลดลง ล่าสุดปีที่ผ่านมา ข้าว ST25 จากเวียดนามชนะการประกวด น่าเสียดายที่ไทยไม่ได้ส่งประกวด เพราะการประกวดข้าว สะท้อนถึงคุณภาพที่ตลาดต้องการ การชนะการประกวดจึงแสดงถึงความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน
.
ในด้านราคา ปีนี้ข้าว ST25 ของเวียดนามมีมูลค่าสูงขึ้น 200 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในขณะที่มูลค่าข้าวไทยเพิ่มขึ้นเพียง 50 เหรียญสหรัฐต่อตัน
.
ข้าวไทยตอนนี้อยู่ในสถานการณ์ “ไม่แข่ง ยิ่งแพ้”
.
ข้าวมูลค่าสูงอย่างข้าวหอมมะลิ ผู้ส่งออกสามารถตั้งราคาสูงกว่าข้าวทั่วไปได้ 20-25% แต่ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูง ทำให้เกษตรกรลดต้นทุนด้วยการเก็บเมล็ดพันธุ์ใช้ซ้ำๆ แทนที่จะซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ รวมถึงลดต้นทุนแรงงานด้วยการทำนาหว่าน ทำให้ผลผลิตที่ได้มีเมล็ดข้าวที่ไม่ได้คุณภาพปะปน เอกลักษณ์ความหอมความนุ่มของข้าวหอมมะลิจึงลดลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคา
.
ทั้งหมดนี้คือการสะท้อนว่าข้าวไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ข้าวไทยมีราคาแพงกว่าคู่แข่งและไม่สามารถรักษาคุณภาพเอาไว้ได้ ทำให้เราเสียส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ
.
ปัจจุบันต้นทุนการผลิตข้าวต่อกิโลกรัมของไทย แพงกว่าเวียดนาม 2 เท่า เมื่อปี 2555 ต้นทุนต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 8.29 บาท แต่ในปี 2565 เพิ่มเป็น 13.25 บาท สวนทางกับปริมาณผลผลิตต่อไร่ที่แทบไม่เพิ่มขึ้นเลย ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ชาวนาในเวียดนาม อินเดีย และเมียนมาร์ มีเงินเหลือจากการทำนา แต่ชาวนาไทยเป็นประเทศเดียวที่ทำนาแล้วขาดทุน
.
ที่เราเห็นโรงสีใหญ่ขึ้น ผู้ส่งออกรวยขึ้น เพราะส่วนที่ชาวนาขาดทุน ถูกอุดหนุนด้วยเงินภาษีปีละนับแสนล้านบาทผ่านโครงการต่างๆ จากรัฐบาล เพราะไม่มีใครให้ความสำคัญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง
.
รมว.เกษตรฯ เคยกล่าวบนเวทีข้าวไทยปี 2566 ว่า 4 ปีหลังจากนี้ ชาวนาจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ด้วย 7 นโยบาย เช่น ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา นำเทคโนโลยีมาใช้ลดต้นทุน ส่งเสริมการทำนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
.
แต่เมื่อดูโครงการต่างๆ ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ฉบับนี้ ก็สงสัยว่าจะทำให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างไร
.
เพราะในขณะที่บอกว่าจะสนับสนุนการวิจัยสายพันธุ์ข้าว แต่ในตัวชี้วัด มีเพียงการรับรองพันธุ์ข้าว 2 สายพันธุ์ ไม่มีแม้แต่โครงการวิจัยสายพันธุ์ข้าวใหม่ด้วยซ้ำ
.
หรือที่บอกว่าจะส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร แต่ให้งบประมาณเพียง 2.6 ล้านบาท เพื่อดำเนินการใน 77 จังหวัด หารแล้วเหลือเพียง 33,000 บาทต่อจังหวัดเท่านั้น
.
หรือที่บอกว่าจะส่งเสริมการทำนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการเผา โครงการที่ขอมามูลค่า 3.45 ล้านบาท คือการนำฟางไปทำถ่านชีวมวล แต่เงินเพียง 3 ล้านบาท จะลดการเผาในพื้นที่เกือบล้านไร่ได้อย่างไร
.
ไม่แปลกที่โครงการต่างๆ ที่กรมการข้าวขอมา จะไม่ตอบโจทย์พี่น้องเกษตรกรและนโยบายที่วางไว้ เพราะ 16 โครงการจาก 20 โครงการ เป็นโครงการต่อเนื่องของรัฐบาลก่อน มีเพียงแค่ 4 โครงการหรือ 20% ที่เป็นโครงการใหม่
.
จาก “คิดใหญ่ ทำเป็น” เลยกลายเป็น “พูดใหญ่ ทำเหมือนเดิม”
.
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กรมการข้าวจัดสรรงบประมาณแบบไม่สนใจวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับพี่น้องเกษตรกร ในขณะที่รัฐบาลคอยบอกว่าประเทศอยู่ในวิกฤต แต่กรมการข้าวก็ยังคงทำงบประมาณแบบเดิม ผู้บริหารอยากให้เพิ่มโครงการก็เพิ่ม อยากให้ตัดโครงการก็ตัด ไม่ทำตามแผนที่วางไว้ หรือบางโครงการเคยวางแผนไว้ว่าจบภายในหนึ่งปี พอรัฐมนตรีใหม่มา ก็ขยายเป็น 4 ปี งบประมาณที่ได้ไปแล้ว 15,260 ล้านบาท ก็ขอเพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท
.
หน่วยงานที่มีบทบาทในการกำหนดยุทธศาสตร์ข้าวไทย กลับกลายเป็นหน่วยงานที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ทิศทาง แต่ไม่เคยไร้งบประมาณ
.
คำถามคือเราต้องรื้อ ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง นโยบาย และงบประมาณอย่างไร จึงจะพลิกโฉมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตและขายข้าวไทยได้อีกครั้ง เพื่อให้ชาวนามีรายได้ต่อหัวสูงขึ้นและข้าวไทยกลับมาแข่งขันได้อีก
.
ตนเห็นว่าต้องเพิ่ม 4 เรื่อง
.
(1) เพิ่มงบวิจัยและนักปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพื่อสร้างข้าวสายพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง รัฐควรเพิ่มงบวิจัยเป็น 1% ของจีดีพี หรือประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี
.
(2) เพิ่มเครื่องจักร เพื่อลดต้นทุนของชาวนา ถ้ารัฐบาลสนับสนุนเครื่องจักร ช่วยกลุ่มเกษตรกรให้สามารถเข้าถึงระบบสินเชื่อ จะสามารถนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานได้
.
(3) เพิ่มทักษะ เพื่อเพิ่มผลผลิตและมูลค่า ยกตัวอย่างข้าวทสึยะฮิเมะ (tsuyahime) ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพสูงของญี่ปุ่น มีหน่วยพัฒนาพันธุ์ข้าวที่คอยวิจัยสายพันธุ์และพัฒนาการปลูกข้าว คนที่จะปลูกได้ ต้องได้รับอนุญาต และได้รับการอบรมวิธีการปลูกที่ถูกต้อง เพื่อควบคุมคุณภาพข้าวและมีตลาดรองรับ
.
(4) เพิ่มโอกาส โดยสนับสนุนโครงการต่างๆ เกี่ยวกับข้าว เพื่อเพิ่มโอกาสในการหารายได้ใหม่ๆ จากข้าว
.
จากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด ร่างงบประมาณของกรมการข้าว เป็นตัวอย่างที่ดีของการเขียนงบประมาณตามใจผู้บริหาร โดยไม่คำนึงถึงบทบาท หน้าที่ และเป้าหมายขององค์กร
.
ทำให้ข้าวไทย อยู่ในสถานการณ์ “ไม่แข่ง ยิ่งแพ้” อย่างน่าเสียดาย
.
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post