
ขยายเวลาปิดผับตี4 น่าจะ…เที่ยวยันหว่าง


ถือเป็นข่าวดีของนักท่องราตรีและเจ้าของผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบันเทิงกลางคืน ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นว่า Nightlife เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการท่องเที่ยวไทยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก การขยายเวลาเปิดบริการของสถานบันเทิงยามราตรีจะมีผลให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากขึ้น จะมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
รัฐบาลจึงออกนโยบายว่าตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 ให้เปิดสถานบันเทิงได้ถึง 04.00 น. เป็นการชั่วคราวในพื้นที่โซนนิ่งของ 4 จังหวัดท่องเที่ยว คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี และภูเก็ต
นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ชอบโลกที่มีสีสันบอกด้วยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตรียมรับมือกับปัญหาที่ตามมา เช่น ยาเสพติด การเมาแล้วขับ และความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน
แสดงว่านายกฯเศรษฐาตระหนักรู้ถึงหลากหลายปัญหาที่จะตามมากับนโยบายขยายเวลาให้สถานบันเทิงเปิดบริการถึงตี 4 แต่คงเพราะเห็นว่า “เงิน” สำคัญกว่า “สุขภาพ”ของนักท่องเที่ยวและคนในชาติ คงเห็นว่ารายได้ของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นในเวลา 2 ชั่วโมงสำคัญกว่าการเกิดอุบัติเหตุจากพฤติกรรม “เมาแล้วขับ” ที่อาจมีผลต่อการเสียชีวิตหรือพิการตลอดชีวิต จึงสามารถมองข้ามปัญหาดังกล่าวได้
ที่จริงนายกฯเศรษฐามิใช่คนแรกที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวด้วยการขยายเวลาให้แก่สถานบันเทิง เพราะยังน่าจะจำกันได้ว่านายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เมื่อครั้งนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในโควตาพรรคภูมิใจไทยได้พยายามเสนอมาตั้งแต่ปี 2562 ด้วยเหตุผลเดียวกันว่านักท่องเที่ยวจะควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มขึ้น แต่ดันยังไงก็ไม่ประสบความสำเร็จแถมยังโดนด่าเละว่ามีหัวคิดแค่นี้ ประกอบกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นไม่ให้ไฟเขียว เรื่องจึงถูกดองและส่งต่อมาถึงรัฐบาลเพื่อไทยที่ชอบจะทำในเรื่องที่ประชาชนไม่ค่อยชอบใจ
ในเมื่อการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีเสียงค้านกระหึ่มและยังหาแหล่งเงินไม่ได้ตามใจฝัน ในช่วงของการยืดเวลาไปปีหน้า หรืออาจจะเป็นปีโน้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการแก้ขัด มาช่วยเลี้ยงกระแสซึ่งคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการบูม “ท่องเที่ยว” ที่เป็นเครื่องยนต์เดียวที่ยังพอขับเคลื่อนด้วยการประกาศให้ “วีซ่า ฟรี” กับนักท่องเที่ยวจีน และคาซัสถาน ในช่วง 25 กันยายน 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 ตามด้วยวีซ่า ฟรีเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวอินเดีย ตั้งแต่ 10 พฤศจิกายน 2566 – 10 พฤษภาคม 2567 แล้วตบท้ายด้วยนโยบายปิดผับตี 4 ตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2566 ทั้งหมดนี้เพื่อหวังปั้นยอดนักท่องเที่ยวปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า
สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืน เมืองพัทยา สมาคมภัตตาคารไทย ฯลฯ ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการของรัฐต่างได้ออกมาออกอวยชัยให้พรรัฐบาลว่าคิดดี คิดชอบแล้วเพราะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี เป็นการดึงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ
แต่ฝ่ายที่เคยคัดค้านฝ่ายที่เห็นต่างมีความเห็นว่า กาลเวลาพิสูจน์ให้เห็นว่า รัฐบาลประยุทธ์เห็นคุณค่าทางสังคมไทยมากกว่ารัฐบาลเศรษฐาที่บูชาเงินนักท่องเที่ยวต่างชาติ
เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เคยให้ความเห็นว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยมาเที่ยวไทยสูงสุดในปี 2562 เกือบ 40 ล้านคนนั้น มีน้อยคนที่ตั้งใจจะมาเมาในผับ บาร์ คาราโอเกะของไทย เพราะจะเสี่ยงกับความปลอดภัยและการกระทำผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับการที่คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศก็คงเน้นไปเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศนั้นๆมากกว่าจะตั้งใจไปเที่ยวสถานบันเทิงช่วงกลางคืนซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัย
ข้ออ้างของรัฐบาลที่ว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจคือการมองมุมเดียว ทั้งๆที่การขยายเวลาให้สถานบันเทิงกลางคืนสามารถมองได้อีกหลายมุม อาทิ การขยายเวลาจำหน่ายเหล้า เบียร์ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อพ่อค้าน้ำเมาโดยตรง หรือเป็นการขยายเวลามอมเมาวัยรุ่นนักเที่ยวนักดื่มไทยมากขึ้นซึ่งหมายรวมถึงเยาวชนอายุต่ำกว่ากฎหมายอนุญาตจะถูกชักจูงเข้าร่วม
หากจะมองให้กว้างและลึกไปกว่านั้น ผลลบที่ตามมาคือมลพิษทางเสียงที่ชุมชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียงจะได้รับ การทะเลาะวิวาทในหมู่นักดื่มนักเที่ยวที่ปรากฏให้เห็นเป็นประจำ อุบัติเหตุจากการขับขี่ยานยนต์หลังดื่ม ยาเสพติดที่ตรวจทุกครั้งจะเจอทุกครั้ง การค้าประเวณีแอบแฝง และมาเฟียที่อาจจะมาในคราบผู้เก็บค่าคุ้มครองหรือขาใหญ่ในพื้นที่
ปัญหาต่างๆดังกล่าวสร้างผลกระทบรุนแรงต่อวิถีชีวิตชุมชนมาแล้วทั้งที่เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี ทำลายภาพลักษณ์วัฒนธรรมอันดีงามของพื้นถิ่น แลกกับการดึงดูดนักท่องเที่ยวไร้คุณภาพ และอาจจะเป็นการส่งเสริมการฟื้นตัวของธุรกิจ Sex Tour ที่บริษัททัวร์ต่างชาติเคยทำให้ไทยขายหน้าไปทั่วโลก
นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การเปิดสถานบันเทิงถึง 04.00 น. ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมถึงต้องเปิดถึงเกือบสว่าง อาจใช่ว่าเป็นการสร้างเศรษฐกิจสำหรับผู้ประกอบการด้านนี้ แต่ต้องแลกมาด้วยสุขภาพ คุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน
ส่วนที่มีการให้หลักการว่าเปิดถึง 04.00 น. เพื่อให้มีนักท่องเที่ยวมาเมืองไทยมากขึ้น ตนเชื่อว่าไม่ใช่เช่นนั้น ส่วนใหญ่มักไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยว ดังนั้นการเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ก็เพื่อตอบสนองคนไทยด้วยกันเอง กระตุ้นรายได้ให้ผู้ประกอบการ ขณะที่ประชาชนเสียเงิน เสียสุขภาพมากขึ้น
สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ “นิด้าโพล” เรื่อง “นโยบาย ปิดผับตี 4 มาอีกแล้ว!” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17-19 ตุลาคม 2566 เกี่ยวกับแนวคิดการขยายเวลาปิดสถานบันเทิงในยามค่ำคืนจากตี 2 เป็นตี 4 โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 41.76 ระบุว่า ปิดสถานบันเทิง เวลา ตี 2 เหมาะสมดีอยู่แล้ว เพราะ เป็นเวลาที่ไม่ดึกมากจนเกินไป ไม่เป็นการรบกวนเวลาพักผ่อนของผู้ที่พักอาศัยอยู่ใกล้กับสถานบันเทิง
เปรียบเทียบกับร้อยละ 23.66 ระบุว่า ควรอนุญาตปิดสถานบันเทิงเวลาตี 4 เฉพาะเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ เพราะ เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศ ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามในเมื่อรัฐบาลตัดสินใจแล้วว่าจะเดินหน้า จึงขอเสนอนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเห็นดีเห็นงามในเรื่องนี้และตั้งเป้าจะดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้าไทยให้ได้ 40 ล้านคนภายใน 4 ปี ก็น่าจะดันเวลาปิดผับบาร์ไปถึงตี 5 หรือ 6 โมงเช้าไปเลยด้วยแคมเปญ “เที่ยวกันยันหว่าง” เอาให้สุดๆกันไปเลย
พอปิดผับบาร์แล้วอย่าให้ตำรวจต้องลำบากไปตั้งด่านตรวจแอลกอฮอล์ แต่ควรนิมนต์พระไปรับบิณฑบาตหน้าผับบาร์แต่ละแห่ง ให้เจ้าของร้านจัดเตรียมของใส่บาตร พร้อมดอกไม้ธูปเทียน ให้นักเที่ยวทั้งไทยและเทศได้เริ่มวันใหม่ด้วยการทำบุญใส่บาตร เรียกสติกลับคืนและร่วมรักษาวัฒนธรรมประเพณีไทย
ทำอย่างนี้ ดีงามไหมล่ะ!