Digiqole ad

ก้าวไกลพร้อมเดินหน้าจัดทำ รธน. ใหม่ ไม่ว่ารัฐบาลจะเลือกใช้ “สูตรเพื่อไทย” (ประชามติ 2 ครั้ง) หรือ “สูตรคณะกรรมการฯ” (ประชามติ 3 ครั้ง)

 ก้าวไกลพร้อมเดินหน้าจัดทำ รธน. ใหม่ ไม่ว่ารัฐบาลจะเลือกใช้ “สูตรเพื่อไทย” (ประชามติ 2 ครั้ง) หรือ “สูตรคณะกรรมการฯ” (ประชามติ 3 ครั้ง)
Social sharing

Digiqole ad
จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (22 มกราคม 2567) สส. พรรคเพื่อไทยได้ร่วมกันยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับมาตรา 256 และสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของความพยายามในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยกระบวนการ “ประชามติ 2 ครั้ง”
.
ทำให้ขณะนี้ ตัวแทนของรัฐบาลมีข้อเสนอ 2 แนวทางในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ
[1] “สูตรคณะกรรมการฯ” คือ ข้อเสนอของคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติฯ ที่รัฐบาลแต่งตั้ง โดยมีรองนายกฯ ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน เสนอให้มีการจัดทำประชามติ 3 ครั้ง
.
[2] “สูตรเพื่อไทย” คือ ข้อเสนอของ สส. พรรคเพื่อไทย ที่ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ เสนอให้มีการจัดทำประชามติ 2 ครั้ง
.
ต่อกรณีดังกล่าว พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu สส. บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ได้สรุปจุดยืนของพรรคก้าวไกลต่อความคืบหน้าในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยแยกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้
.
.
1️⃣ [ จุดยืนต่อจำนวนประชามติ: 2 หรือ 3 ครั้ง ? ]
.
เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ ขออนุญาตนิยามประชามติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นที่พูดถึงกันอยู่ดังต่อไปนี้
.
🔴 ประชามติ A = ประชามติก่อนจะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใด ๆ (มาตรา 256 และ สสร.) เข้าสู่รัฐสภา
🟠 ประชามติ B = ประชามติหลังจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (มาตรา 256 และ สสร.) ผ่านความเห็นชอบ 3 วาระของรัฐสภา และก่อนจะมี สสร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
🟢 ประชามติ C = ประชามติหลังจาก สสร. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
.
ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการจัด 🟠 ประชามติ B และ 🟢 ประชามติ C เป็นสิ่งที่ต้องทำ หากจะเดินตามกติกาของรัฐธรรมนูญ 2560 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564
.
แต่สิ่งที่แต่ละฝ่ายเห็นต่างกันคือ 🔴 ประชามติ A จำเป็นต้องทำหรือไม่?
.
ต้นตอของความเห็นต่าง มาจากความแตกต่างในการตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ที่ระบุไว้ว่า หากจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติ “เสียก่อน” ว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
.
ฝ่ายหนึ่งตีความว่า “เสียก่อน” ในที่นี้ หมายถึงการจัดประชามติก่อนจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงมองว่าประชามติ B ก็เข้าเงื่อนไขดังกล่าว ดังนั้น การจัดประชามติแค่ 2 ครั้ง (🟠B และ 🟢C) ก็เพียงพอ
.
แต่อีกฝ่ายหนึ่งตีความว่า “เสียก่อน” ในทีนี้ หมายถึงการจัดประชามติก่อนจะมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (มาตรา 256 และ สสร.) เข้าสู่รัฐสภา จึงมองว่าจำเป็นต้องเพิ่มประชามติ A เข้ามาตอนเริ่มต้น รวมกันเป็นประชามติ 3 ครั้ง (🔴A และ 🟠B และ 🟢C)
.
สำหรับจุดยืนของพรรคก้าวไกล ในมุมกฎหมาย เรายืนยันมาตลอดว่าประชามติ A ไม่มีความจำเป็น และหากยึดตามรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ 2 ครั้ง (🟠B และ 🟢C) ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
.
แต่ในมุมการเมือง พรรคก้าวไกลเข้าใจว่าการจัดทำ 🔴ประชามติ A นั้นอาจมีประโยชน์ เพราะหากไม่ทำประชามติ A เสียก่อน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (มาตรา 256 และ สสร.) อาจไม่ได้รับความเห็นชอบเพียงพอจากสมาชิกรัฐสภาบางส่วน (โดยเฉพาะ สว.) ที่มองว่าต้องทำประชามติ A (เหมือนกับที่เกิดขึ้นในการลงมติในวาระที่ 3 เมื่อเดือนมีนาคม 2564) แต่หากทำประชามติ A ไปและประชาชนเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สมาชิกรัฐสภาส่วนนี้ก็จะไม่มีเหตุผลที่จะขัดขวางอีกต่อไป
.
ดังนั้น หากจะเดินหน้าด้วยการทำประชามติ 2 ครั้ง โดยไม่ทำประชามติ A ทางพรรคก้าวไกลยินดีร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยในการหาแนวทางในการโน้มน้าวให้ สว. เห็นชอบกับแนวทางดังกล่าว เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (มาตรา 256 และ สสร.) จะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไม่ได้ หากไม่ได้รับเสียงเห็นชอบถึง 1 ใน 3 ของวุฒิสภา
.
โดยสรุป ไม่ว่าในที่สุดรัฐบาลจะเลือกเดินยุทธศาสตร์ตาม “สูตรเพื่อไทย” (ประชามติ 2 ครั้ง) หรือ “สูตรคณะกรรมการฯ” (ประชามติ 3 ครั้ง) ทางพรรคก้าวไกลพร้อมจะเดินหน้าผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยจุดยืนที่เหมือนและแตกต่างจากรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทยดังต่อไปนี้
.
2️⃣ [ จุดยืนก้าวไกลต่อ “สูตรเพื่อไทย” และร่างแก้ไข รธน. ของเพื่อไทย ]
.
ขั้นตอนแรกของการเลือกกระบวนการ “ประชามติ 2 ครั้ง” คือการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (มาตรา 256 และ สสร.) เข้าสู่รัฐสภา เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยยื่นเข้าสู่รัฐสภา พริษฐ์และพรรคก้าวไกลมีความเห็นเบื้องต้นดังต่อไปนี้
.
2.1) “เห็นด้วย” กับ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% -> ร่างฯ ของเพื่อไทยเสนอให้มี สสร. 200 คนที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งเป็นหลักการที่พรรคก้าวไกลยึดถือมาโดยตลอด
.
2.2) “เห็นด้วย” กับการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้สมัคร สสร. ไว้ที่ 18 ปี -> ตามหลักประชาธิปไตยสากล อายุขั้นต่ำสำหรับการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ก็ตามมักยึดตามอายุขั้นต่ำในการมีสิทธิเลือกตั้ง นอกจากนี้ พริษฐ์ยังหวังว่าพรรคเพื่อไทยจะเห็นด้วยเช่นกันกับการลดอายุขั้นต่ำของผู้สมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งอื่น ๆ เช่น สส. สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น เมื่อพรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขประเด็นดังกล่าวในอนาคต
.
2.3) “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” กับ ระบบเลือกตั้ง สสร. ในร่างของพรรคเพื่อไทย -> พริษฐ์มองว่า ระบบเลือกตั้ง สสร. สามารถออกแบบให้นำไปสู่ตัวแทนที่มีความหลากหลายเชิงประเด็นและเชิงกลุ่มสังคมมากกว่าระบบเลือกตั้งตามข้อเสนอของเพื่อไทยได้ โดยร่างฯ ของเพื่อไทยเสนอให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถกากบาทเลือกผู้สมัครได้เพียง 1 คน
.
อย่างไรก็ตาม พริษฐ์เห็นว่าประเด็นเรื่องระบบเลือกตั้งยังคงสามารถถกเถียงกันเพิ่มเติมได้ โดยเร็ว ๆ นี้รายงานของ กมธ. พัฒนาการเมืองฯ เกี่ยวกับทางเลือกต่าง ๆ ที่เป็นไปได้เรื่องระบบเลือกตั้ง และข้อดี-ข้อเสียของแต่ละทางเลือกกำลังจะถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาฯ ซึ่งน่าจะทำให้ประชาชนได้เห็นทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น
.
2.4) “ไม่เห็นด้วย” กับการกำหนดให้รัฐสภาต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกยกร่างโดย สสร. ก่อนจะส่งไปทำการออกเสียงประชามติ เพราะจะถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตยได้ ในกรณีที่รัฐสภาเห็นต่างจาก สสร. และใช้อำนาจแก้ไขร่างฯ ของ สสร. เนื่องจาก สสร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ในขณะที่บางส่วนของรัฐสภาประกอบไปด้วยวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (แม้ร่างฯ ของเพื่อไทยจะให้ สสร. มีอำนาจยืนยันร่างฯ เดิม แต่ก็ต้องใช้เสียงสูงถึง 2 ใน 3)
.
2.5) “ไม่เห็นด้วย” กับการล็อกไม่ให้ สสร. มีอำนาจพิจารณาหมวด 1-2 -> พริษฐ์และพรรคก้าวไกลเห็นว่า สสร. ควรมีอำนาจพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทุกหมวด โดยยืนยันว่าการให้ สสร. มีอำนาจพิจารณาเนื้อหาในหมวด 1-2 จะไม่กระทบรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบรัฐตามที่บางฝ่ายกังวล เนื่องจากมาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ชัดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใด ๆ จะต้องไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2540 พ.ศ. 2550 พ.ศ. 2560) ก็มีการปรับปรุงเนื้อหาในหมวด 1-2 มาโดยตลอด
.
ทั้งนี้ หากรัฐบาลเลือกใช้แนวทางตาม “สูตรเพื่อไทย” (ประชามติ 2 ครั้ง) พรรคก้าวไกลจะเดินหน้าต่อด้วยการ “เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (มาตรา 256 และ สสร.) ฉบับก้าวไกล” เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อร่วมผลักดันในจุดยืนที่เห็นตรงกัน และถกเถียง-อภิปราย-หาข้อสรุปในจุดยืนที่ต่างกัน
.
3️⃣ [ จุดยืนก้าวไกลต่อ “สูตรคณะกรรมการฯ” และคำถามประชามติที่คณะกรรมการฯ เสนอ ]
.
ขั้นตอนแรกของการเลือกกระบวนการ “ประชามติ 3 ครั้ง” คือการจัด 🔴ประชามติ A โดยเมื่อพิจารณาคำถามประชามติที่คณะกรรมการฯ เสนอสำหรับประชามติ A (“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”) พริษฐ์และพรรคก้าวไกลมีจุดยืนดังต่อไปนี้
.
3.1) “ไม่เห็นด้วย” กับคำถามประชามติที่ “ยัดไส้” เงื่อนไขในลักษณะนี้ เพราะเป็นการถามคำถามที่ทำให้ประชาชนที่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม แต่ไม่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม (เช่น เห็นด้วยการการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับการล็อกไม่ให้แก้หมวด 1-2) มีความลำบากใจในการตัดสินใจว่าจะลงคะแนนอย่างไร ซึ่งเสี่ยงจะทำให้ฝ่ายที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ลงคะแนนอย่างไม่เป็นเอกภาพ และทำให้รัฐบาลมีแนวร่วมน้อยลงโดยไม่จำเป็นในการรณรงค์ให้ประชาชนลงมติเห็นชอบ ซึ่งส่งผลต่อโอกาสที่ประชามติจะผ่านความเห็นชอบของประชาชนได้อย่างสำเร็จ
.
ทั้งนี้ หากรัฐบาลเลือกใช้แนวทางตาม “สูตรคณะกรรมการฯ” (ประชามติ 3 ครั้ง) พรรคก้าวไกลจะเสนอให้ ครม. ทบทวนคำถามประชามติ ให้เป็นคำถามที่เปิดกว้าง เช่น “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ผ่านการใช้กลไกสภาฯ เช่น การเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมหาทางออกผ่านกลไกของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ
.
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post