Digiqole ad

“ก้าวแรกรัฐธรรมนูญประชาชน” เริ่มต้นด้วยประชามติ 1+2 คำถาม

 “ก้าวแรกรัฐธรรมนูญประชาชน” เริ่มต้นด้วยประชามติ 1+2 คำถาม
Social sharing

Digiqole ad
ในโอกาสวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พรรคก้าวไกลซึ่งได้เฝ้าติดตามกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใต้คณะกรรมการศึกษาฯ ของรัฐบาล และได้เห็นถึงแนวโน้มว่าอาจจะมีการชงข้อเสนอคำถามประชามติออกมาในช่วงเดือนมกราคม 2567 เราจึงเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการถกเถียงแลกเปลี่ยน เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่สังคมมีร่วมกันได้ และเพื่อให้การเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นไปด้วยดีที่สุด
.
นั่นจึงเป็นที่มาของการแถลงข่าวจับตานโยบาย “ก้าวแรกรัฐธรรมนูญประชาชน เริ่มต้นด้วยประชามติ 1+2 คำถาม” โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล เพื่อนำเสนอคำถามประชามติรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็น
.
เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาในเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งในส่วนของที่มา กระบวนการ และเนื้อหา พรรคก้าวไกลจึงเห็นว่าประเทศไทยควรจะต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แต่หากจะแก้ไขปัญหาได้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องไม่ใหม่แค่โดยชื่อ แต่ต้องมี 3 องค์ประกอบด้วยกัน กล่าวคือ 1) ต้องเกิดขึ้นได้จริง 2) ต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และ 3) กระบวนการในการได้มาควรจะโอบรับจุดยืนที่แตกต่างของทุกฝ่าย
.
❓ [ ประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง? ]
.
จากกติกาของรัฐธรรมนูญ 2560 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จะต้องจัดประชามติอย่างน้อย 2 ครั้ง กล่าวคือ
.
1) “ประชามติ B” คือการจัดประชามติ ที่เกิดจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 256 และหมวด 15/1 เพื่อให้มีกลไก สสร. ขึ้นมา ซึ่งจะต้องมีการทำประชามติหลังจากผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เนื่องจากเป็นการแก้ไขเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256(8))
.
2) “ประชามติ C” คือการจัดทำประชามติ หลังจาก สสร. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564)
.
แต่ในส่วนของ “ประชามติ A” ที่บางฝ่ายเสนอให้จัดเพิ่มขึ้นมาก่อนมีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 256 และหมวด 15/1 เข้าสู่สภาฯ หลายฝ่ายยังมองต่างกันว่าจำเป็นต้องจัดหรือไม่
.
ในมุมกฎหมาย พรรคก้าวไกลเห็นว่าประชามติ A ไม่มีความจำเป็น และหากยึดตามรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ 2 ครั้ง (B และ C) ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
.
แต่ในมุมการเมือง พรรคก้าวไกลเห็นว่าการจัดทำประชามติ A นั้นอาจมีประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาความเห็นต่างใน 2 ด้านด้วยกัน กล่าวคือ
.
1) ทำให้ “ความเห็นต่างทางกฎหมาย” (ในการตีความคำวินิจฉัยศาล รธน. 4/2564 ว่าจะต้องจัดทำประชามติ A หรือไม่) ไม่เป็นอุปสรรคเหมือนปี 2563-64 ที่สมาชิกรัฐสภาบางส่วนไม่ยอมลงคะแนนเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะไม่มีการจัดทำประชามติ A มาก่อน
.
2) ทำให้ “ความเห็นต่างทางการเมือง” (เช่น เรื่องที่มาและขอบเขตอำนาจของ สสร.) ไม่เป็นอุปสรรคต่อการที่รัฐสภาจะมีฉันทามติร่วมกันในการให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. เพราะตนเชื่อว่าทุกฝ่ายจะพร้อมเดินหน้าสนับสนุนร่างที่มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับผลของประชามติที่ประชาชนไปออกเสียง
.
.
✅ [ ประชามติ A และคำถามที่ควรจะเป็น : ข้อเสนอใหม่ 1+2 คำถาม ]
.
ในเมื่อข้อเสนอเดิมของพรรคก้าวไกลเกี่ยวกับคำถามประชามติ A (1 คำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับแทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน?”) ถูกสภาผู้แทนราษฎรปัดตกเมื่อ 25 ต.ค. 2566 พรรคก้าวไกลจึงได้พัฒนาข้อเสนอใหม่เกี่ยวกับคำถามประชามติ A ที่เราได้ยื่นต่อคณะกรรมการศึกษาฯ ของรัฐบาลเมื่อเดือนที่แล้ว
.
พรรคก้าวไกลเสนอว่า การจัดทำประชามติ A (หากจะมีขึ้น) ควรเป็นการถามคำถามทั้งหมด 1+2 คำถาม เพื่อวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาความเห็นต่าง ประกอบด้วย
.
📌 [ 1 คำถามหลัก ]
.
Q1. “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)?” (โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ)
.
เหตุผล: คำถามหลักควรมีลักษณะเปิดกว้างที่สุด เพื่อสร้างความเห็นร่วมได้มากที่สุด และเป็นคำถามที่ถามถึงทิศทางภาพรวมโดยไม่มีเงื่อนไขหรือรายละเอียดปลีกย่อยที่จะทำให้ประชาชนอาจจะเห็นด้วยกับบางส่วนของคำถามหรือไม่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม หรือกีดกันใครออกจากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
.
📌 [ 2 คำถามรอง ]
.
Q2.1. “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า สสร. ควรจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด?”
.
Q2.2. “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า สสร. ควรมีอำนาจพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทุกหมวด?” (ตราบใดที่ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ)
.
เหตุผล: คำถามรอง ควรมีลักษณะเฉพาะเจาะจงไปในประเด็นสำคัญที่แต่ละฝ่ายทางการเมืองยังมีความเห็นต่างกันอยู่ เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินและหาข้อสรุปด้วยตนเอง โดยที่ทุกฝ่ายในรัฐสภาพร้อมยอมรับและเดินหน้าต่อร่วมกันตามผลประชามติ
.
🤝 [ เห็นต่างในคำตอบ เห็นร่วมในคำถาม ]
.
แน่นอนว่าในส่วนของพรรคก้าวไกล เรามีจุดยืนและคำตอบที่ชัดเจนต่อ 1+2 คำถาม
.
1) คำถามหลัก: เราเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร.
.
2.1) คำถามรอง 1: เราเห็นชอบว่า สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด โดยเรามองว่าข้อกังวลจากบางฝ่ายที่เห็นว่า สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจะทำให้ สสร. ขาดพื้นที่สำหรับ “ผู้เชี่ยวชาญ” หรือ “กลุ่มความหลากหลาย” เป็นข้อกังวลที่คลี่คลายได้ผ่านการออกแบบระบบเลือกตั้ง โดยยังคงยึดหลักว่า สสร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด โดยปัจจุบันมีหลายข้อเสนอที่กำลังถูกพัฒนาโดยคณะอนุกรรมาธิการของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ซึ่งจะเผยแพร่ต่อสาธารณะในเดือนนี้ (เช่น การใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง และเปิดให้สมัครเป็นทีมโดยใช้ระบบบัญชีรายชื่อ / การแบ่ง สสร. ออกเป็นหลายประเภท-หลายบัตรเลือกตั้ง แต่ทุกประเภทยังมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด)
.
2.2) คำถามรอง 2: เราเห็นชอบว่า สสร. ควรมีอำนาจพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทุกหมวด โดยเรายืนยันว่าการให้ สสร. มีอำนาจพิจารณาเนื้อหาในหมวด 1-2 จะไม่กระทบรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบรัฐตามที่บางฝ่ายกังวล เนื่องจากมาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ชัดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใด ๆ จะต้องไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านมา (2540, 2550, 2560) ก็มีการปรับปรุงเนื้อหาในหมวด 1-2 มาโดยตลอด โดยไม่กระทบรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบของรัฐ
.
🟢 [ คลี่คลายความเห็นต่าง เดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญประชาชน ]
.
ดังนั้น ข้อสรุปที่พรรคก้าวไกลอยากเสนอในวันนี้ คือหากจะมีการจัดทำประชามติ A เราเสนอว่าควรจะมีทั้งหมด 1+2 คำถาม เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นต่าง เป็นหนึ่งคำถามหลักที่มีลักษณะเปิดกว้างเพื่อสร้างความเห็นร่วมให้มากที่สุด และสองคำถามรองที่เฉพาะเจาะจงในเชิงรายละเอียดเพื่อหาข้อสรุปในความเห็นที่แตกต่าง
.
แม้ประชาชนแต่ละคนหรือฝ่ายการเมืองกลุ่มต่าง ๆ อาจมีจุดยืนหรือ “คำตอบ” ต่อ 1+2 คำถามที่ต่างจากเรา แต่เราอยากเชิญชวนทุกคนทุกกลุ่มมาเห็นร่วมกับเราว่า “คำถาม” ประชามติที่ตอบโจทย์ที่สุดสำหรับประชามติ A คือ 1+2 คำถามที่เราเสนอ เพราะการตั้งคำถามดังกล่าวจะ
.
1) มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นการให้อำนาจประชาชนตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นสำคัญโดยตรง
.
2) โอบรับจุดยืนของทุกฝ่าย เนื่องจากไม่ว่าใครจะมีความเห็นอย่างไร ทุกคนสามารถมีตัวเลือกคำตอบในการลงคะแนนหรือออกความเห็นในแต่ละคำถามได้ และ
.
3) มีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่าง และเพิ่มโอกาสในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เกิดขึ้นจริงได้
.
เมื่อเราถามคำถามหลักที่กว้าง นั่นหมายความว่าไม่ว่าท่านจะเห็นในรายละเอียดต่างกันอย่างไร แต่หากท่านเห็นตรงกันในภาพรวมว่าควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็สามารถมาลงคะแนนเห็นชอบร่วมกันได้
.
ในส่วนของคำถามรองที่เฉพาะเจาะจง ถ้าเราไม่ถามตั้งแต่ประชามติ A ความเห็นต่างที่มีอยู่ในประเด็นดังกล่าวก็จะยังคงไม่มีข้อสรุป และจะทำให้รัฐสภาหาข้อสรุปได้ยากด้วยเงื่อนไขมาตรา 256 ที่บอกว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใด ๆ เรื่องรายละเอียดของ สสร. จะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาได้ก็ต่อเมื่อได้รับฉันทามติในระดับหนึ่งจากทุกฝ่าย
.
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลได้จัดทำเว็บไซต์ https://newcon.moveforwardparty.org เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความเห็นต่อทั้ง 1+2 คำถาม เป็นสนามซ้อมประชามติให้ประชาชนทดลองตอบ สร้างความเข้าใจกับคำถามประชามติ และหากประชาชนเห็นว่าคำถามแบบนี้เป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะแก้ปัญหาความเห็นต่างที่ยังมีอยู่ เพื่อเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ก็อยากเชิญทุกคนให้ช่วยกันจับตาและส่งเสียงให้ข้อเสนอดังกล่าวไปถึงรัฐบาล ก่อนที่ ครม. จะมีมติเกี่ยวกับการจัดทำประชามติและคำถามประชามติ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นหลังช่วงปีใหม่
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post