Digiqole ad

การสึก “การศึกษาไทย” ฤายุคดิ่งจิทัล

 การสึก “การศึกษาไทย” ฤายุคดิ่งจิทัล
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 410 วันที่ 15-21 ธันวาคม 2566

หน้า 2-3

การสึก “การศึกษาไทย” ฤายุคดิ่งจิทัล

เป็นที่น่าตกใจ! เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม 2566 องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD เปิดเผยผลคะแนนสอบ PISA 2022 ของประเทศไทย ซึ่งวัดผลในเด็กนักเรียนอายุ 15 ปี พบว่าคะแนนลดลงมาอยู่ในจุดที่ต่ำสุด ในทักษะทั้ง 3 ด้าน โดยมีอันดับอยู่ในครึ่งล่างของตารางทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคอาเซียน และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในประเทศกลุ่ม OECD อย่างไม่ต้องสงสัย

หมายเหตุ : PISA คือ การประเมินทักษะของนักเรียนอายุ 15 ปี ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดย PISA 2022 ประเมินจาก 81 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ ซึ่งเดิมการทดสอบวางแผนไว้ว่าจะมีขึ้นในปี 2021 แต่ล่าช้าไปหนึ่งปีเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

            หลักสูตรไทยไม่ก้าวหน้า

อ.ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดเผยกับไทยพีบีเอส เมื่อไม่นานมานี้ว่า หลักสูตรไทยไม่ก้าวหน้า ติดกับดัก “ความรู้” ไม่มุ่งสู่ “ทักษะ” ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการใช้ทักษะในปี 2558 ในการจัดการศึกษา และใน 5 ปีต่อมา ทักษะบางอย่างไม่ได้ติด 10 อันดับแรกที่โลกต้องการอีกแล้ว ชี้ว่า ทุกคนต่างอยู่ในโลกที่หมุนเร็วและไม่แน่นอน ทักษะจะหมดความสำคัญและถูกผลัดใบเร็วขึ้น

“เด็กทุกวันนี้ไม่ต้องเก่งทุกอย่าง แต่ต้องเก่งเรื่องนำเครื่องมือและเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ และตั้งคำถามว่าระบบการศึกษาไทยในวันนี้สร้างเด็กแบบนี้หรือเปล่า หรือยังสร้างเด็กแบบเดิม ๆ มีความคิดแบบเดิมในโลกที่กำลังทิ้งเราไว้ข้างหลังเรื่อย ๆโรงเรียนหลายภาษาก็เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ทางภาคประชาชนให้ความสำคัญบนเวที HACK Thailand 2023 แต่กลับยังมีจำนวนพรรคที่เสนอนโยบายค่อนข้างน้อย โดยมีเพียง 5 นโยบายจาก 4 พรรคการเมืองเท่านั้น รวมทั้งนโยบายกระจายอำนาจโรงเรียน ซึ่งมีเพียงแค่พรรคการเมืองเดียวเท่านั้นที่มองเห็นปัญหาของการรวมศูนย์ของระบบการศึกษาไทย ต่างจากเวทีภาคประชาชน Post Election ชี้ให้เห็นภาคประชาชนต้องการมองเห็นถึงนโยบายการกระจายอำนาจทางการศึกษา งบประมาณด้านการศึกษา ตลอดจนการปฏิรูประบบการศึกษาไทยให้ตอบโจทย์โลกยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น”

            แม้จะมีความพยายามในการปรับหลักสูตรให้เท่าทันโลกาภิวัตน์ แต่ฐานคิดของการศึกษาไทยยังคงมีปัญหาอยู่ที่การยึดติดกับความรู้มากกว่าทักษะ

            ควรพัฒนาทักษะครูก่อนพัฒนานักเรียน

ในมุมของบุคลากรทางการศึกษา นโยบายด้านการศึกษาที่พวกเขาอยากเห็นคือการพัฒนาทักษะครู จากรายงานของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ในปี 2557 ระบุว่าใน 1 ปี ครูใช้เวลา 84 วัน จาก 200 วันในปีการศึกษา (42%) ที่ถูกใช้ไปกับงานนอกห้องเรียน ทั้งงานเอกสาร งานธุรการ งานพัสดุ การนอนเวรเฝ้าโรงเรียน การประเมิน/อบรม การเข้าร่วมโครงการที่ไม่จำเป็น

ต่อมาในปี 2559 ผลสำรวจเผยว่า ครูได้เวลาคืนมา 19 วัน เหลือเวลานอกห้องเรียนที่ครูต้องใช้เพียง 65 วัน แต่จากนโยบาย 110 นโยบายด้านการศึกษาที่ถูกเสนอโดยพรรคการเมืองในสภาฯ พบว่ามีนโยบายยกระดับคุณภาพครูเพียง 10 นโยบาย จาก 4 พรรคการเมืองเท่านั้น โดยแบ่งเป็นนโยบายค่าตอบแทน-แก้หนี้ครู 3 นโยบาย และนโยบายยกระดับคุณภาพการสอนครูอีก 7 นโยบาย ถ้าหากพิจารณาถึงรายละเอียดจะพบว่ามีพรรคการเมืองที่เสนอให้ลดชั่วโมงการทำงานนอกเหนือการสอน-คืนครูให้ห้องเรียนเพียง 2 พรรคเท่านั้น ตอกย้ำว่าพรรคการเมืองมองเห็นถึงปัญหาภาระงานของครูนั้นมีน้อยมาก

อีกมิติหนึ่ง ครูไทยยังได้รับการส่งเสริมทักษะการสอนที่ไม่ตรงจุด ทางเครือข่าย ‘ครูขอสอน’ ทำผลสำรวจด้านพื้นที่ช่วยครูเรียนรู้ในปี 2564 พบว่า พื้นที่ซึ่งทำให้ครูเกิดการเรียนรู้มากที่สุด ร้อยละ 36 คือ โครงการอื่น ๆ ตามความสมัครใจ รองลงมาร้อยละ 30 คือ บทสนทนากับเพื่อนครูในโรงเรียน และร้อยละ 26 บทสนทนากับเพื่อนครูนอกโรงเรียน ส่วนโครงการของกระทรวงศึกษาธิการและเขตพื้นที่การศึกษา ทำให้ครูเกิดการเรียนรู้เพียงร้อยละ 7 เท่านั้น

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนภาพ ครูจบใหม่ต้องเผชิญกับความผันผวนในวิชาชีพ ต้องใช้พลังไปกับการปรับตัวในสภาพแวดล้อมใหม่ รับมือกับงานเอกสาร-งานประเมินครู อีกทั้งต้องรับงานสอนนอกโรงเรียนเพื่อให้ตัวเองมีเงินมากพอสำหรับการดำรงชีพ ทำให้ครูหมดไฟและแทบไม่มีแม้แต่เวลาพัฒนาการสอน ซึ่งทางแก้ไขปัญหาใน 2 ระยะ คือ 1) ระยะก่อนเป็นครู รัฐต้องทบทวนระบบการผลิตครูที่เน้นปริมาณแต่ขาดศักยภาพ เพื่อให้ครูรุ่นใหม่จบมาพร้อมตอบโจทย์กับห้องเรียนยุคปัจจุบัน และ 2) ระยะหลังเป็นครู รัฐต้องทบทวนระบบอบรมครู เน้นสร้างการอบรมที่เปิดโอกาสให้ครูเรียนรู้ในสิ่งที่ตนสนใจ ตลอดจนผลักดันให้ครูชำนาญการที่มีอายุงานเยอะ ผันตัวไปเป็นผู้ฝึกสอน หรือ Coach (ที่มา : ThaiPBS)

            การศึกษาไทยเหมือนรถที่ติดหล่มที่สร้างขึ้นเอง

นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือก ได้กล่าวในงานเสวนา “ทางเลือกการศึกษาไทย” ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโดย www.thecitizen.plus ว่า อยากจะชวนทุกคนคิดเห็นอนาคตว่ามันต้องเปลี่ยน ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เราไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียวแต่องคาพยพทั้งหมดต้องเปลี่ยนของมันเอง มองดูอีกห้าปีคิดว่าอาจจะเร็วขึ้นกว่านี้ก็เป็นได้ดูจากปัจจัยสองถึงสามอย่างคือ

ปัจจัยที่หนึ่งคือเรื่องไอที “ระบบไอทีเป็นระบบการปฏิวัติระบบการสื่อสารครั้งใหญ่” ไอทีทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงแหล่งเรียนรู้เข้าถึงการศึกษาตามที่ตัวเองต้องการได้หมด สองระบบเศรษฐกิจ “ระบบเศรษฐกิจมีช่องว่างมีความเหลื่อมล้ำ” ยังมีเด็กและผู้เรียนอีกจำนวนมากที่ยังยากไร้และยากลำบากและเข้าไม่ถึงแหล่งเรียนรู้ที่ต้องใช้ระบบเงินทุนเป็นตัวตัดสินเป็นตัวชี้วัดการจ้างเพราะฉะนั้นระบบเศรษฐกิจตรงนี้ที่ทำให้เด็กหลายส่วนต้องคิดถึงเรื่องที่จะต้องเรียนไปพร้อมกับการทำงานตอนนี้ระบบของไทยเราระบบอุตสาหกรรม เค้าเปลี่ยนแล้วเรียกว่าระบบโรงเรียนโรงงานทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เราจึงอยากเห็นโรงเรียนในฟาร์ม โรงเรียนในช็อปโรงเรียนในร้านกาแฟ โรงเรียนสะดวกซื้อ นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไม่รอที่จะให้เด็กต้องเรียนให้จบก่อนถึงจะไปทำงานซึ่งไม่ทันแล้ว และ สามคือเรื่อง “ระบบโรงเรียนแข็งตัวเกินไป” ที่เป็นอยู่ปัจจุบันทั้งเรื่องหลักสูตรการวัดผลการเรียนการสอนที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กอีกกลุ่มนึงเด็กมีความต้องการที่หลากหลายมากยิ่งยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงเพราะฉะนั้นระบบโรงเรียนที่แข็งตัวแบบนี้ยังอยู่ในระบบนิเวศการเรียนรู้แบบเดิม

            “ปัจจุบันการศึกษาไทยเหมือนรถการศึกษาที่ติดลมรถติดหล่มการศึกษาและหล่มนั้นเราสร้างขึ้นมาเอง ผู้ใหญ่สร้างขึ้นมาเองเด็ก ที่อยู่บนรถนั้นรู้สึกทนไม่ไหวแล้วมันติดหล่มอยู่นานเหลือเกิน เด็กหลายคนบอกรู้ว่าผมลงแล้วนะครับครูเขียนตามไปเด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ยิ่งไอทีตอบโจทย์และสิ่งเรียนรู้รอบตัวตอบโจทย์ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ทำกาแฟ ไม่รอแล้ว เพราะฉะนั้นระบบของโรงเรียนระบบการศึกษาในแบบเดิมเป็นการเรียนรู้แบบแยกส่วนที่ยังมีคำว่าในระบบนอกระบบตามอัธยาศัยแบบนี้แหละเป็นนิเวศการเรียนรู้แบบเดิมและล้าหลังอีกห้าปีไม่มีแล้ว”

            สาระสำคัญประกาศกระทรวง ศธ.

สำหรับประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อช่วงต้นปี 2566 ได้ตั้งเป้าพัฒนาผู้เรียนทุกช่วงวัยในทุกมิติ มาพิจารณาดูกันว่า เป็นไปตามเป้ามากน้อยเพียงใด มาลองให้คะแนนกัน

  1. สร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้เรียนและประชาชน โดยให้ทุกหน่วยงานนำรูปแบบการทำงานที่บูรณาการการทำงานร่วมกัน และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ความรับผิดชอบ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อสานต่อความร่วมมือที่เข้มแข็ง และสร้างหลักประกันว่าทุกคนจะต้องมีการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่
  2. สนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนดำเนินการตามภารกิจด้วยความรับผิดชอบต่อตนเอง องค์กร ประชาชนและประเทศชาติ โดยให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผ่านกลไกการรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษา
  3. ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อมุ่งเน้นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภาคการศึกษาที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนและประชาชน โดยมุ่งเป้าหมายการพัฒนาการศึกษาเพื่อร่วมกัน “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล” (Transforming Education to Fit in the Digital Era)

ทั้งนี้เพื่อพัฒนาผู้เรียนไปสู่เป้าหมายของการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยคำนึงถึงชาติ ศาสนา ศิลปะ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม กีฬา ความปลอดภัย ความมีโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา รวมทั้งมีสมรรถนะที่สำคัญจำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่

นอกจากนี้ยังเน้นนโยบายขับเคลื่อนระบบการศึกษา คือ 1. การจัดการศึกษาเพื่อความปลอดภัย 2. การยกระดับคุณภาพการศึกษา  3. การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย 4. การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 5. การส่งเสริมสนับสนุนวิชาชีพครู บุคลากรทางการศึกษา และบุคลากร 6. การพัฒนาระบบราชการและการบริการภาครัฐยุคดิจิทัล และ 7. การขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษาและแผนการศึกษาแห่งชาติ ดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรอง เพื่อรองรับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติควบคู่กับการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง

ในส่วนแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติได้แก่

  1. ให้ส่วนราชการ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ นำนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖7 ข้างต้น เป็นกรอบแนวทางในการจัดการศึกษา โดยดำเนินการจัดทำแผนและงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พร้อมน้อมนำ ศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติ
  2. ให้มีคณะกรรมการติดตาม ประเมินผล และรายงานการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการศึกษา    ของกระทรวงศึกษาธิการ สู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ ทำหน้าที่ตรวจราชการ ติดตาม ประเมินผลในระดับนโยบายและจัดทำรายงานเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ทราบตามลำดับ
  3. กรณีมีปัญหาในเชิงพื้นที่หรือข้อขัดข้องในการปฎิบัติงานให้ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล และดำเนินการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ก่อน โดยใช้ภาคีเครือข่ายในการแก้ไขข้อขัดข้อง พร้อมทั้งรายงานต่อคณะกรรมการติดตามฯ ตามข้อ 2 ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

            ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2566

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้รายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2566 สถานการณ์นักเรียนยากจนพิเศษ โดยระบุว่า  รายได้ของครัวเรือน” เป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการศึกษา “ภาวะความยากจนในระดับรุนแรงส่งผลต่อการตัดสินใจออกจากระบบการศึกษา” ข้อมูลจากเส้นความยากจนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปี 2564 พบว่าอยู่ที่ 2,803 บาทต่อคน/เดือน กสศ. มุ่งเน้นการทำงานกับกลุ่มเด็กและเยาวชนในครัวเรือนยากจนที่สุด 15% แรกของประเทศ ที่แม้จะมีนโยบายด้านการศึกษาที่สนับสนุนให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาเป็นระยะเวลา 15 ปี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่ความยากจนในระดับรุนแรงยังเป็นอุปสรรคทำให้เด็กบางคนไม่สามารถมาเรียนได้ ความเป็นอยู่ของเด็กแร้นแค้น สภาพบ้านเข้าข่ายทรุดโทรม ไม่มีค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาได้

โดยปี 2566 ประเทศไทยมีนักเรียนจากครัวเรือนยากจนพิเศษจำนวน 1,248,861 คน เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ตัวเลขยังไม่แตะหลักล้านคือ 994,428 คน โดยผลงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอในงาน Equity Forum 2023 ทุนมนุษย์เพื่อยุติความเหลื่อมล้ำ”

ทั้งนี้ กสศ. ยังระบุด้วยว่า ความยากจนทำให้เด็กไทยมากกว่า 5 แสนคน หลุดออกนอกระบบไปแล้ว และอีก 2 ล้านคนมีแนวโน้มไม่ได้เรียนต่อ มีเยาวชนเพียง 5% จากครอบครัวยากจนกลุ่ม 20% ล่างสุดของประเทศที่มีโอกาสเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ปัญหานี้เกิดจากครอบครัวของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ สูงกว่าครอบครัวร่ำรวยถึง 4 เท่า (ข้อมูลจากบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ2551-2559) ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจสูงถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4)

                ความหวังในการแก้ไขปัญหาการศึกษา

ในขณะเดียวกัน 101 ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดเสวนากะเทาะปัญหาระบบการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตผู้เรียน แลกเปลี่ยนและค้นหานวัตกรรมที่จะโอบรับคนทุกกลุ่ม และมองโจทย์ใหญ่อย่างการยกระดับสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ กับ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดร.นุชนาถ สอนสง ผู้อำนวยการ โรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ จ.กาญจนบุรี และ นายวัฒนชัย วินิจจะกูล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาองค์ความรู้ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ผ่านรายการ “101 Public Forum: เรียนได้ เรียนดี ไม่มีข้อจำกัด” ดำเนินรายการโดย นายจิรัฐิติ ขันติพะโล

ต่อประเด็นจากปัญหาการศึกษาไทยในปัจจุบันต้องการเสนอนโยบายอะไรต่อการจัดการศึกษา รวมถึงการต่อยอดการเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า คำตอบของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาอยู่ที่รัฐสภา การออกกฎหมาย ต้องพาคนที่สนใจด้านการศึกษาลงพื้นที่ให้เห็นถึงประเด็นปัญหา เพื่อให้มีความเข้าใจลึกซึ้งและกลับมาออกข้อกฎหมายที่เหมาะสมได้ ที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ฉบับนี้เขียนออกมาได้ดีก็เพราะมีการลงพื้นที่ โดยยังมีกฎหมายที่รอให้เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดใหม่นี้คือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ หากเกิดขึ้นได้จริงก็จะทำให้เกิดโครงสร้างใหม่ ระบบใหม่ และหากสามารถทำได้มากกว่านั้นอาจเป็นหลักสูตรสมรรถนะที่เน้นเรื่องทักษะ สมรรถนะ และการฝึกปฏิบัติ ครูจะกลายเป็นผู้จัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะชีวิต

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ มีเรื่องที่จะต้องทำคือปฏิรูปการศึกษาในรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์มให้สอดรับกับคนรุ่นใหม่ เด็กเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงโรงเรียน 3 ระบบ การแก้ไขปัญหาการศึกษาจึงไม่ใช่การสั่งให้ทำแบบนั้นแบบนี้ แต่ต้องดีไซน์ใหม่ ให้การเรียนรู้เข้าไปสู่โลกของเด็กรุ่นใหม่ มีการสอดแทรกประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ ไม่เพียงแต่สอนตามกลุ่มสาระการเรียนรู้เดิมๆ โดยสรุปจึงอยากให้รัฐบาลตีความโดยเห็นคุณค่าคำว่าการเรียนรู้ ว่าเป็นสิทธิและโอกาสของมนุษย์”

 

ดร.นุชนาถ สอนสง ผู้อำนวยการ โรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ จ.กาญจนบุรี มีความคิดเห็นว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาได้คือการศึกษาต้องทำระบบติดตามนักเรียนที่ออกกลางคันได้อย่างชัดเจน หรือการมีระบบสารสนเทศที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย เราต้องการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยต้องมีระบบดูแลสนับสนุนนักเรียนอย่างชัดเจนและทำอย่างสม่ำเสมอ ถัดมาคือการจัดการรูปแบบการศึกษาให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่มีหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและที่ออกกลางคัน ประเมินผลตามสภาพจริงแต่ยืดหยุ่นได้ โดยบทบาทของครูที่แต่เดิมเป็นการสอนโดยการพูด จะปรับเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนากลไกความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน และที่สำคัญที่สุดคือการจัดการศึกษาแบบนี้จะต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์จากจำนวนของนักเรียน นอกจากนี้มีความเห็นที่น่าสนใจคือ ความต้องการให้รัฐบาลใหม่จัดการให้มาตรา 15 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งมีใจความสำคัญคือให้จัดให้มีระบบการเทียบระดับการศึกษาหรือเทียบโอนทักษะได้

ทางด้าน นายวัฒนชัย วินิจจะกูล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาองค์ความรู้ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park กล่าวว่า สนับสนุนเรื่องการผลักดันให้มาตรา 15 สามารถใช้ได้จริงเช่นกัน เนื่องจากครูมีความตั้งใจที่จะมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าหากยังต้องมากังวลว่าตามกฎหมายทำได้จริงหรือไม่ก็จะกลายเป็นอุปสรรคของคนทำงาน และถ้าหากระดับนโยบายกำหนดให้สามารถกระจายอำนาจได้จริง ก็จะทำให้คนที่อยู่หน้างานสามารถปฏิบัติอย่างสบายใจได้

อีกนโยบายที่น่าสนใจคือ การจัดตั้งกองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งจะมาสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงการศึกษาตามพระราชบัญญัติที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ โดยให้ความสนใจกับทักษะและขีดความสามารถของผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งจะเปลี่ยนวิธีคิดของทั้งผู้เรียนและผู้สอนให้แตกต่างไปจากเดิม

“แม้ส่วนตัวจะไม่ได้สนับสนุนการมีกองทุน แต่กองทุนจะเป็นอีกหนึ่งกลไก ที่ทำให้เกิดการขยับตัวทั้งอุปสงค์และอุปทาน โดยนำไปพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาสื่อการเรียนรู้ให้มีความน่าสนใจ ไปจนถึงการทำให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ออนไลน์ และส่งเสริมสร้างความเข้าใจในอาชีพใหม่ ๆ นอกจากนั้นกองทุนนี้ยังสามารถช่วยสนับสนุนโรงเรียนในระบบได้ด้วย โดยโรงเรียนสามารถ คัดเลือกเนื้อหาหรือสื่อการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็นต้องถูกผูกขาดโดยส่วนกลาง สามารถเลือกให้เหมาะสมกับนักเรียนหรือสอดคล้องกับท้องถิ่นได้ ทั้งหมดนี้จึงจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้แนวใหม่ได้จริง”

                  ยื่นข้อเสนอ ศธ.เปลี่ยนสูตรจัดสรรงบ เพิ่มคุณภาพ ลดเหลื่อมล้ำ

กสศ. แอ็คชั่นเอด และเครือข่ายโรงเรียนเล็กทั่วประเทศ  ยื่นข้อเสนอ ศธ.เปลี่ยนสูตรจัดสรรงบ เพิ่มคุณภาพ ลดเหลื่อมล้ำ ทำได้ใน 1 ปีงบประมาณ  ขณะที่รมว.ศธ. ให้กสศ.รวบรวมข้อมูลปัญหา-ทางออกเพื่อร่วมกันทำงานต่อ พร้อมย้ำความสำคัญโรงเรียนของชุมชน

วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม 2566   ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์   กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมกับ สหภาพยุโรป มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย สมาคมไทบ้าน เครือข่ายโรงเรียนปลายทางครูรักษ์ถิ่น  ชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงและห่างไกล จัดเวทีขับเคลื่อนนโยบาย“ยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ห่างไกล ความเสมอภาคที่เป็นจริงได้”  ณ ห้อง Grand hall 1 โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร

โดยมีผู้อำนวยการ ครูจากโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศเข้าร่วม กว่า 100  แห่ง เพื่อยื่นข้อเสนอทางออกการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษาให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กซึ่งมีราว เกือบ50 % ของโรงเรียนทั้งประเทศ ครอบคลุมผู้เรียนเกือบ 1 ล้านคน  โดยมี พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)  ร่วมรับฟังตลอดระยะเวลา 3 ชั่วโมง และรับข้อเสนอจากเครือข่ายไปทำงานต่อตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข”

พลตำรวจเอกเพิ่มพูน กล่าวว่า มาร่วมงานนี้ เพื่อที่จะมารับฟังปัญหาจากทุกฝ่าย ซึ่งทราบดีว่า ครูและหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาร่วมงาน มีความตั้งใจ ที่จะช่วยสร้างแนวทางที่จะให้โรงเรียนและชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถปรับตัว ได้อย่างเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้อง กับนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ

“ผมเชื่อว่าครูคือหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ และผมยึดหลักว่า จะต้องไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว จึงเดินทางมาที่นี่เพื่อที่จะมารับฟังว่า แต่ละฝ่ายจะเสนอให้ปรับปรุงอะไร มีทรัพยากรอะไรที่กระทรวงศึกษาธิการจะช่วยโรงเรียนขนาดเล็กในแต่ละพื้นที่ได้ ผมจะไม่ใช่ผู้ที่มีบทบาทไปเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะบทบาทการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ เป็นหน้าที่ของพวกท่าน เป็นหน้าที่ของครูจากพื้นที่ต่างๆ ที่จะช่วยกันเสนอแนวทางแก้ปัญหานี้  แต่สิ่งที่ผมอยากเห็น คืออยากให้ครูมีหัวใจ ช่วยเด็กๆ ให้มีความรู้ มีคุณธรรม

สิ่งที่อยากเห็นจากการจัดงานนี้ คือ ขอให้ กสศ. สรุปประเด็นสำคัญจากการวิจัยและเวทีวันนี้  สะท้อนทั้งปัญหาและทางออกมาให้กระทรวงศึกษาธิการนำมาพิจารณาและนำไปช่วยกันทำงาน” พลตำรวจเอกเพิ่มพูนกล่าว

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวถึงประเด็นข้อเสนอนโยบาย ว่า มีข้อเสนอนโยบาย 4 ประเด็น  สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่เรียกว่า  Stand Aloneหรือ protected school   ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กบนเกาะ บนดอย ไม่สามารถยุบและควบรวมได้ตามมติคณะรัฐมนตรี เนื่องจากในรัศมี 6 กิโลเมตร ไม่มีโรงเรียนอื่นในประเทศมีประมาณ 1500 แห่ง  บางโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติ /เขตป่าสงวนต้องการการดูแลสนับสนุน โรงเรียนเหล่านี้เป็นความหวังเดียวในพื้นที่นั้นที่จะมีการศึกษา  ถ้าเราสามารถสนับสนุนให้โรงเรียนเหล่านี้จัดการศึกษาต่อไปได้ ความหวังก็จะยังมีอยู่ในชุมชน

1.เรื่องคน  ปัญหาที่ครูไม่ครบชั้น ไม่ครบสาระวิชา เป็นปัญหาเรื้อรังเป็นปัญหาที่โรงเรียนเหล่านี้ไม่มีบุคลากรที่ยืนระยะอยู่ได้  อย่างเต็มที่    กสศ.ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา พัฒนาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เฟ้นหาครูจากพื้นที่  ผู้ที่อยากเป็นครูของชุมชน ให้มาเรียนเป็นครู และกลับไปบรรจุในพื้นที่ ปัญหาการโยกย้ายก็จะไม่เกิดขึ้น  นี้เป็นครั้งแรกที่สถาบันผลิตและพัฒนาครู  19 แห่งทั่วประเทศ ร่วมกับพัฒนาเรื่องนี้  และ หลังจากครูรัก(ษ์)ถิ่นบรรจุ  สถาบันอุดมศึกษาทั้ง19 แห่ง จะติดตามเพื่อสนับสนุนครูเหล่านี้ในชุมชนต่อไปอีก 6 ปี  เป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องของคน ที่ภาคอุดมศึกษาเข้ามาสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานตรงนี้ได้เพิ่มขึ้น

ในปีการศึกษา 2567 จะมีครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นแรกจำนวน 327 คน กระจายตัวไปยังโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร จำนวน 284 แห่ง ใน 224 ตำบล    44 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค  ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า   จะสามารถผลิตครูรักษ์ถิ่นได้ 1,500 คน  จากนี้ กสศ. จะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายให้ครอบคลุมการผลิตครูในสาขาที่ขาดแคลนในประเทศ เช่น ครูการศึกษาพิเศษ

2.งบประมาณ เมื่อเราผูกทุกอย่างไปกับจำนวนเด็ก ทำให้งบประมาณที่แต่ละโรงเรียนได้รับ ไม่สอดคล้องต่อบริบทของโรงเรียนขนาดเล็ก เหมือนร้านอาหาร ที่เปิดบริการปุ๊บก็เจ๊งแล้ว สูตรจัดสรรงบประมาณต้องปรับเปลี่ยน  ทำให้สูตรนั้นนอกจากคำนวนตามหัวหรือจำนวนเด็ก แต่ต้องมีเรื่องระยะทาง ความห่างไกล ชดเชยความทุรกันดารด้วย    จะทำให้ทรัพยากรไปที่โรงเรียนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ กระทรวงศึกษาอาจจะไม่ต้องใช้เงินเพิ่มแม้แต่บาทเดียว เพราะถ้าสูตรเปลี่ยน จะขยับเงินจากโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่ได้เงินรายหัวเกินกว่าความจำเป็นที่ต้องมี หมุนไปสู่โรงเรียนขนาดเล็กได้  ด้วยการปรับสูตรเช่นนี้ เงินไม่ต้องเพิ่ม แต่เราจะลดความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรการศึกษาภายในระยะเวลา 1 ปีงบประมาณก็ทำได้แล้ว   สูตรนี้มีตัวอย่าง กสศ. ทำงานวิจัยกับหลายหน่วยงาน เช่น  กสศ.เตรียมสูตร Equity-based budgeting  ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  สามารถสนับสนุนสูตรนี้ให้กระทรวงศึกษา และสำนักงบประมาณได้ว่า ถ้าเป็นโรงเรียนที่มีความต้องการพิเศษ โรงเรียนห่างไกลทุรกันดาร จะต้องใช้สูตรจัดสรรงบประมาณอย่างไร

นอกจากการปรับสูตรเงินอุดหนุนรายหัวแล้ว ยังมีสูตรงบประมาณในเรื่องของเงินลงทุน  กสศ.มีการทำงานวิจัยกับธนาคารโลก เรียกว่า Fundamental School Quality Level: FSQL  และใช้เงินบริจาคในการอัพเกรดโรงเรียน  ตอนนี้ทำแล้วที่ราชบุรี เพื่อให้โรงเรียนสามารถอัพเกรดด้วยสูตรใหม่ สูตรนี้จะมีมาตรฐานคุณภาพขั้นต่ำ    โครงสร้างอาคาร บุคลากร การจัดการเรียนการนสอน   ด้วยสูตรนี้ งบลงทุนด้านการศึกษา สามารถจัดสรรให้โรงเรียนสามารถมีทรัพยากรเพียงพอ ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเสมอภาค และมีคุณภาพได้  มีโครงสร้างพื้นฐานภายในโรงเรียนที่ดี และมีครูที่เพียงพอต่อนักเรียน

ข้อเสนอการปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณ ทั้งสองข้อนี้  ครอบคลุมงบประมาณส่วนใหญ่ของกระทรวงศึกษาเกือบทั้งหมด กว่า 80-90%  ทั้งเรื่องของคน 60% เรื่องเงินอุดหนุนอีก 10%  อีก 10% คือเรื่องของเงินลงทุน

3.นวัตกรรมการเรียนการสอน โรงเรียนขนาดเล็ก จะคาดหวังให้มีครูครบชั้นในระยะเวลาอันสั้นคงเป็นไปได้ยาก จำเป็นต้องมีนวัตกรรมที่เรียกว่า Multi-age classroom  เด็กไม่จำเป็นต้องอายุเท่ากันที่จะเรียนในชั้นเรียนเดียวกันได้  อาจจะผสมเด็กช่วงวัย 6-9 ขวบ อยู่ในห้องเรียนเดียวกัน และครูสามารถมีนวัตกรรมการสอนคละชั้น  หลายประเทศที่มีภาวะทุรกันดารห่างไกล เช่น นิวซีแลนด์ใช้กระบวนการนี้มาหลายสิบปีแล้ว    ทุกคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ ต้องสอนให้ครูสามารถ สอน  Multi- Age classroom เป็น

นอกจากนี้ต้องมีการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี เข้ามาส่งเสริมให้ครู ผู้เรียนสามารถใช้การเรียนการสอน กับเทคโนโลยีปัจจุบันได้ อินเทอร์เน็ต แล็บทอป  เชื่อมโยงโลกเราทั้งใบเข้าไปอยู่ในห้องเรียนนี้ได้ จะทำให้ห้องเรียนสามารถเป็น smart class room ในอนาคตได้  ยังมีนวัตกรรมอีกมากมายที่จะทำตรงนี้ได้

4.การเชื่อมโยงชุมชน   ปวงชนเพื่อการศึกษา all for education เช่นเดียวกับนโยบายรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ  จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน   ความฝันของชุมชนคือ อยากให้ลูกหลานมีการเรียนรู้ที่ดี เป็นอนาคตของพื้นที่ ของชุมชน  เราต้องชวนชุมชนให้มีส่วนร่วม จัดการศึกษาในโรงเรียนตั้งแต่วันนี้ ทำอย่างไรให้ภาคเอกชน ผู้นำท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน  ซึ่งมีตัวอย่างที่ราชบุรีรวมถึงจังหวัดอื่น ๆ

สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ใช่ protected school ดร.ไกรยส กล่าวว่า   ถ้าเราอยากจะเห็นผลลัพธ์ที่แตกต่างเราควรมาร่วมกันเปลี่ยนโจทย์โรงเรียนขนาดเล็กเพื่อเปลี่ยนอนาคตของโรงเรียนกลุ่มนี้ เช่น เป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ ว่าคนไทยไม่ว่าช่วงวัยไหนไม่ควรหยุดพัฒนา สามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา คนในชุมชน เด็กปฐมวัย ผู้สูงอายุ วัยแรงงาน ล้วนได้ประโยชน์จากการพัฒนาตนเองที่โรงเรียน เราอาจเปลี่ยนโรงเรียนเล็ก เป็นศูนย์เรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ทุกช่วงวัย สอดคล้องกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต  พ.ศ.2566 ที่ สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ กำลังมีการขยายพื้นที่การทำงาน

ถ้าเปลี่ยนได้เป็นการจัดการเรียนรู้ทุกช่วงวัย หลายหน่วยงานจะเข้ามาสนับสนุนโรงเรียนได้ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จะร่วมต่อท่อให้ทรัพยากรเหล่านี้เข้ามาอยู่ที่โรงเรียนได้   เพื่อให้โรงเรียนได้รับการดูแล พัฒนา เป็นพื้นที่เรียนรู้ของชุมชนได้ อย่างแท้จริงยั่งยืน    ผู้ปฏิบัติหน้าที่ก็ปรับเปลี่ยนโจทย์นอกจากจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กแล้ว สามารถทำในภารกิจอื่นได้เช่นกัน

ผู้จัดการ กสศ.กล่าวว่า นอกเหนือจากปรับโจทย์คือการปรับระเบียบ ตนเองลงพื้นที่หลายปี ผู้นำท้องถิ่น เช่น นายก อบจ. นายกเทศบาล อยากจะจัดสรรเงินท้องถิ่น  มาให้โรงเรียนแต่ติดเงื่อนไข ที่สตง.ตรวจ และจะให้คืนเงิน ผอ.หลายท่าน ก็ทำการบ้าน ต้องทำหนังสือจากผอ.รร. ถึงเลขาสพฐ. เพื่อยืนยัน ว่า ไม่มีงบประมาณจากสพฐ. ใดใดแล้วจริงๆ ที่จะมาดูแลโรงเรียนเหล่านี้  และให้ตอบกลับมาเพื่อให้นายกเทศมนตรีใช้ในการตั้งงบประมาณ วงจรนี้หลายปีกว่าจะเสร็จ  ถ้าสามารถปรับระเบียบ กติกาที่เกี่ยวข้อง  ไม่ว่าจะกระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา กระทรวงมหาดไทย สามารถจัดสรรงบประมาณสนับสนุนตรงนี้มาที่โรงเรียนได้  จะมีทรัพยากรอีกมากมาย มาที่สถานศึกษาขนาดเล็กได้ในอนาคต

ทั้งหมดคือข้อเสนอของกสศ. กลั่นจากหน่วยงานทั้งระดับพื้นที่และรดับประทศ และระดับนานาชาติ เพื่อสนับสนุนให้อนาคตของโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็น protected school  หรือ non protected school สามารถที่จะมีความยั่งยืนและเป็นของชุมชนอย่างแท้จริง

นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย ผู้ประสานงานโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพ (Access School) กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า ชุมชนบางแห่งสามารถนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาเปลี่ยนเป็นโอกาสในการสร้างองค์ความรู้ ที่นำไปใช้กับชุมชนได้จริง และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการจัดการศึกษา เป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องของทุกภาคส่วน และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน เข้ามาสนับสนุนโรงเรียนขนาดเล็กให้อยู่ได้

“จากการทำงาน เพื่อดูแลโรงเรียนขนาดเล็ก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่า สิ่งที่เป็นยาขมมากสำหรับ การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก คือเรื่องของการ จัดสรรงบประมาณรายหัว เราเคยเสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปลี่ยนจาก จัดสรรงบประมาณรายหัว เป็นการจัดสรรงบประมาณเชิงพื้นที่ และควรจะปลดล็อคระเบียบ บางอย่าง เช่นเรื่องครูฝึกสอน ซึ่งพบว่าโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีครูสอนคละชั้น คละวิชา ไม่สามารถรับครูฝึกสอนที่ไม่มีครูพี่เลี้ยงเด็ก หรือครูที่มีวิชาเอกไม่ตรงกันมาช่วยสอนได้  รวมถึงปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่ง ที่อยากถ่ายโอนไปให้กับท้องถิ่น แต่ก็ติดกับระเบียบที่ทำให้ดำเนินการได้ยาก”

ภาพบางส่วน : อินเทอร์เน็ต

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 410 วันที่ 15-21 ธันวาคม 2566

หน้า 2-3

การสึก “การศึกษาไทย” ฤายุคดิ่งจิทัล

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๑๐ ระหว่างวันที่ ๑๕-๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๖
https://book.bangkok-today.com/books/gzjs/#p=1

สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post