
กองทัพอากาศ จัดการประชุมผู้บัญชาการทหารอากาศอาเซียน ครั้งที่ ๑๘


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๔ พลอากาศเอก แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมผู้บัญชาการทหารอากาศอาเซียน ครั้งที่ ๑๘ (18th ASEAN Air Chief Conference : 18th AACC) ซึ่งกองทัพอากาศเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นการจัดการประชุมทางไกล (VTC) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ภายใต้แนวคิดหลัก “ระดมสรรพกำลังและขีดความสามารถ พร้อมกับความร่วมมือระหว่างกันในระดับสูงสุด ในการต่อสู้กับความท้าทายรูปแบบใหม่” (Optimizing Capabilities and Cooperation against New Challenges) ด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางความร่วมมือระหว่างกองทัพอากาศอาเซียนในเรื่อง การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ (Countermeasures against COVID-19) การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (Humanitarian and Disaster Relief : HADR) และการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber security) โดยมีผู้ช่วยทูตทหารของแต่ละประเทศเข้าร่วมรับฟังและเป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารอากาศลาวในการรับมอบหน้าที่เจ้าภาพจัดการประชุมผู้บัญชาการทหารอากาศอาเซียน ครั้งที่ ๑๙ ณ ประเทศลาว ทั้งนี้ได้มีการจัดการประชุมทางไกลของคณะเจ้าหน้าที่ทำงานด้านการศึกษาและการฝึกกองทัพอากาศอาเซียน ครั้งที่ ๘ (8th ASEAN Air Forces Education and Training Working Group : 8th AAFET-WG) เพื่อกำหนดกรอบและแนวทางความร่วมมือด้านการศึกษาและการฝึกของกองทัพอากาศอาเซียนไปแล้ว ระหว่างวันที่ ๓๑ สิงหาคม – ๑ กันยายน ๒๕๖๔
สำหรับความเป็นมาของการประชุมผู้บัญชาการทหารอากาศอาเซียน นั้น เสาประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC) มีกรอบความร่วมมือสำคัญ ๒ กรอบ ได้แก่ ความร่วมมือด้านความมั่นคงในกรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ASEAN Defence Ministers’ Meeting : ADMM) ซึ่งกระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ และความร่วมมือด้านความมั่นคงในกรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) ซึ่งมีกระทรวงต่างประเทศเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยทั้งสองส่วนอยู่ภายใต้คณะกรรมการดำเนินการเพื่อจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคง
ในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎบัตรอาเซียน กระทรวงกลาโหมได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติในการรองรับการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และลดความหวาดระแวงระหว่างประเทศในภูมิภาค สร้างความโปร่งใสในด้านการป้องกันประเทศ อันจะลดความหวาดระแวงระหว่างประเทศในภูมิภาค และเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือทางทหารกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีการดำเนินการที่สำคัญ ๓ ด้าน ได้แก่ การพัฒนาด้านกำลังพล การพัฒนาด้านการจัดทำงบประมาณ และการพัฒนาด้านการบริหารจัดการ
กองทัพอากาศเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้บัญชาการทหารอากาศอาเซียน ครั้งที่ ๑ เมื่อ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๗ โดย พลอากาศเอก คงศักดิ์ วันทนา ผู้บัญชาการทหารอากาศขณะนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกองทัพอากาศอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความมั่นคงในภูมิภาค โดยกำหนดประเด็นหลักคือ การแลกเปลี่ยนข่าวสารด้านการก่อการร้าย (Terrorism) และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้บัญชาการทหารอากาศอาเซียน ครั้งที่ ๘ ระหว่าง ๑๓ – ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ ณ โรงแรมดุสิตรีสอร์ต อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยกำหนดประเด็นหลักคือ การเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงของกองทัพอากาศอาเซียน มุ่งสู่ประชาคมอาเซียนในปี ค.ศ.๒๐๑๕ “Strengthening Security Cooperation of ASEAN Air Forces towards ASEAN Community 2015” สอดคล้องกับการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงของอาเซียน เป็นหนึ่งในสามเสาหลักความร่วมมือสำคัญของประชาคมอาเซียน โดยการประชุมผู้บัญชาการทหารอากาศอาเซียนได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพมาอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกองทัพในประชาคมอาเซียนเป็นไปได้ด้วยดีและมีแนวโน้มจะกระชับใกล้ชิดกันมากขึ้น ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเสาประชาคมการเมืองและความมั่นคง สำหรับปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคอาเซียน เช่น การเข้าเมืองผิดกฎหมาย การค้าของเถื่อน การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องระหว่างกระทรวงกลาโหม และหน่วยราชการอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม รูปแบบความสัมพันธ์ในประชาคมการเมืองและความมั่นคงประกอบด้วย ๔ ประเทศหลัก ได้แก่ ไทย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยไทยจะเป็นแกนนำในเสาประชาคมการเมืองและความมั่นคง ส่วนอีก ๓ ประเทศจะต้องปรับตัวเข้ากับไทย การจัดตั้งกองกำลังที่มีลักษณะคล้ายกองกำลังของ NATO เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเป็นสิ่งที่ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีพื้นฐานทางการเมืองการปกครอง และภัยคุกคามแตกต่างกัน แต่รูปแบบการใช้กำลังจะเป็นในลักษณะกองทัพแต่ละชาติสามารถเคลื่อนย้ายกำลังเข้าหากันได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง และมีกฎเกณฑ์รองรับ ซึ่งจะลดปัจจัย อุปสรรคต่าง ๆ ที่มีอยู่ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้จากกรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน โดยแท้จริงแล้วปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ในเสาประชาคมการเมืองและความมั่นคงยังมีน้อย หากเปรียบเทียบกับเสาประชาคมอื่น ซึ่งกองทัพอากาศมีมุ่งมั่น และพร้อมปฏิบัติภารกิจ เพื่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และประชาชน โดยใช้ความสามารถของกำลังทางอากาศ และความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับกองทัพอากาศของชาติในภูมิภาคอาเซียน อันจะทำให้ประชาคมอาเซียนได้ประโยชน์สูงสุด
สำหรับแนวทางการเตรียมความพร้อมของกองทัพอากาศเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ได้ดำเนินการต่อเนื่องภายใต้กรอบของกระทรวงกลาโหม และกองบัญชาการกองทัพไทย โดยมีแนวทางความร่วมมือเพื่อธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค เคารพในอิสรภาพ อธิปไตย การไม่แทรกแซงในกิจการภายในซึ่งกันและกัน และแก้ไขปัญหาข้อพิพาทโดยสันติวิธี โดยเตรียมความพร้อมด้านกำลังพล ด้วยการพัฒนากำลังพลทุกระดับให้มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาเพื่อนบ้านในภูมิภาค รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ของกำลังพลในการเป็นประชาคมอาเซียนต่อไป