
กรุงเทพฯแซนด์บ็อกซ์ ปราสาททรายปลายฤดูฝน


เมื่อโลกต้องผจญกับโรคโควิด-19 มาเป็นเวลาต่อเนื่องเกือบ 2 ปี โดยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกกว่า 230 ล้านคน เสียชีวิตมากกว่า 4.7 ล้านคน แม้ว่านานาประเทศจะเค้นสมองผลิตวัคซีนออกมาสู้ มีการรณรงค์ฉีดวัคซีนกันอย่างเร่งรีบ แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีรายงานการติดเชื้อวันละกว่า 5 แสนคน เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 1 หมื่นคน จนต้องเริ่มทำใจและปรับความคิดกันใหม่ว่ามนุษย์ไม่อาจเอาชนะหรือกำจัดเชื้อโรคร้ายจากธรรมชาตินี้ได้ในเวลาอันสั้น
นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่างยอมรับแล้วว่า ด้วยวิทยาการในปัจจุบันคงทำได้แค่การบรรเทาความเจ็บป่วยไม่ให้รุนแรงและลดการเสียชีวิตให้น้อยที่สุด มนุษย์ต้องหาทางใช้ชีวิตอยู่คู่กับโควิดอย่างปลอดภัย เหมือนอยู่คู่กับโรคหวัดที่อาจจะเจอะเจอได้ทุกเมื่อเชื่อวัน
ความคิดดังกล่าวย่อมเข้าทางรัฐบาลทุกประเทศที่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการต่อสู้กับโรคภัยที่ไม่เห็นตัวแต่เห็นผลรุนแรงทั้งคนป่วยล้นโรงพยาบาล หรือคนตายคาบ้าน ตายข้างถนน จนหลายรัฐบาลถูกประชาชนก่นด่าว่าบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ หรือใช้หัวแม่เท้าแทนหัวสมองในการประเมินสถานการณ์
ขณะที่บางรัฐบาลเลือกป้องกันสุขภาพและชีวิตประชากรโดยการล็อคดาวน์ธุรกิจ ปิดเมือง ปิดประเทศก็ไม่วายถูกด่า เพราะนอกจากจะใช้ชีวิตปกติประจำวันตามประสา “สัตว์สังคม”ไม่ได้แล้ว ยังส่งผลให้ธุรกิจเสียหาย ระบบเศรษฐกิจแทบพังทะลายจากการปิดบ้านปิดเมืองนานนับเดือน
สุดท้ายหลายประเทศเลือกที่จะอยู่กับโควิดดังเช่นที่สำนักข่าว CNN รายงานว่าประเทศเดนมาร์ก เลิกมาตรการต่างๆตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน ปล่อยให้ประชาชนใช้ชีวิตได้เหมือนปกติ ถือว่าโควิด-19 ไม่ใช่ภัยคุกคามสังคมอีกต่อไป เพราะฉีดวัคซีนแล้วกว่า 74% ของประชากร เช่นเดียวกับประเทศชิลี ที่ประชากร 87% ได้ฉีดวัคซีนครบโดส และจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ 1 ตุลาคม
ส่วนมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา ที่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เคยดูแคลนโควิด-19 ว่ากระจอก พอเปลี่ยนเป็นประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องประกาศเร่งฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ เพราะสหรัฐฯผลิตวัคซีนได้เอง ตอนนี้ระดมฉีดให้ประชาชนแล้วกว่าครึ่งค่อนประเทศ ยังมีเหลือบริจาคแก่ต่างประเทศ แต่เชื้อโควิดกลับมาระบาดมีผู้ติดเชื้อใหม่วันละมากกว่า 1 แสนคน เสียชีวิตอีกวันละกว่า 2,000 คน ส่งผลให้ยอดเสียชีวิตสะสมทะลุ 7 แสนคน แต่สหรัฐฯก็เลือกเปิดประตูรับชาวต่างชาติจาก 33 ประเทศที่เดินทางเข้าสหรัฐฯทางอากาศอีกครั้งตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน
ย้อยมาดูประเทศไทยเรากล้าเริ่มก่อนฝรั่งตั้งแต่ 1 กรกฎาคม ด้วยโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ช่วง 3 เดือนถือว่าไปได้ดีในช่วงไตรมาส 4 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าภูเก็ตประมาณ 3 แสนคน นักท่องเที่ยวไทยประมาณ 4-5 แสนคน คงทำให้บรรยากาศท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง
ความสำเร็จของภูเก็ตทำให้นักการเมืองอยากเร่งสร้างผลงานโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จากพรรคภูมิใจไทยที่เคยผลักดันให้คนไทยเที่ยวสงกรานต์จนโควิดระบาดระลอก 3 ยังไม่เข็ด ได้ลุกขึ้นมาประกาศว่า จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวใน 5 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเชียงใหม่ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งค้านกับความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ว่า จะเร่งเปิดประเทศอะไรกันนักหนาในขณะโควิด-19 ยังระบาดกันวันละกว่า 1 หมื่นคน และตายเกิน 100 ศพในแต่ละวัน
เมื่อมีเสียงทักท้วงนายพิพัฒน์ก็ยังยืนยันว่าวันที่ 1 ตุลาคมนี้ พร้อมเปิดประเทศได้ 4 จังหวัด คือชลบุรี, ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และเชียงใหม่ ส่วนกรุงเทพฯนั้นนายพิพัฒน์อ้างว่าได้คุยกับผู้ว่าฯกทม.แล้ว จะเลื่อนเปิดในวันที่ 15 ตุลาคม
แต่เสียงนายพิพัฒน์ยังไม่ทันจางหาย เสียงของพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สวนกลับว่าไม่เคยพูดว่าจะเปิดเมืองในวันที่ 15 ตุลาคม พร้อมอธิบายว่าการจะเปิดเมืองหลวงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวได้นั้นอย่างน้อยต้องมีเงื่อนไข 3 ข้อคือ
1.ประชากรของกรุงเทพมหานครต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างน้อย 70% ขึ้นไป โดยคาดว่าจะครบตามเป้าหมายที่กำหนด ประมาณวันที่ 22 ตุลาคมซึ่งหลังจากนั้นต้องรออีกอย่างน้อย 7-14 วัน เพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นแล้วจึงค่อยมาคุยกันเรื่องเปิดเมือง
- จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง (วันที่ 23 กันยายน 2564 มีผู้ติดเชื้อใหม่ 2,456 คน)
- จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลง
เรื่องนี้ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวในการแถลงข่าวว่า ที่ประชุม ศปก.ศบค. เน้นย้ำว่า กรุงเทพแซนด์บ็อกซ์ยังไม่กำหนดวัน และเกณฑ์ที่สำคัญ คือ ประชาชนต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มสองเกิน 70% ขณะนี้ฉีดได้ 42.57% อาจจะต้องรอให้เห็นสัญญาณชัดเจนว่าผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและอยู่ในช่วงขาลง
“กรุงเทพฯแซนด์บอกซ์” นั้นเป็นข้อเสนอของภาคเอกชน โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นหัวใจของเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นทั้งศูนย์กลางธุรกิจการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว แต่ก็เป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วย ดังนั้นหากจะคลายล็อคดาวน์โดยเฉพาะการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำเป็นจะต้องมีการวางแนวทางและมาตรการอย่างรัดกุม
รายงานข่าวล่าสุดเปิดเผยว่าคงเพราะไม่อยากเสี่ยงซ้ำรอยความผิดพลาดจากข้อเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ รัฐบาลจึงให้เลื่อนการเปิด 5 เมืองท่องเที่ยวไปเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ทุกพื้นที่ระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ได้ครบโดสไม่น้อยกว่า 70%
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นว่าในกรณีของกรุงเทพมหานคร คาดว่าจะฉีดวัคซีนเข็มที่สอง ครอบคลุมถึง 70% ได้ภายในเดือนตุลาคม อย่างไรก็ตามต้องมีความพร้อมทั้งประชาชนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวต่างชาติ และมีระบบติดตามข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
สำหรับมาตรการการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ายังโครงการ “กรุงเทพฯแซนด์บ็อกซ์” จะใช้วิธีการเดียวกับภูเก็ตแซนบ็อกซ์ ได้แก่ เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดส ตรวจหาเชื้อโควิด–19 จากประเทศต้นทาง และตรวจหาเชื้ออีก 3 ครั้ง หลังเข้าสู่ประเทศไทย เข้าพักยังโรงแรมที่ได้มาตราฐาน SHA+ เท่านั้น ช่วงเวลากลางวันสามารถไปไหนก็ได้ในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ช่วงค่ำต้องกลับเข้าพักที่โรงแรมเดิม (น่าห่วงการแอบเที่ยวราตรี) เมื่อครบ 14 วันนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปยังจังหวัดอื่นๆได้
การท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย (ททท.) คาดหมายว่าในปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยประมาณ 1.2 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 85,000 ล้านบาท การเดินทางเที่ยวในประเทศจะเกินขึ้นประมาณ 100 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 540,700 ล้านบาท
เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 4 ททท.ได้เปิดลงทะเบียน 2 โครงการ ได้แก่ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” ให้ 2 ล้านสิทธิ์ รัฐบาลช่วยจ่ายค่าโรงแรม 40% ให้คูปองค่าอาหาร 600 บาทต่อวัน ช่วยค่าเครื่องบิน 40 % และโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ให้ 1 ล้านสิทธิ์ รัฐบาลช่วยจ่ายสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาทต่อหัว ผ่านบริษัททัวร์ ทั้งสองโครงการจะเริ่มในเดือนตุลาคมนี้
ช่วยกันภาวนาว่าวัคซีนที่ฉีด 2 เข็มไปได้แค่ 16 ล้านคนจะพอบรรเทาไม่ให้เกิดการระบาดระลอก 5 ให้ต้องกลับมาปิดเมืองกันใหม่