
กระทรวง อว. สร้างความภูมิใจให้เด็กไทย มอบรางวัล Prime Minister’s Science Award 2021 สุดยอดโครงงานวิทย์ฯ ระดับประเทศ ตอบโจทย์สังคมอย่างยั่งยืน


กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดโครงการ Prime Minister’s Science Award 2021 ขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ดำเนินงานโดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับเยาวชนที่ได้ทำคุณประโยชน์และเป็นตัวอย่างอันดีด้านวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศ และเป็นที่ประจักษ์ในเวทีระดับนานาชาติ รวมทั้งยกย่องเชิดชูเกียรติครูวิทยาศาสตร์ที่อุทิศตนอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมการพัฒนาเยาวชนให้มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และพัฒนาศักยภาพเพื่อความพร้อมต่อไปในอนาคต รวมทั้งเพื่อช่วยกระตุ้นให้เยาวชนเกิดแรงบันดาลใจ และสนับสนุนส่งเสริมให้ครูมีกำลังใจมากขึ้น ร่วมผลักดันการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
โครงการนี้นับเป็นความท้าทายสำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากอยู่ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ในประเทศไทย อย่างไรก็ตามผลงานของเยาวชนที่ส่งเข้าประกวดครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงโครงงานวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ โดยผลงานสามารถสะท้อนมุมมองความคิดของเยาวชนได้อย่างชัดเจน สร้างสรรค์ และผสมผสานต่อแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเยาวชนเหล่านี้ได้ศึกษาค้นคว้าและใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมทั้ง โครงงานของเยาวชนคนไทยจะช่วยแก้ไขปัญหาการใช้ชีวิตของผู้คนที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืนต่อไปในอนาคตอีกด้วย
สำหรับรางวัลปีนี้ประกอบด้วย 1.รางวัล Prime Minister’s Science Project Award 2021 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 2.รางวัล Prime Minister’s Science Project Award 2021 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยแบ่งออกเป็น 3 สาขาได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ , สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และ สาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์
ในประเภทโครงงาน “สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ” ที่ตอบโจทย์ในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ กับ “โครงงาน Rapid Osteoporosis Risk Assessment: Non-Invasive Detection Kit of Calcium, Phosphate and pH in Human Sweat” ซึ่งผลงานนี้ได้รับรางวัล Prime Minister’s Science Project Award 2021 ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เป็นหนึ่งสุดยอดผลงานจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยมีเยาวชนในทีม ได้แก่ นายพัฒฒ์ พฤฒิวิลัย , นายกฤษฏิ์ กสิกพันธุ์ และนายกรวีร์ ลีลาอดิศร และที่ปรึกษาโครงงาน ได้แก่ นายเกียรติภูมิ รอดพันธุ์ ซึ่งแนวคิดของโครงงานนี้เกิดจากการค้นพบว่า ปัจจุบันคนไทยเกิดโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ค่อนข้างมากและพบเห็นได้บ่อยขึ้น และการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นยังไม่ได้รับความถูกต้องมากเท่าที่ควร จึงได้นำมาพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะสามารถบ่งบอกความเสี่ยงในการเป็นภาวะโรคกระดูกพรุนได้ ด้วยวิธีการ Self-Assessment (การประเมินตนเอง) แบบ Non-Invasive (ขั้นตอนทางการแพทย์ที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดหรือใส่เครื่องมือแพทย์เข้าไปในร่างกาย) ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการดูแลสุขภาพของประชากรของประเทศทุกคน โดยใช้ชุดตรวจซึ่งเป็นนวัตกรรมทดสอบบริเวณเหงื่อสามฟังก์ชัน เพื่อการตรวจวัดปริมาณระดับไมโครของแคลเซียม ฟอสเฟต และ pH สู่การบ่งชี้แนวโน้มภาวะเสี่ยงการเกิดโรคกระดูกพรุน ถือเป็นผลงานที่สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาไปสู่วงการแพทย์ต่อไปได้ในอนาคต
อีกหนึ่งผลงานในประเภทโครงงาน “สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ” กับ “โครงงานการพัฒนาสมการเฮลิคอยด์เพื่อเพิ่มอัตราการไหลของอุปกรณ์ลำเลียงลิ่มเลือดในการรักษาทางการแพทย์” ที่คว้ารางวัล Prime Minister’s Science Project Award 2021 ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ เป็นผลงานจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี โดยมีเยาวชนในทีม ได้แก่ นายพิตตินันท์ หาญสิงห์กุญช์ , นายนนทนัตถ์ เวทยานนท์ และ นายพัชรพล รุจิพรพงษ์ ที่ปรึกษาโครงงาน ได้แก่ นายศักดิ์นรินทร์ จันทร์นาค และนางสาวพิชญ์สินี คงสุคนธ์ โดยแนวคิดของโครงงานนี้ เกิดจากปัจจุบันคนไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อลิ่มเลือดหรือทรอมบัส มีขนาดใหญ่มากจนสามารถอุดตันหลอดเลือด สามารถพบเห็นได้บ่อยในรูปแบบของโรคต่างๆ เช่น เส้นเลือดในสมองอุดตัน หรือ ภาวะหลอดเลือดดำอุดตันที่พบได้บ่อย ซึ่งแนวทางการรักษาโรคลิ่มเลือดอุดตันนั้นมีหลายวิธีแต่ด้วยความเจริญทางเทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆในปัจจุบันพบว่ามีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากคือ วิธี Mechanical Thrombectomy เป็นการนำเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกผ่านทางสายสวนเพื่อเปิดหลอดเลือดให้เลือดสามารถไหลเวียนได้ตามปกติ เป็นหัตถการที่ต้องใช้ความละเอียดขั้นสูงซึ่งจะได้ผลดีเมื่อทำงานในเครื่องเอกซ์เรย์สองระนาบ ข้อดีของวิธีการรักษานี้คือ สามารถลดภาวะแทรกซ้อน อัตราความพิการและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลง และวิธีการนี้มีการนำเกลียวเฮลิคอยด์เข้ามาใช้ในการลำเลียงลิ่มเลือดออก จากการศึกษาพบว่ามีเฮลิคอยด์อีกหลายชนิด เช่น เฮลิคอยด์ทรงกรวย เฮลิคอยด์ทรงกระบอก เฮลิคอยด์ทรงพาราโบลอยด์ ด้วยเหตุนี้เยาวชนจึงเกิดความสนใจที่จะศึกษาการลำเลียงลิ่มเลือดด้วยเกลียวเฮลิคอยด์ชนิดต่างๆ รวมถึงนำรูปเรขาคณิตที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือ Reuleaux Triangle กับ Squircle มาสร้างแบบจำลองสายลำเลียงลิ่มเลือดจากการพัฒนาสมการเฮลิคอยด์รูปแบบรูปแบบใหม่โดยใช้โปรแกรม Solidworks Simulation ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ได้รับการยอมรับในทางวิศวกรรมการออกแบบแบบจำลอง โดยนำสมการความต่อเนื่องในเรื่องของอัตราการไหลเชิงปริมาตรเข้ามาช่วยในการหาอัตราการไหลของลิ่มเลือดผ่านสายลำเลียงลิ่มเลือด หาความสัมพันธ์และคุณสมบัติเกลียวเฮลิคอยด์แต่ละชนิดกับอัตราการไหลของลิ่มเลือด โดยประยุกต์เกลียวเฮลิคอยด์ที่มีคุณสมบัติที่ลำเลียงเลือดมีอัตราการไหลสูงมาเป็นเฮลิคอยด์รูปแบบใหม่ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของการลำเลียงลิ่มเลือดในทางการแพทย์ได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งถือเป็นผลงานที่เยาวชนไทยสามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์ผลงานเพื่อช่วยเหลือและเป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน นำไปสู่ความก้าวหน้าที่มีศักยภาพของประเทศไทยต่อไป
กระทรวง อว. ร่วมด้วย อพวช. สวทช. และสมาคมวิทย์ฯ มุ่งเน้นให้เยาวชนเป็นตัวอย่างที่ดีและพร้อมผลักดันเยาวชนไปสู่เวทีระดับนานาชาติ รวมทั้งครู อาจารย์ในด้านวิทยาศาสตร์ ให้มีเวทีและโอกาสในการแสดงความสามารถและสร้างสรรค์ผลงานวิทยาศาสตร์ นำไปสู่การพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ของไทยไปสู่ระดับโลก ผ่านโครงการ Prime Minister’s Science Award ซึ่งรางวัลจากโครงการฯ นี้ จะเป็นขวัญกำลังใจให้กับเยาวชน ครูและสถาบันการศึกษาได้เป็นอย่างดีในการที่จะมุ่งมั่นพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต
สำนักงานใหญ่ : 39 หมู่ 3 ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
โทร. 0 2577 9999 โทรสาร 0 2577 9900, 0 2577 9911 www.nsm.or.th