Digiqole ad

กรรม(อ)นัน(ต์)….โลกของ “กำนัน” กรรมดียิ่งที่ต้องทำเพื่อลูกบ้าน (สกู๊ปปกอีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 397 วันที่ 15-21 ก.ย.66

 กรรม(อ)นัน(ต์)….โลกของ “กำนัน” กรรมดียิ่งที่ต้องทำเพื่อลูกบ้าน (สกู๊ปปกอีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 397 วันที่ 15-21 ก.ย.66
Social sharing
Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 397 วันที่ 15-21 กันยายน 2566

หน้า 2-3

      โลกของ “กำนัน”

กรรมดียิ่งที่ต้องทำเพื่อลูกบ้าน

            จากคดีสะเทือนขวัญ “สารวัตรแบงค์-พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว นายตำรวจทางหลวงน้ำดี ถูกยิงในบ้าน “กำนันนก-นายประวีณ จันทร์คล้าย”  ที่จังหวัดนครปฐม กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ระดับโลกและเป็นวาระแห่งชาติที่ยังสรุปไม่จบ ภาครัฐบาล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการหยิบยกเรื่องบทบาทและหน้าที่ของ “กำนัน” มาพิจารณากันใหม่ “อีบุ๊กบางกอกทูเดย์” ฉบับนี้ จึงขอหยิบยกเรื่องของ “กำนัน” มาตีแผ่กัน

 

กรมการปกครองออกคำสั่งด่วนที่สุด

จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงทำให้เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 “นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์” อธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัดเรื่อง มาตรการควบคุม กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ

ตามที่ กรมการปกครองแจ้งกำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ในการประพฤติตน และการใช้อาวุธปืนในการปฏิบัติหน้าที่ และเน้นย้ำการปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยมุ่งประสงค์ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดี มีเกียรติ และศักดิ์ศรีความเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ยึดมั่นและยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง มีความซื่อสัตย์สุจริตและความรับผิดชอบ ต้องรักษาชื่อเสียงของตน และรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯลฯ มิให้เสื่อมเสียเป็นแบบอย่างที่ดีของเจ้าหน้าที่รัฐ และบุคลากรภาครัฐที่ปฏิบัติราชการในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

 

แต่ปัจจุบันยังปรากฎข่าวทางสื่อมวลชนหรือสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติตนของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯลฯ ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมไม่เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย นโยบายของรัฐบาล กระทำตนเป็นผู้มีอิทธิพล ดังเช่น กำนันตำบลตาก้อง อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ถูกจับกุมในคดีอาญาในความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่น อันเป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ และอยู่ในความสนใจของประชาชน

จากสาเหตุดังกล่าวจึงทำให้เสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ต่อสถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯภาพลักษณ์กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ รวมทั้งสร้างความไม่ไว้วางใจ จากประชาชน และประเทศชาติ นั้น

กรมการปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ในฐานะผู้ปกครองท้องที่ระดับตำบล หมู่บ้าน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลทุกข์สุขของราษฎรในท้องที่ ดังนั้น เพื่อให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯเกิดภาพลักษณ์ที่ดี เป็นที่พึ่งของประชาชน และเป็นแบบอย่างที่ดี จึงขอให้จังหวัดแจ้งอำเภอกำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการประพฤติตน และการใช้อาวุธปืนในการปฏิบัติหน้าที่ตามหนังสือกรมการปกครอง ด่วนที่สุด ที่ มท. 0310.2 /ว 12572 ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 และหนังสือ ที่ มท 0310.2 /ว 8940  ลงวันที่ 8 เม.ย.2565 เรื่อง เน้นย้ำการปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการรักษาความสงบเรียบร้อย

5 กฎเหล็กสะกดกำนันนอกรีต

            นอกจากนี้ในสาระสำคัญของอธิบดีกรมการปกครอง ยังระบุด้วยว่า หากปรากฏว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านประพฤติปฏิบัติตนไม่ถูกต้องเหมาะสม ไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมายนโยบายของรัฐบาล หรือกระทำตนเป็นผู้มีอิทธิพลตามที่ปรากฎข่าว ให้นายอำเภอพิจารณาตามมาตรการทางปกครองและวินัย ดังนี้

1.ให้อำเภอแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง หากพบว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯลฯ ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ แต่ยังไม่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง นายอำเภอสามารถสั่งลงโทษวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ได้แก่ ภาคทัณฑ์ ตัดค่าตอบแทน และลดอันดับเงินเดือนไม่เกินหนึ่งอันดับ

2.หากกรณีดังกล่าวเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ให้นายอำเภอรายงานผู้ว่าราชการจังหวัด มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง หากผลการสอบสวนมีมูลความผิดจริงสามารถลงโทษ ปลดออก หรือไล่ออกจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 มาตรา 61 ทวิ อนึ่ง เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาแล้วมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ แล้ว นายอำเภอสามารถใช้ดุลพินิจสั่งพักหน้าที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ เพื่อรอผล การสอบสวนทางวินัย

3.หากนายอำเภอพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ เป็นการบกพร่องในหน้าที่หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ให้นายอำเภอแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพื่อสอบสวน ให้ได้ความว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ มีพฤติกรรมบกพร่องในหน้าที่หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง แล้วรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อมีคำสั่งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ พ้นจากตำแหน่ง ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 มาตรา 14 (7 )

4.หากพบว่ากรณียังไม่มีมูลให้ดำเนินการทางวินัย ให้นายอำเภอว่ากล่าวตักเตือนให้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดผลดีต่อราชการ

5.กรณีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ผู้ใดประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เอาใจใส่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง ให้จังหวัดดำเนินการยกย่องชมเชยให้ปรากฏเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น แล้วรายงานให้กรมการปกครองทราบ

 

นายกสมาคมกำนันฯ แฉมาเฟีย

เมื่อเร็ว ๆนี้ รายการสับประเด็น กับอาร์ท เอกรัฐ ทางช่อง PPTV ได้เชิญ “กำนันยงยศ แก้วเขียว”นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย มาร่วมพูดคุยในรายการ

กำนันยงยศ กล่าวว่า การที่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เชิญบรรดาข้าราชการ ผู้หลักผู้ใหญ่ในท้องถิ่น มารับประทานอาหารที่บ้าน เป็นเรื่องที่ทำกันมานานแล้ว เป็นปกติในวงการกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพราะเป็นโอกาสในการกระชับความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ถ้าเราเข้าใกล้ผู้มีความรู้ เราก็ย่อมมีความรู้ตามไปด้วยนอกจากนี้ ยังพูดถึงกรณีของกำนันนกที่ก็จัดงานเลี้ยงใหญ่โต เลี้ยงแขกตำรวจยศสูง ผู้หลักผู้ใหญ่เหมือนกัน เจ้าตัวมองว่า นี่คือ “อุบัติเหตุทางการกระทำ”

เมื่อถามว่า ในฐานะนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน พวกมาเฟียท้องถิ่น มีจริงหรือไม่ กำนันยงยศ ตอบว่า เชื่อว่าในวงการนี้มีคนที่คอยรวบรวมอิทธิพล ในลักษณะคล้ายกับการฮั้วกัน รู้กันเองในหมู่คณะ แต่ย้ำว่า ไม่มีใครมีอำนาจเหนือกฎหมายได้ อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า ตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านไม่ได้เป็นแล้วรวย เพราะตำแหน่งเหล่านี้ไม่มีงบประมาณ แล้วการจะเป็นผู้ประกอบการรับเหมา หรือทำธุรกิจเพื่อหวังผลประโยชน์ ก็ไม่ได้ทำกันง่ายๆ หากมองจากเคสของกำนันนก นั่นคือธุรกิจของครอบครัวตั้งแต่รุ่นพ่อ ที่ทำกันมานานแล้วมากกว่า

ขณะเดียวกันในไลฟ์ของรายการสับประเด็น เปิดให้โหวตด้วยว่า “คุณคิดว่ามาเฟียท้องถิ่น มีจริงหรือไม่” ผลปรากฏว่า 89% มองไปทิศทางเดียวกันว่า มีจริง ตามมาด้วย 6% ไม่มีจริง และ 5% คิดว่ามีจริง แต่ยังไม่เคยเห็นมาก่อน นี่คือโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงมหาดไทยต้องเร่งกำกับดูแล เพราะผู้คนในสังคมมองว่า ไม่ได้มีแค่ “กำนันนก” ที่มีพฤติกรรมแบบนี้อย่างแน่นอน (ที่มา : https://www.pptvhd36.com)

กฎหมายว่าด้วยการคัดเลือกกำนัน

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการคัดเลือกกำนัน พ.ศ.2551 พอสังเขปมีดังนี้

เมื่อตำแหน่งกำนันว่างลงให้มีการคัดเลือกกำนันขึ้นใหม่ภายใน 45 วัน หากมีความจำเป็นไม่อาจจัดให้มีการคัดเลือกกำนันภายใน 45 วัน ให้นายอำเภอรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดขอขยายเวลาออกไป และการคัดเลือกกำนันให้นายอำเภอดำเนินการดังนี้

1.ประกาศกำหนดให้มีการคัดเลือกกำนัน ภายใน 3 วัน 2.กำหนดวัน และเวลาประชุมคัดเลือกกำนัน ต้องไม่เกิน 45 วัน 3.ปิดประกาศให้มีการประชุมคัดเลือกกำนัน ภายใน 7 วัน 4.คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกประกอบด้วย นายอำเภอเป็นประธาน ผู้ที่นายอำเภอเห็นสมควร และปลัดอำเภอเป็นกรรมการและเลขานุการ

ให้นายอำเภอกำหนดให้ที่ว่าการอำเภอเป็นสถานที่คัดเลือกกำนัน การประชุมคัดเลือกกำนันต้องเป็นไปโดยเปิดเผย และต้องมีผู้ใหญ่บ้านมาประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง การเสนอชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกำนัน ให้ออกเสียงโดยวิธีลับ การลงคะแนนให้ใช้บัตรเลือกผู้ใหญ่บ้านโดยอนุโลม และให้นายอำเภอเป็นผู้สั่งปิดการลงคะแนน ถ้าผู้มีสิทธิลงคะแนนได้ทักท้วงการวินิจฉัยบัตรดี บัตรเสีย ให้มีสิทธิร้องคัดค้านต่อนายอำเภอ และให้นายอำเภอวินิจฉัยทันที

การคัดเลือกกำนัน ต้องเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม นับแต่วันที่นายอำเภอประกาศให้มีการคัดเลือกกำนันจนถึงวันคัดเลือก ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้ใหญ่บ้านคนใด เสนอชื่อหรืองดเว้นการเสนอชื่อหรือการลงคะแนนให้แก่ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งคนใดเพื่อรับการคัดเลือกเป็นกำนัน หรือมิให้ได้รับการคัดเลือกเป็นกำนัน

ในวันคัดเลือก ห้ามมิให้ผู้ใดทำการโฆษณาหาเสียง โดยวิธีการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการได้เปรียบหรือเสียเปรียบแก่ผู้ใหญ่บ้านคนใดจนสิ้นสุดการคัดเลือก นับแต่วันที่นายอำเภอประกาศให้มีการคัดเลือกกำนันจนสิ้นสุดการคัดเลือก ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการคัดเลือก วางตัวเป็นกลางโดยเคร่งครัด ห้ามมิให้การกระทำใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งคนใด นับแต่วันที่นายอำเภอประกาศให้มีการคัดเลือกกำนันจนสิ้นสุดการลงคะแนน ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใดๆ เพื่อให้เกิดการได้เปรียบหรือเสียเปรียบแก่ผู้สมัครคนใด

วิธีการคัดเลือก “กำนัน”

ในการประชุมคัดเลือกกำนัน ให้นายอำเภอเป็นประธานในที่ประชุม ปลัดอำเภอเป็นเลขานุการทำหน้าที่รับลงทะเบียนผู้ใหญ่บ้านและกรรมการที่เข้าร่วมประชุม และจัดทำบันทึกรายงานการประชุมคัดเลือกกำนัน โดยให้นายอำเภอชี้แจงรายละเอียด เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย และการรู้รักสามัคคี ตลอดจนการดำรงรักษาความเป็นมิตร เป็นเพื่อนบ้าน และความเป็นญาติพี่น้องในพื้นที่ทั้งก่อนและหลังการคัดเลือกให้ผู้ใหญ่บ้านและราษฎรที่สนใจติดตามการคัดเลือกกำนันได้รับทราบ

การประชุมคัดเลือกกำนันต้องเป็นไปโดยเปิดเผยและต้องมีผู้ใหญ่บ้านมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ใหญ่บ้านทั้งหมดที่มีอยู่ในตำบลนั้น ผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นคนหนึ่ง มีสิทธิเสนอชื่อผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้น หรือเสนอชื่อตนเองเป็นกำนันได้หนึ่งคน กรณีมีการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเป็นกำนันเพียงคนเดียว ให้นายอำเภอคัดเลือกผู้นั้นเป็นกำนัน แล้วให้นายอำเภอประกาศผลการคัดเลือกกำนัน โดยปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอ และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านในตำบลนั้น

กรณีมีการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเป็นกำนันมากกว่าหนึ่งคนให้นายอำเภอจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนโดยวิธีลับและให้เสร็จสิ้นในวันประชุมคัดเลือก การลงคะแนนโดยวิธีลับให้ใช้บัตรเลือกผู้ใหญ่บ้านโดยอนุโลม

             “เมื่อนายอำเภอประกาศผลการนับคะแนนแล้ว ผู้ใดเห็นว่าการคัดเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริต และเที่ยงธรรม ให้ทำคำร้องคัดค้านเป็นหนังสือต่อนายอำเภอ ภายใน 15 วัน และเมื่อนายอำเภอได้รับคำร้องคัดค้านแล้ว ให้รายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบและให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสอบสวนวินิจฉัยภายใน 30 วัน หากผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นไปโดยไม่สุจริต ให้สั่งให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับการคัดเลือก แล้วให้นายอำเภอดำเนินการคัดเลือกกำนันภายใน 30 วัน ทั้งนี้นายอำเภอจะทำลายบัตรเลือกและเอกสารได้เมื่อพ้นกำหนดเวลาคัดค้าน ไม่น้อยกว่า 7 วัน(ที่มา : กรมการปกครอง)

            รางวัลกำนันผู้ใหญ่บ้านจากอดีตสู่ปัจจุบัน

            วันที่ 10 สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน” ( รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองจัดระเบียบการปกครองระดับตำบล หมู่บ้าน ขึ้นเป็นครั้งแรกที่บ้านเกาะ ณ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2435) ซึ่งจะมีมอบรางวัลกำนันและผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยม หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า “รางวัลแหนบทองคำ” ให้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่ผ่านการคัดเลือกตามที่กำหนดไว้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การแบ่งชั้นรางวัลกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนันและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านพุทธศักราช 2556

โดยรางวัลกำนันยอดเยี่ยม จะได้รับ แหนบทองคำ อาวุธปืนสั้น และเครื่องแบบปกติขาว กรณีได้รับรางวัลกำนันยอดเยี่ยม ครั้งที่สองจะได้รับรางวัล แหนบทองคำ อาวุธปืนลูกซองยาวห้านัด และเครื่องแบบปกติขาว กรณีได้รับรางวัลกำนันยอดเยี่ยมครั้งที่สามขึ้นไป จะได้รับรางวัล แหนบทองคำ โล่เกียรติยศ และเครื่องแบบปกติขาว

ส่วนรางวัลผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมจะได้รับ แหนบทองคำอาวุธปืนสั้นและเครื่องแบบปกติขาว กรณีได้รับรางวัลกำนันยอดเยี่ยมครั้งที่สอง จะได้รับรางวัล แหนบทองคำ อาวุธปืนลูกซองยาวห้านัด และเครื่องแบบปกติขาว กรณีได้รับรางวัลกำนันยอดเยี่ยมครั้งที่สามขึ้นไป จะได้รับรางวัล แหนบทองคำ โล่เกียรติยศ และเครื่องแบบปกติขาว และรางวัลชั้นที่ 2 กำนันจะได้รับเงินรางวัลละ 3,000 บาท ส่วนผู้ใหญ่บ้าน เป็นเงินรางวัลละ 2,000 บาท

ซึ่งการมอบรางวัลที่กล่าวมาข้างต้นแม้เป็นเงินจำนวนไม่มาก ถ้าเทียบกับสิ่งที่กำนันและผู้ใหญ่บ้านเสียสละให้แก่ชุมชนแล้ว แต่รางวัลทั้งหลายล้วนสร้างความภูมิใจให้แก่กำนันและผู้ใหญ่ ตลอดจนครอบครัว ประชาชนในตำบลและหมู่บ้าน ทั้งทำให้ประชาชนในชุมชน มีความรู้สึกร่วมพร้อมที่จะให้ความร่วมมือและส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และยังทำให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านมีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่

เมื่อทราบคร่าวๆ เกี่ยวกับรางวัลแหนบทองคำแล้ว ก็เกิดคำถามว่าในอดีตเรามีรางวัลอะไรมอบให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเพื่อตอบแทนที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมบ้าง วันนี้เราจะมาเล่าเกร็ดความรู้ เรื่องการให้รางวัลแก่ กำนันและผู้ใหญ่บ้านในอดีต ซึ่งเมื่อเราสืบค้นในหนังสือเทศาภิบาล เล่ม 1 แผ่น 5 วันที่ 1 สิงหาคม ร.ศ.125 มีการกล่าวถึงการมอบรางวัลแก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จึงทำให้ทราบว่ามีการมอบรางวัลให้แก่ กำนันและผู้ใหญ่บ้าน มาตั้งแต่ พ.ศ. 2447 หรือ ร.ศ. 123 โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทูลพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ข้าหลวงพิเศษจัดราชการตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลปาจิณบุรี ขอให้มีการมอบรางวัลให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านโดยกำหนดรางวัลไว้ 3 ประเภท คือ รางวัลให้ผู้มีความชอบป้องกันเหตุร้าย รางวัลให้ผู้มีความชอบปราบปรามโจรผู้ร้ายและรางวัลให้ผู้มีความชอบรักษาความสะอาดหมดจดในท้องที่ ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไข รายละเอียดไว้ดังนี้

รางวัลป้องกันเหตุร้าย โดยจะมอบรางวัลให้แก่ กำนัน หากภายใน 1 ปีไม่มีเหตุโจรผู้ร้ายในตำบล ราษฎรในท้องที่อยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีการโจรกรรม และการทำร้ายร่างกายกัน และจะมอบรางวัลให้ผู้ใหญ่บ้าน กรณีมีเหตุโจรกรรมและการทำร้ายร่างกายกัน แต่ผู้ใหญ่บ้านทำให้โจรผู้ร้ายไม่สามารถเอาทรัพย์ไปได้ หรือทำให้การกระทำนั้นไม่สำเร็จ โดยที่เจ้าของทรัพย์ไม่ได้รับอันตราย

รางวัลการปราบปรามโจรผู้ร้าย มอบให้กรณีเจ้าของท้องที่ที่เกิดเหตุ ที่ช่วยเหลือให้มีการจับตัวคนร้ายได้ และมอบให้ผู้ใหญ่บ้านกรณีมีคนร้ายเข้ามาอาศัย หลบซ่อนในท้องที่และผู้ใหญ่บ้านสามารถจับกุมตัวได้

รางวัลความสะอาดหรือจัดให้มีการพัฒนาภายในตำบลมอบให้แก่ กำนัน ในกรณีมีการสร้างถนน หรือบำรุง ซ่อมแซมสิ่งของต่างๆ ให้เป็นประโยชน์แก่ตำบล สาธารณประโยชน์ หรือทำให้ภายในชุมชนสะอาด ป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค

โดยกรมหลวงดำรงราชานุภาพขออนุญาตจ่ายเงินรางวัลให้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านผู้ที่มีความชอบใน ร.ศ. 123 เป็นจำนวน 3,569 บาท จึงทำให้เราทราบว่า ในอดีตมีการมอบเงินรางวัลเพื่อเป็นขวัญและกำลังให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ตรงตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ ซึ่งเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ล้วนทำให้ตำบลและหมู่บ้านที่กำนันและผู้ใหญ่บ้านดูแลได้รับการพัฒนา มีการป้องกันเหตุร้าย สร้างความสงบเรียบร้อยในชุมชน ตลอดจนจับกุมผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นที่มาและตัวอย่าง ให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านในปัจจุบันดำเนินการตามรอย เพื่ออำนวยความเป็นธรรมและดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้แก่ราษฎร สร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีให้เกิดขึ้นในตําบล หมู่บ้าน มุ่งปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจของกระทรวงมหาดไทยในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่ประชาชนสืบไป (ที่มา : https://kamnanphuyaibaan.com)

ภาพ : ตำรวจทางหลวง/อินเทอร์เน็ต/กรมการปกครอง

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 397 วันที่ 15-21 กันยายน 2566

หน้า 2-3

      โลกของ “กำนัน”

กรรมดียิ่งที่ต้องทำเพื่อลูกบ้าน

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๓๙๗ วันที่ ๑๕-๒๑ กันยายน ๒๕๖๖

https://book.bangkok-today.com/books/rknm/

(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

 

Facebook Comments

Related post