Digiqole ad

กรมสรรพสามิต ยกระดับการปราบปรามเชิงรุก ด้วยการใช้เทคโนโลยี ยอดปราบปรามพุ่ง 21,074 คดี

 กรมสรรพสามิต ยกระดับการปราบปรามเชิงรุก ด้วยการใช้เทคโนโลยี ยอดปราบปรามพุ่ง 21,074 คดี
Social sharing

Digiqole ad

กรมสรรพสามิตยกระดับการปราบปรามเชิงรุก ด้วยการใช้เทคโนโลยี ศูนย์ปฏิบัติการออนไลน์ และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ส่งผลจำนวนคดีปราบปรามพุ่งสูงถึง 21,074 คดี สูงกว่าเดิม 9.08% และค่าปรับนำส่งคลังเพิ่มขึ้น 27.73%

ดร. นิตยา โสรีกุล รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวถึงการปฏิบัติงานด้านการปราบปรามของกรมสรรพสามิตว่า มีภารกิจหลักในการปราบปรามผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ 2560 รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งในปัจจุบันกรมสรรพสามิตได้ยกระดับและเร่งรัดงานด้านการปราบปรามเชิงรุก โดยการเปิดศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์ (Excise Online Suppression Center) ซึ่งทำให้ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา จำนวนคดีปราบปรามสินค้าผิดกฎหมายของกรมสรรพสามิต เป็นจำนวน 21,074 คดี เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 9.08 มีเงินส่งคลังจำนวน 263.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.73 และมีการปราบปรามคดีคุณภาพจำนวน 578 คดี เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.71 โดยการก่อตั้งศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์ของกรมสรรพสามิตเกิดขึ้น เนื่องจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อการกระทำผิดในรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางช่องทางออนไลน์ที่พฤติกรรมการใช้จ่ายและบริโภคของประชาชนไทยได้เปลี่ยนไปบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ผู้กระทำความผิดกฎหมายสรรพสามิตได้เปลี่ยนช่องทางการกระทำผิดมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน กรมสรรพสามิตจึงยกระดับและเร่งรัดงานด้านการปราบปรามสินค้ามิชอบด้วยกฎหมายผ่านศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์ อีกทั้งยังมีการใช้ศูนย์ออนไลน์นี้สืบค้น ขยายผล จนนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดได้อีกเป็นจำนวนมาก

ดร. นิตยา โสรีกุล กล่าวว่า นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังได้ยกระดับงานปราบปราม
โดยการบูรณาการความร่วมมือการปฏิบัติงานด้านการปราบปรามกับหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอก โดยได้ลงนาม MOU กับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมการปกครอง กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นต้น ทำให้สามารถจับสินค้ามิชอบด้วยกฎหมายได้หลายคดีสำคัญ เช่น คดีจับน้ำมันดีเซลมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 200,000 ลิตร มูลค่าของกลาง 5,988,000 บาท คิดเป็นประมาณการค่าภาษี 1,088,000 บาท และประมาณการค่าปรับ 5,440,000 บาท ซึ่งเป็นผลจากการบูรณาการกับ ศรชล. และคดีจับบุหรี่มิชอบด้วยกฎหมาย ที่ซุกซ่อนในกล่องพัสดุที่ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพ (ศป.EMS) เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 49,322 ซอง มูลค่าภาษี 3,097,422 บาท มูลค่าสินค้า 4,749,708.60 บาท เปรียบเทียบปรับ 46,461,324 บาท เมื่อวันที่ 29 ต่อเนื่องถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2567

“ส่วนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงานด้านปราบปรามนั้น กรมสรรพสามิตได้สร้างระบบสืบค้นและติดตามให้กับเจ้าหน้าที่ปราบปรามทั่วประเทศ เพื่อเป็นการสนับสนุนและแบ่งปันข้อมูลด้านการปราบปรามระหว่างกัน การใช้เทคโนโลยี Mobile Lab เครื่องตรวจวิเคราะห์น้ำมัน และระบบติดตาม GPS และการใช้เทคโนโลยีเครื่อง X-Ray เคลื่อนที่ ซึ่งจากการนำเทคโนโลยีข้างต้นมาใช้ทำให้สามารถจับสินค้าบุหรี่ซิกาแรตที่มีการลักลอบนำเข้า จำนวน 480,085 ซอง และสุราอีกจำนวน 412.18 ลิตร ประมาณการค่าปรับ 443.77 ล้านบาท ในช่วงตุลาคม 2566 – พฤษภาคม 2567” ดร. นิตยา กล่าว

ดร. นิตยา กล่าวว่า กรมสรรพสามิตได้มีการดำเนินงานในเชิงรุก มีศูนย์ปราบปรามออนไลน์ อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ และที่สำคัญคือมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ตามนโยบายของ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ที่ให้ความสำคัญและต้องการให้เกิดประสิทธิภาพในปราบปรามสูงสุด เพื่อจับกุมขบวนการผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าปลอมหลุดลอด เนื่องจากสินค้าเหล่านี้ส่งผลต่อความปลอดภัยในด้านสุขภาพของพี่น้องประชาชน อีกทั้งสร้างความเสียหายต่อผู้ประกอบการที่เสียภาษี
โดยสุจริต และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

หากประชาชนท่านใดทราบเบาะแสหรือพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต สามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสายด่วน 1713 หรือตรวจสอบและสแกน Qr Code ที่แสดงบนแสตมป์สรรพสามิต เพื่อแจ้งเบาะแสได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรืออีเมล์ excise_hotline@excise.go.th

Facebook Comments


Social sharing

Related post